25 พ.ย. 2023 เวลา 15:36 • ประวัติศาสตร์

เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต

ใกล้ๆกันกับโรม้นฟอรัมนั้นมีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่ใครก็ไม่พลาด เพราะเป็นกรุของเก่าที่เล่าประวัติศาสตร์กรุงโรมได้เป็นคุ้งเป็นแคว ชื่อพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน (Capitoline) ซึ่งฝรั่งบางคนก็เรียกคาปิโตไลน์ ก็แล้วแต่เขา อันที่จริงมันอยู่ติดกับโรมันฟอรัมเลยด้วยซ้ำ แต่ทางเข้านั้นจำเป็นต้องไปซะไกล ซึ่งก็ดีแล้วเพราะมันทำให้เขาเจอกับการเข้าไปสู่ (approach) ที่ทรงเสน่ห์ คือการขึ้นไปบนเนินคาปิโตลิเน ซึ่งมีทางขึ้นเล็กๆน่ารักเดินขึ้นไม่ยาก (เขาว่ามาอย่างนี้นะ)
แต่ทว่าพอเดินไปก็หาทางไม่เจอแล้ว มันอยู่ซอยไหนหนอ พอดีเจอซอยนึงมีทางขึ้นไปบนเนิน มีป้อมตำรวจอยู่ใกล้ๆก็เลยไปถามดู แต่ต้องเข้าใจนะว่าป้อมตรงนี้น่ะมันตั้งอยู่บนเนินของเนินอีกที โผล่หน้าไปคุยโดยตรงไม่ได้ต้องใช้วิธีเขียนคำว่า Capitoline ลงในสมุดแล้วก็ยื่นมือไปที่ช่องหน้าต่างด้านบน จนเกือบจะสุดเอื้อม
ได้ผลจริงๆแหละ ตำรวจหญิงสองนางอยู่ในนั้นตกกะใจที่มีมือแม่นาคโผล่มาถึงกรุงโรม พอตั้งสติมองมาเจอเราเธอก็หัวเราะแล้วถามว่าจะมาหาอะไร พออ่านที่สมุดก็บอกว่า โอ้ว คาปิ๊โตลี้นี่ เองเหรอ แหมเวลาสองนางนี้พูดชื่อ Capitoline เป็นภาษาอิตาเลียนเร็วๆมันฟังไพเราะกว่าที่เราพูดมาก โดยเฉพาะเสียงสระE เยอะๆฟังเป็นตะลิ๊ดติ๊ดตี่อะไรแบบเนี้ย
อีกไม่ไกลเลย หรือว่าอีกแบบก็คือ ใกล้กว่าที่คิดไว้มาก ข้าพเจ้าพบกับจตุรัสที่มีเหล่าอาคารล้อมกรอบอยู่ ซึ่งนี่ไม่ใช่ธรรมดานะเพราะการวางผังแบบนี้เป็นงานไมเคิลแองเจโล และจุดเด่นของที่นี่คือประติมากรรมพระบรมรูปทรงม้าของจักรพรรดิโรมันซึ่งขนาดใหญ่กว่าคนจริงบนหลังม้าที่ยกขาหน้าทำท่าจะย่องเหยียบ พระองค์กางแขนขวาออกไปข้างหน้า ราวกับว่ากำลังจะทำท่าห้ามหรือทำท่าทักทาย (คงเป็นอย่างหลังแหละ)
รูปหล่อทำจากบรอนซ์องค์นี้คือจักรพรรดิโรมันชื่อว่ามาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius) ซึ่งเป็นของเก่าแก่ที่ถูกขุดพบและนำมาติดตั้งที่นี้หลังจากที่คาปิโตลิเนสร้างเสร็จแล้ว พูดอีกอย่างก็คือพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่นี่แต่แรก แต่ทรงถูกย้ายจากแหล่งเดิมมาติดตั้งไว้ เป็นการสร้างบริบทในการเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ทำให้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน อีกทั้งยังส่งเสริมสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดี
ความยิ่งใหญ่พิเศษที่น่าชมก็คือพระองค์มีขนาดสองเท่าครึ่งของเสกลคนจริง เวลาจะสร้างต้องแยกหล่อเป็นส่วนๆ แล้วนำมาประกอบกัน และที่สำคัญก็คือเดิมมีการปิดทองทั้งองค์ แต่ปัจจุบันนี้เลือนไปมากแล้ว ถ้าเราได้เห็นสภาพที่ยังเพิ่งสร้างเสร็จคงเป็นบุญตาน่าจับใจ
ไมเคิลแองเจโล สถาปนิกผู้ออกแบบเป็นคนคัดเลือกให้นำรูปจักรพรรดิมาประดิษฐานไว้ตรงนี้เพื่อเสริมความแกรนด์ของตัวสถาปัตยกรรม แต่ที่คุณเห็นตรงหน้านั้นคือภาพจำลอง ถ้าอยากเห็นของจริงก็ต้องเข้าไปดูข้างในซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้โชว์ไว้ให้เห็น
พวกเรามองอนุสาวรีย์แล้วอาจคิดว่าพระองค์คงเป็นนักรบ เป็นวีรบุรุษคนสำคัญในสงครามแน่เลย แต่อันที่จริงแล้วแม้ว่าท่านจักรพรรดิจะเคยทำสงครามกับพวกบาร์บาเลียนมาก่อน แต่พระองค์กลับมีชื่อในผลงานอีกด้านมากกว่า ได้แก่งานวรรณกรรม หนังสือที่พระองค์เขียนมีสามเล่มชื่อว่า The meditations แต่อย่าแปลตรงตัวว่าสมาธิเชียวนะ เพราะเนื้อหาหลักมีมากกว่านั้น
หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลกและมีคนนิยมอ่านกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นเล่มหนึ่งที่ประธานาธิบดีบิลคลินตันยกให้เป็นหนังสือในดวงใจอีกด้วย
ใครบางคงอาจคิดว่าคงจะเป็นนิยายหรือมหากาพย์โรมัน ขอบอกว่ามิใช่และก็ไม่ได้ใกล้เคียง แต่นี่เป็นคู่มือการใช้ชีวิต ที่สุดแสนจะฮิตกันในยุคปัจจุบัน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คือหนังสือที่พวกไลฟ์โค้ชชอบเขียนนั่นเอง อันที่จริงพระองค์ไม่ได้คิดจะเขียนให้ใครที่ไหนอ่านหรอก แต่เป็นการบันทึกข้อคิดข้อสังเกตต่อชีวิตของพระองค์เองในช่วงเวลาที่ทำศึกห่างไกลบ้านเมืองที่เคยอยู่ ท่านคงจะมีความเหงาและมีอะไรให้ครุ่นคิดในยามว่างเป็นครั้งคราว กลั่นกรองออกมาเป็นวรรณกรรมฉบับนี้
รูปสลักหิน จักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius)
เนื้อหาหลักใน The meditations กล่าวถึงสรรพสิ่งในโลกและจักรวาล คุณธรรม คุณค่าของการเป็นมนุษย์และการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นวิถีให้เราได้เห็นคุณค่าของชีวิตและธรรมชาติ ความงดงามและความหมายในสรรพสิ่งต่างๆก่อนที่จะตายจากไปตามธรรมดาของความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจัง และภาพมายาของจักรวาลแห่งนี้ (คล้ายๆกับอะไรที่เราคุ้นเคยไหม?)
ตัวอย่างของแนวคิดดีๆที่บันทึกไว้เช่น คนเราควรอยู่กับโลกปัจจุบัน ปล่อยวางจากสิ่งต่างๆซึ่งเก็บมาทิ่มแทงใจเรา การยอมรับกับความตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ การจัดการอารมณ์ที่เกิดจากปัญหาส่วนตัว การทรยศ ความตายของคนรักและอื่นๆ การมองไปข้างหน้าโดยไม่อาวรณ์กับอดีตที่เสียไป การแต่พะวงกับถ้อยคำคนอื่นที่มาตัดสินตัวเรา รวมถึงความพยายามโดยไม่ใส่ใจกับผลลัพธ์ (นี้ก็คุ้นๆอยู่เหมือนกัน)
รวมถึงการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการแปลงความกลัวให้เป็นความระแวดระวัง นำความเจ็บปวดมาเป็นพลัง และนำความผิดพลาดมาเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ การเปลี่ยนความต้องการมาเป็นการลงมือปฏิบัติ
โอ๊ย.....ช่างเป็นข้อคิดดีๆทั้งนั้น และมันยังคงทันสมัย จนฉันต้องออกอุทาน
meditation ฉบับแปล มีชื่อว่า เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต
สรุปแล้วนี่คือหนังสือที่สอนเราว่าความสุขเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่าจะเป็นหรือไม่เป็น จะเจ็บปวดหรือยอมรับขึ้นกับการมองชีวิตและปรับจิตใจของตน
อ้อ ใครที่สนใจ The meditation ไม่ต้องไปขุดค้นที่ไหนนะ ตอนนี้เขามีฉบับแปลเป็นไทยแล้ว ชื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต (ไม่ได้ชื่อสมาธินะ อย่าซื้อผิดเล่ม)
ไปหามาอ่าน จะได้พบว่าชีวิตมีคุณค่ากว่าที่คิด
เอาละ คราวนี้ก็เล่าถึงตัวพิพิธภัณฑ์เสียที
(ลืมไปเลย ว่าเรากำลังอยู่ตรงไหน พาผู้อ่านออกไปนอกลู่อีกแระ)
พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน (อันที่จริงอ่านว่าคาปิโตลินีต่างหาก แต่ทำไมคนไทยถึงชอบเขียนชื่อแบบนี้นะ) มีความสำคัญคือเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะแห่งแรกของโลก สร้างโดยดำริของพระสันตปาปาพระองค์หนึ่ง ชื่อท่านซิกตัสที่ 4 (Sixtus IV) นำของสะสมมาไว้ที่นี่จนมีวัตถุโบร่ำโบราณมารวมอยู่ด้วยกันมหาศาล และข้างในนั้นยังคงสภาพการจัดวางตามรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยุคศตวรรษที่ 17 อยู่ อย่าแปลกใจถ้าเข้าไปดูแล้วพบว่าการจัดแสดงดูเก่าไม่ทันสมัย
แต่นั่นไม่เป็นไรเพราะโบราณวัตถุนั้นสำคัญกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประติมากรรมโรมันซึ่งลอกแบบมาจากกรีก เรียกว่าโรมัน ก๊อปปี้ (roman copy) มีอยู่เยอะมาก ซึ่งเราก็จะได้เจออีกเยอะในอีกหลายพิพิธภัณฑ์ที่โรม
ใครที่ชอบรูปสลักเทพเจ้าเปลือยกายขอบอกว่าสะใจ แต่ก็คงจะเอียนไปหลายปีเลยทีเดียวเพราะมันช่างเยอะจนล้นตาล้นใจ และสิ่งที่แน่นอนก็คือ หากจะชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้สนุกเราก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์ของโรมันพอสมควร และพวกคุณก็มาถูกทางแล้ว เพราะผมนี่แหละจะแนะนำประวัติศาสตร์สำคัญและเกร็ดเล็กๆน้อยๆของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกประกอบกับวัตถุต่างๆให้ฟังกันนับตั้งแต่นี้ไป ขอเชิญมาชม ณ บัดนี้
อ้อ ยังไม่ใช่สิ เดี๋ยวไปเล่าต่อตอนหน้าดีกว่า จะได้เข้าพิพิธภัณฑ์ซะที

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา