25 พ.ย. 2023 เวลา 17:14 • ประวัติศาสตร์

พระวิศวกรรม ที่พึ่งทางใจของชาวเด็กช่าง

พระวิศวกรรม หรือเรียกได้อีกหลายชื่อว่า พระวิษณุกรรม พระวิสสุกรรม พระเวสสุกรรม หรือพระเพชรฉลูกรรม เป็นเทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่างๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้แก่มนุษย์สืบมา
หลายคงอาจจะสับสนระหว่าง พระวิษณุกรรม กับ พระวิษณุ ซึ่งพระวิษณุเป็นชื่อของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ "พระนารายณ์" เป็นเทพผู้ปกปักรักษา อวตารลงมาเป็นปางต่างๆ เพื่อปราบเหล่าร้ายและพิทักษ์ความสงบสุขของโลกมนุษย์
ช่างไทยทุกแขนงเคารพนับถือพระวิษณุกรรมในฐานะบรมครูแห่งงานช่าง มีรูปเคารพประดิษฐานตามสถานศึกษาที่เกี่ยวกับงานช่างและวิศวกรรมโดยตรงทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเป็นตราสัญลักษณ์ของสภาวิศวกร
ตำนานของพระวิศวกรรมมีหลายเรื่องราว โดยตามตำนานพุทธศาสนาเล่ากันว่าท่านเป็นสถาปนิกและวิศวกรด้านโยธา ผู้สร้างอาศรมให้กับพระโพธิสัตว์ เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ หรือบ้างก็ว่าพระวิศวกรรมเป็นนายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ทำหน้าที่สร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นทั้งบนสวรรค์และในโลกมนุษย์ อีกทั้งเป็นผู้นำวิชางานช่างลงมาสอนมนุษย์
แต่ตามตำนานฮินดูนั้น พระวิศวกรรมก็ได้สร้างผลงานเด่นๆ ไว้มากมาย เล่ากันว่าครั้งหนึ่งพระวิศวกรรมได้ไปขูดผิวพระอาทิตย์เทพแห่งแสงสว่าง ผู้เป็นสามีของนางสัญชญาบุตรสาวของพระวิศวกรรม เนื่องจากพระอาทิตย์มีพลังร้อนแรงที่ทำให้ไม่ค่อยมีใครเข้าใกล้ได้ แต่พระวิศวกรรมสามารถขูดออกมา และไปรังสรรค์เป็นอาวุธให้กับเทพองค์สำคัญได้แก่ ตรีศูลของพระอิศวร, จักราวุธของพระนารายณ์, วชิราวุธของพระอินทร์, คทาวุธของท้าวเวรกุมาร และโตมราวุธของขันทกุมาร
ตำนานเรื่องเล่าความเป็นมาของพระวิศวกรรมย่อมแตกต่างกันออกไป โดยเรื่องที่เรายกมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตำนานพระวิศวกรรมเท่านั้น
ในด้านรูปเคารพของพระวิศวกรรมตามตำนานฮินดูกล่าวว่าพระวิศวกรรม มีพระเนตร 3 ดวง มีกายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า พระหัตถ์ถือคทา แต่ในไทยรูปเคารพพระวิศวกรรมจะทรงชฎา พระหัตถ์ถือจอบหรือผึ่ง และลูกดิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือในสายวิชาชีพงานช่าง
นอกจากนี้แล้วชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพฯ ยังมีชื่อของ "พระวิษณุกรรม" รวมอยู่ด้วย กล่าวคือ "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์
สำหรับวิธีการบูชาพระวิศวกรรมนั้นไทยได้รับอิทธิพลมาจากช่างชาวฮินดู โดยปกติจะประกอบพิธีบวงสรวงองค์พระวิศวกรรมเพื่อขอพรให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ซึ่งพิธีจะทำในวันที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ฤกษ์ภัทรบท และวันนี้เหล่าบรรดาช่างจะงดใช้เครื่องมือในสายงานทุกชนิด เพราะเชื่อกันว่าพระวิศวกรรมจะเข้ามาสถิตกับพวกเขา และดลบันดาลให้มีความคิดความอ่านที่ดี สามารถรังสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาได้
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา