23 พ.ย. 2023 เวลา 09:53 • ประวัติศาสตร์

รู้จัก ‘5 สตรีผู้ทรงอิทธิพล’ ในประวัติศาสตร์จีน

“หากยังไม่ออกเรือนเชื่อฟังตามบิดา ออกเรือนแล้วเชื่อฟังสามี สามีถึงแก่กรรมแล้วจึงเชื่อฟังบุตรชาย” ส่วนหนึ่งของหลักคุณธรรม “สามเชื่อฟัง สี่จรรยา” (三从四德) ตามแนวคิดของปราชญ์ขงจื๊อของจีน สะท้อนถึงค่านิยมที่มีต่อสตรีที่ดีในสมัยจีนโบราณ ซึ่งทำให้บทบาทของพวกเธอมักถูกจำกัดไว้เพียงแค่ในเหย้าเรือน ทำหน้าที่ของลูกสาวและภรรยาที่ดี แน่นอนว่าการเข้าร่วมในการเมืองย่อมเป็นสิทธิที่สงวนไว้เฉพาะบุรุษเท่านั้น
แต่ทว่าในสายธารอันยาวนานของประวัติศาสตร์จีน ก็มีบันทึกหรือเรื่องราวเล่าขานถึงบรรดาสตรีที่ทรงอิทธิพล รวมถึงเข้ามามีบทบาททางการเมือง หรือสร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อชาติบ้านเมือง ทั้งด้านการปกครอง วัฒนธรรม สังคม ศาสนา ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและคู่ควรแก่การจารึกไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง วันนี้ เราจึงนำเรื่องราวของสตรีจีน 5 คนที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์จีนมาแชร์ให้ผู้อ่านได้ฟังกัน
  • จักรพรรดินีบูเช็กเทียน (Empress Wu Zetian) 武则天
หากพูดถึงสตรีผู้ทรงอิทธิพลแล้วไม่กล่าวถึงหญิงผู้นี้ก็คงจะไม่ได้ ‘พระนางบูเช็กเทียน’ เป็นจักรพรรดิหญิงองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน โดยทรงเป็นหนึ่งในนางสนมของจักรพรรดิถังไท่จงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ 14 ปี ก่อนที่จะขึ้นเป็นพระมเหสีของจักรพรรดิถังเกาจง และหลังจากที่พระสวามีพระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงก่อตั้งและปกครองบ้านเมืองในฐานะจักรพรรดินีคนแรกแห่งราชวงศ์อู๋โจว (ปี 690-705)
ภายใต้การครองราชย์ 40 ปีของบูเช็กเทียน จีนขยายอำนาจและทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น พร้อมกับมีการจัดการปัญหาทุจริตภายใน ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกในช่วงเวลานั้น อีกทั้งศิลปะและวัฒนธรรมจีนยังได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ คุณูปการของพระองค์นั้นทำให้ราชวงศ์ถังยังคงเจริญรุ่งเรืองมาอีกหลายชั่วอายุคน
นอกจากนี้ พระนางบูเช็กเทียนยังทำให้พุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยของพระองค์ โดยยกให้พุทธศาสนาอยู่เหนือลัทธิเต๋า พร้อมกับสร้างวัดพุทธและประติมากรรมถ้ำสุดแสนวิจิตร เช่น วัดถ้ำผาหลงเหมิน ซึ่งยังเป็นโบราณสถานอันล้ำค่าของจีนมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเชื่อว่าหนึ่งในพระพุทธรูปภายในถ้ำถูกแกะสลักตามใบหน้าของพระนาง
  • ซูสีไทเฮา (Empress Cixi) 慈禧太后
อีกหนึ่งหญิงแกร่งทรงอิทธิพลที่คนหลายศตวรรษรู้จักดี ‘ซูสีไทเฮา’ หรือพระพันปีฉือสี่ พระองค์เป็นพระมเหสีของจักรพรรดิเสียนเฟิงแห่งราชวงศ์ชิง และมีบทบาทเหนือจักรวรรดิจีนนานเกือบครึ่งศตวรรษ และการรักษาอำนาจของราชวงศ์แมนจู (ราชวงศ์ชิง) ของพระองค์ ทำให้พระองค์กลายเป็นหนึ่งในสตรีทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
หลังผันตัวจากนางสนมสู่ผู้กุมอำนาจบัลลังก์ของราชวงศ์ชิงตอนปลาย พระองค์ต้องเผชิญกับการรุกรานจากต่างประเทศ และยังเจอกับความวุ่นวายภายในประเทศ ถึงแม้พระองค์จะไม่ได้หยุดยั้งปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงในราชวงศ์ รวมถึงปฏิเสธรูปแบบการปกครองแบบตะวันตก แต่พระองค์ก็ได้สนับสนุนการปฏิรูปทางเทคโนโลยีและการปฏิรูปกองทัพ รวมถึงส่งเสริมขบวนการเคลื่อนไหวให้ชาติเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการเปิดประตูไปสู่ความทันสมัยของจีน
แม้หลายคนจะกล่าวว่าช่วงเวลาที่ซูสีไทเฮาปกครองจีนนั้นเป็นช่วงที่ราชวงศ์ชิงอ่อนแอที่สุด นักประวัติศาสตร์ทั้งในจีนและต่างประเทศต่างเห็นว่าพระองค์คือคนที่ทำให้ราชวงศ์ชิงล่มสลาย ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยกให้พระองค์เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สามารถบริหารรัฐบาลจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพนานถึง 47 ปี ตั้งแต่ปี 1861 จวบจนปี 1908 ที่พระองค์สิ้นพระชนม์
  • ฮวามู่หลาน (Hua Mulan) 花木兰
ต่อกันที่หญิงจีนผู้โด่งดังไม่แพ้สองคนก่อนหน้า ‘มู่หลาน’ วีรสตรีพื้นบ้านในสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ปี 420 - 589) โดยตามตำนานเล่าว่ามู่หลานเป็นสตรีที่ปลอมตัวเป็นชายเพื่อไปร่วมทำสงครามแทนพ่อผู้แก่ชรา และเธอได้กลายเป็นนักรบหญิงที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญนานกว่า 12 ปี นำชัยชนะมาสู่บ้านเมืองหลายต่อหลายครั้ง
ชื่อของมู่หลานปรากฏอยู่ในหนังสือจีนชื่อว่า ร้อยหญิงงาม (One Hundred Beauties - 百美图) ประพันธ์โดยเหยียนซีหยวน ซึ่งรวบรวมเรื่องราวและประวัติของเหล่าหญิงงามและผู้โดดเด่นทั้งจากประวัติศาสตร์จีนและจากนิทานพื้นบ้านสมัยจีนโบราณ เช่น พระนางบูเช็กเทียน พระสนมหยางกุ้ยเฟย และไซซี เป็นต้น
แต่เนื่องจากชื่อของมู่หลานไม่ปรากฏในชีวประวัติของสตรีผู้เป็นแบบอย่างในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ (Biographies of Exemplary Women) ทำให้เกิดการถกเถียงว่านักรบหญิงผู้นี้เคยมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์จีนหรือไม่ ทว่าชื่อของเธอกลับมีอิทธิพลอย่างมากตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน
เรื่องราวของมู่หลานมักถูกหยิบยกไปใช้ในวรรณกรรมจีน และยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง อย่างละครดังที่คนไทยคุ้นหูเรื่อง มู่หลาน...จอมทัพหญิงกู้แผ่นดิน (Legend of Mulan) ที่ออกฉายในปี 2013 รวมถึงนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชวงศ์สุยและถัง (Romance of Sui and Tang) ที่แต่งขึ้นในปี 1675
  • จักรพรรดินีหลู่ (Empress Lu Zhi) 吕后
ต่อกันที่ ‘จักรพรรดินีหลู่’ พระมเหสีของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ หรือ หลิวปัง ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น (ช่วง 202–195 ปีก่อนคริสตกาล) โดยหลังจากที่จักรพรรดิเกาจู่สิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นพระราชชนนีพันปีหลวงในตำแหน่ง ‘ไท่โฮ่ว’ พร้อมเข้าควบคุมราชสำนักและสนับสนุนลัทธิเต๋าอย่างเต็มที่ โดยทรงเป็นผู้วางรากฐานให้กับ "รัฐศาสตร์เหวินจิ่ง" (The Rule of Wen and Jing) อันเป็นวิถีการปกครองที่ลดภาษี ลดกำลังพลและลดภาระประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงถัดมา ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองของประวัติศาสตร์จีน
