2 ธ.ค. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

เปิดประวัติวันชาติไทย จากวันจักรี วันปฏิวัติ และ 5 ธันวามหาราช

ประวัติความเป็นมาของวันชาติ (National Day) ของไทยเรานั้น ตั้งแต่ที่สยามประเทศเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติโดยสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 5-6 ประเทศไทย (สยาม) ในขณะนั้นยังไม่มีวันชาติ โดยปกติแล้วทางรัฐบาลรวมถึงสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ จะเฉลิมฉลองวันสำคัญของชาติทั้งสามวันได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันฉัตรมงคล
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ยุคสมัยของพระองค์เป็นยุคของการสร้างความเป็นชาตินิยมและกรุยทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ประวัติความเป็นมาของวันชาติไทยที่ย้อนไปได้ไกลสุดก็จะเป็นช่วงนี้
พระบรมรูปบูรพกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีในปราสาทพระเทพบิดร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​ มีพระราชดำริที่จะพระราชทานโอกาสเตือนน้ำใจแก่ประชาชน ได้ระลึกถึงความเดิมว่า ราชอาณาจักรไทยได้กลับเป็นอิสรภาพขึ้นดังโบราณกาล ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช​ ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์​ และดำรงความเป็นอิสรภาพต่อมาด้วยพระบรมราโชบายแห่งสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าที่ได้สืบสนองพระองค์ ประกอบด้วยพระปรีชาญาณต่าง ๆ อันควรแก่สมัย ราชอาณาจักรไทยจึงดำรงความเป็นอิสรภาพสืบมา
ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้ง 5 รัชกาลในราชวงศ์จักรี ซึ่งเดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทไปประดิษฐานยังปราสาทพระเทพบิดร แล้วให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จกรีฑาทัพกลับพระนคร ทรงรับอัญเชิญเสด็จขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเนื่องในวันจักรี จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2462 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​ ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์นี้ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ ความตอนหนึ่งว่า
“บ่ายวันนี้ได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปที่ในปราสาทพระเทพบิดร ในเวลาที่เราไป ก็ยังมีข้าราชการและประชาชนอยู่มาก และได้ข่าวว่าตั้งแต่เช้ามีคนเข้าไปถวายบังคมพระบรมรูปเป็นอันมาก ทั้งได้เลยเข้าไปนมัสการพระแก้วมรกฎในอุโบสถด้วยก็มาก เจ้าพระยาธรรมาได้ขอแรงให้ข้าราชการผู้ใหญ่จัดของเลี้ยงไปตั้งเลี้ยงที่ศาลาในลานพระอุโบสถ... งานนี้นับว่าเป็นพระเกียรติยศงดงามดีมาก เพราะผู้คนไปอย่างแน่นหนา และได้ข่าวว่าห้างร้านและหนังสือพิมพ์จะปิดในวันพรุ่งนี้วัน ๑ แทนวันนี้เพื่อเปนการเคารพ เราได้ให้เรียกวันนี้ว่า วันจักรี”
ในปี พ.ศ. 2463 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีโทรเลข ลงวันที่ 2 กรกฎาคม แจ้งกระทรวงการต่างประเทศสยามว่า รัฐบาลสเปนขอทราบถึงวันชาติสยาม เพื่อจะลงไว้ในหนังสือทางการทูต และพระองค์เจ้าจรูญฯ ไม่ทราบจะตอบอย่างไรดี เพราะสถานทูตในกรุงปารีสเคยฉลองอยู่ 3 วัน คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นครองราชย์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงทูลถามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และหม่อมเจ้าธานีนิวัต ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนราชเลขาธิการ มีหนังสือตอบกลับมาว่า
" รัฐบาลสเปนขอทราบวันสำหรับชาติเพื่อไปรวบรวมทำบาญชีสำหรับใช้ราชการทูต ทรงเห็นว่า วันที่ว่านี้คงจะหมายถึง แนตชนัลเดย์ อย่างอังกฤษใช้ เอมไปร์เดย์ เป็นต้น ของเราน่าจะเป็นวันที่ ๖ เมษายน นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดเกล้าฯ ว่า ถูกแล้ว ควรบอกไป วันที่ ๖ เมษายน ซึ่งเป็นวันที่เราเรียกกันว่า "วันจักรี" (Chakri Day) "
ปัจจุบัน วันจักรี ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี ก็ยังคงยึดถือเป็นวันพระราชพิธีและรัฐพิธีถวายบังคมปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) และปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวันสำคัญของชาติและเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เช่นเดิม แต่ไม่ได้เป็นวันชาติเหมือนกับในสมัยรัชกาลที่ 6
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก่อการปฏิวัติ เปลี่ยนระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 พระยาพหลพลพยุหเสนา แกนนำคณะราษฎรฝ่ายทหารบกซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันชาติ" เพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองการปฏิวัติ เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศที่ยึดเอาวันปฏิวัติเป็นวันชาติ เช่น ฝรั่งเศส สาธารณรัฐจีน (บนเกาะไต้หวันในปัจจุบัน) มีดังนี้
" ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ย่อมถือว่า เป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี "
พิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (24 มิถุนายน พ.ศ. 2483)
วันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติ เริ่มมีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 เป็นปีแรก ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการออกประกาศรัฐนิยมฉบับแรก เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" พร้อมทั้งก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นที่ถนนราชดำเนินกลาง โดยอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย
วันชาติ 24 มิถุนายน จากที่เคยเอิกเกริก ก็ค่อยๆ ซบเซาลง นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 การสวรรคตของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 และการล่มสลายของคณะราษฎร วันชาติ 24 มิถุนายน ก็พลอยล่มสลายตามไปด้วย
หลังจากที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารตัวเองในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เกิดการฟื้นฟูบทบาทของราชสำนักครั้งใหญ่ หลังจากที่ถูกลดบทบาทลงตั้งแต่การปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 ประกอบกับมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวันชาติมาโดยตลอด
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาเสนอความเห็น ประกอบด้วย พล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ และกรรมการประกอบไปด้วย หลวงวิจิตรวาทการ (ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) นายสัญญา ธรรมศักดิ์ พระยาอนุมานราชธน เลขาธิการสำนักพระราชวัง ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการบริหารของนายกรัฐมนตรี
