24 พ.ย. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 จุดเริ่มต้นของการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนที่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ขึ้น โรงเรียนหลวงก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในพระนครและตามมณฑลต่าง ๆ เพื่อสนองตอบกับนโยบายปฏิรูปประเทศที่ต้องการให้ประชาชนมีความรู้อ่านออกเขียนได้
กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนหลวงได้เพิ่มมากขึ้นจนเข้าไปอยู่ในตำบลและอำเภอต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงโรงเรียนได้โดยง่าย ประกอบกับระบบราชการสมัยใหม่ที่ใช้การสื่อสารผ่านตัวหนังสือ ทำให้ทักษะการอ่านและเขียนเป็นทักษะสำคัญของประชาชน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กระทรวงธรรมการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 ขึ้นเพื่อบังคับให้คนไทยทุกคนต้องเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนกว่าจะอ่านออกเขียนได้
ในขณะนั้นโรงเรียนแบ่งออกเป็นสามประเภทได้แก่ โรงเรียนหลวง เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นและใช้งบประมาณกระทรวงธรรมการในการดำเนินกิจการ โรงเรียนประชาบาล เป็นโรงเรียนที่ท้องถิ่นตั้งขึ้นโดยใช้ทุนทรัพย์ของท้องถิ่นในการดำเนินกิจการแต่อยู่ในความดูแลของกระทรวงธรรมการ และโรงเรียนราษฎร์ เป็นโรงเรียนที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.2464 กำหนดให้การศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนประชาบาลจะต้องไม่เรียกค่าสอนจากนักเรียน
พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนประถมในปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง จนกว่าจะอายุครบ 14 ปี หรือจนกว่าจะอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ยกเว้นกรณีที่นักเรียนมีความบกพร่องในการเรียนรู้ ก็จะอนุโลมให้เลิกเรียนได้ก่อน อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถสอนหนังสือลูกตัวเองได้โดยไม่ต้องส่งเข้าโรงเรียนหากได้รับการยกเว้นจากกระทรวง แต่นักเรียนจะต้องเข้ารับการสอบไล่ปีละครั้งเพื่อวัดความรู้ที่เล่าเรียนมา
เพื่อเป็นการบังคับให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานของตนเข้ารับการศึกษา รัฐบาลได้ใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ปกครองที่ไม่ส่งลูกหลานเข้าเรียน หากทำผิดครั้งแรก ผู้ปกครองจะถูกทำทัณฑ์บนโดยให้สัญญาว่าจะส่งเด็กเข้ารับการศึกษา แต่หากผิดทัณฑ์บนจะถูกปรับเงินไม่เกิน 50 บาท หากยังทำผิดซ้ำ ต้องระวางโทษจำคุก 50 วัน หรือปรับเป็นเงิน 100 บาท หรือทั้งจำและปรับ
จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่รัฐบาลใช้ลงโทษผู้ปกครองมีความผ่อนปรน หากเป็นการทำผิดครั้งแรกจะเพียงแค่ทำทัณฑ์บนผู้ปกครองเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและตัดสินใจส่งเด็กเข้าเรียนหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งเงินค่าปรับในราคาสูงเพื่อไม่ให้ผู้ปกครองทำผิดซ้ำอีก
อย่างไรก็ตาม แผนการศึกษาภาคบังคับถูกคัดค้านว่าอาจทำให้เด็กไม่ได้รับการฝึกฝนวิชาชีพของวงศ์ตระกูลทั้งด้านงานช่างหรือการเกษตร ด้วยเหตุนี้กระทรวงธรรมการจึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจัดหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่กำหนดให้การศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 เป็นการศึกษาวิชาสามัญ ส่วนการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 เป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม
ทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกับพระราชบัญญัติประถมศึกษา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้และมีความรู้พื้นฐานด้านอื่น ๆ เพื่อประกอบอาชีพในภายภาคหน้า
จากกฎหมายฉบับนี้เอง ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติมาจนถึงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2545 มีการจัดอบรมการศึกษาชั้นประถมศึกษา 6 ปี (ป.1-ป.6) ชั้นมัธยมศึกษาต้อนต้น 3 ปี และตอนปลาย 3 ปี หรือระบบ 6-3-3
และมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 บังคับให้มีการศึกษาเก้าปี โดยมีแนวทางเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติประถมศึกษาในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันถือเป็นต้นแบบการศึกษาภาคบังคับของสยามประเทศในอดีต และประเทศไทยในปัจจุบัน
โฆษณา