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ จักรพรรดินีหลู่ยังทรงรักษานโยบายที่ดีหลายประการในช่วงที่พระสวามียังมีชีวิตอยู่ เช่น เก็บภาษีในระดับต่ำเพื่อช่วยให้ชาวบ้านฟื้นตัวจากสงคราม สนับสนุนให้เชื้อพระวงศ์ใช้ชีวิตอย่างสมถะ มุมานะทำงานหนัก และสร้างสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยในแถบชายแดน สิ่งเหล่านี้ช่วยวางรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองในการปกครองของจักรพรรดิเหวินและจักรพรรดิจิ่ง ซึ่งเป็นแนวทางการปกครองถูกเรียกรวมกันว่า "รัฐศาสตร์เหวินจิ่ง" ในเวลาต่อมา
2
นอกจากนี้ พระองค์ยังปฏิบัติตามคำแนะนำของพระสวามีเกี่ยวกับการคัดสรรบุคลากรในศาลยุติธรรม ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างมั่นคงของราชวงศ์ฮั่น อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ไม่น้อยว่าพระองค์มีความกระหายอำนาจ และกระทำการอย่างโหดร้ายต่อผู้ที่เป็นภัยต่อการปกครองของพระองค์
  • มู่กุ้ยอิง (Mu Guiying) 穆桂英
ปิดท้ายกันที่สตรีจีนผู้กล้าหาญอย่าง ‘มู่กุ้ยอิง’ (Mu Guiying) วีรสตรีในตำนานของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ปี 1127-1279) และเป็นบุคคลสำคัญในตำนานขุนศึกตระกูลหยาง ผู้เป็นภรรยาของหยางจงเป่า แม้จะมีการตั้งคำถามว่ามู่กุ้ยอิงนั้นมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีนหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของเธอนั้นทรงอิทธิพลมากจนเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสตรีจีนที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ซื่อสัตย์ และรอบรู้
มู่กุ้ยอิงยังโดดเด่นด้านสตรีนิยมอย่างมาก แทนที่จะอยู่แต่ในเรือนเพื่อดูแลลูกหลานและทำงานบ้านตามค่านิยมของคนโบราณ เธอกลับร่วมสู้รบหลายครั้งเพื่อปกป้องครอบครัวและประเทศชาติจากชนเผ่าผู้รุกราน
ในบรรดาการสู้รบทั้งหมดของมู่กุ้ยอิง การสู้รบที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเธออายุเพียง 19 ปี ในศึกค่ายกลประตูสวรรค์ (Heavenly-Gate Formation Battle) อันเป็นยุทธการที่สร้างความเสียหายให้กับกองทัพเหลียวอย่างมาก หลังจากได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ นักรบหญิงผู้มีนามมว่ามู่กุ้ยอิง ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแม่ทัพหญิงที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์จีน
เรื่องราวของขุนพลหญิงผู้นี้มักปรากฏให้เห็นทั้งในงิ้ว ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ เช่น ละครจีนเรื่อง ‘ยอดขุนพลตระกูลหยาง’ (The Young Warriors) ที่ฉายในปี 2006 หรือ เรื่อง ‘แม่ทัพมู่รับคำสั่ง’ (Lady General Mu Takes Command) ที่ฉายในปี 2012 เป็นต้น
โฆษณา