เรื่องวันชาติ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองตลอดช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2503 โดยมีการนำเสนอและให้ความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายบนหน้าหนังสือพิมพ์ และคณะกรรมการก็ได้รับความคิดเห็นต่าง ๆ นำไปพิจารณา จากรายข่าวของหนังสือพิมพ์ไทรายวันและสยามรัฐในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2503 ให้ข่าวว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เสนอให้วันชาติไทย ควรจะเป็นวันที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งราชวงศ์พระร่วง (สุโขทัย) ประกาศตัดสินพระทัยไม่ขึ้นกับอาณาจักรขอม
และจากบทความของ สามน กฤษณะ ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ซึ่งเป็นบทความที่ได้เขียนขึ้นภายหลังจากคณะกรรมการฯ มีมติเรื่องวันชาติออกมาแล้วว่า ได้มีการเสนอวันอื่น ๆ อีกเช่น วันพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ วันพระเจ้าตากสินกู้อิสรภาพ และที่สำคัญคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ได้เสนอให้เป็น ‘วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน’ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เสนอไว้ก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาวันชาติก่อนแล้ว
ในท้ายที่สุด จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องวันชาติในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ก็สรุปผลว่า ที่ประชุมมีมติให้ ‘วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ’ ซึ่งน่าสนใจว่า ตามทัศนะของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มติของคณะกรรมการฯ “นับได้ว่าเป็นมติที่ผิดไปจากความคาดหมายของวงการทั่วไป” แต่ก็เห็นว่า “น่าพิจารณาอยู่มาก”
เพราะวันชาติ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติของคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายในภายหลังคือ ก่อให้เกิดความแตกแยกของบุคคลภายในชาติ ขณะที่มติให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาตินั้น
“ นับว่า ตัดปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งทั้งหลายเสียได้ นอกจากนั้นยังแสดงว่าคณะกรรมการเล็งเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า สิ่งสำคัญซึ่งสามารถดำรงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างบุคคลในชาติทุกสมัยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศประการหนึ่ง ที่สามารถยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นได้ สามารถที่จะชักจูงคนในประเทศให้เกิดความเชื่อถือมีความมั่นใจในความเป็นอยู่ ตลอดจนมีความภูมิใจ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบกันมาไม่ขาดสาย ”
ต่อจากนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ได้มีการนำเสนอวาระผลการพิจารณาเรื่องวันชาติ พร้อมด้วยร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งผลก็ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และในวันต่อมา (21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503) จอมพลสฤษดิ์ ก็ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยมีการตีพิมพ์ลงใน ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ความว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทย ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน
แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง
คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสนามสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภาพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี ”
ในปี พ.ศ. 2503 ยังเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยฯ เสด็จฯ ทรงปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสร็จสิ้นพระราชกิจนี้แล้ว ก็มีการเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาและวันชาติอย่างยิ่งใหญ่เรื่อยมา ทั้งนี้ วันชาติจะเปลี่ยนไปตามวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลปัจจุบัน
การเสด็จเลียบพระนครในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบพระนักษัตร (7 ธันวาคม พ.ศ. 2506)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ทางราชการก็ได้ถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันพ่อแห่งชาติ" (Father's Day) เพื่อส่งเสริมและเชิดชูพระคุณของพ่อที่มีต่อลูก
สำหรับวันพ่อแห่งชาติในประเทศไทย เป็นไอเดียของคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต วันนี้ก็จึงเป็นวันพิเศษที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานมีความสุขกับคุณพ่อและครอบครัว
หลังจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการให้ยึดถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติไทยต่อไป โดยไม่ต้องเปลี่ยนตามรัชกาลปัจจุบันมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ความว่า
" ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ยังความเศร้าสลดอย่างยิ่งใหญ่มาสู่พสกนิกรชาวไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อประเทศชาติและประชาชนเสมอมา ปวงชนชาวไทยทั้งปวงจึงน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดว่า วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้
๑. เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
๒. เป็นวันชาติ
๓. เป็นวันพ่อแห่งชาติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
ประกาศ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี "
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และมีการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิของพระราชบิดาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระบรมราชโองการออกมาอีกครั้งหนึ่ง
" มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดว่า วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ และเป็นวันพ่อแห่งชาติ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน "
พระราชพิธีก่อพระฤกษ์สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 (5 ธันวาคม พ.ศ. 2564)
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
กรมศิลปากร (1969). พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว . พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. p. 37–38.
"ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481" . ราชกิจจานุเบกษา. 55: 322. 1938-08-01.
"ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560" . ราชกิจจานุเบกษา. 134 (44 ง): 1. 2017-02-10.
"ประกาศ เรื่อง การกำหนดวันสำคัญของชาติไทย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562" . ราชกิจจานุเบกษา. 136 (129 ง): 1. 2019-05-22.
โฆษณา