29 พ.ย. 2023 เวลา 07:48 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเอกชัย

บางครั้งฤดูหนาว ก็สามารถนำพาความเจ็บป่วยมาให้ได้หากคุณไม่ดูแลสุขภาพให้ดี

โรคที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูหนาว ได้แก่
1️⃣ โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น
⚫ โรคไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้ออินฟลูเอ็นซาไวรัส (Influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมี 3 ชนิด คือ Influenza A B และ C สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านทางการหายใจ หรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย
❄️ อาการที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้สูง (> 38 องศาเซลเซียส) ไอ (ส่วนมากเป็นไอแห้งๆ) ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ โดยในเด็กอาจพบอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
⚫ โรคปอดอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลมฝอย (Alveoli) ภายในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช่น เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumonia, Haemophilus influenzae, Mycoplasma pneumonia เชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ เชื้อ RSV เป็นต้น
การติดต่อ เกิดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วย ผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก
❄️ อาการที่สำคัญ ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะมีภาวะหายใจล้มเหลว และมีโอกาสเสียชีวิต รวมถึงการวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกร่วมกับการอ่านภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ปอด
🌟 การป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจทำได้อย่างไรบ้าง ?
ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวหรืออากาศเปลี่ยนแปลง
ดูแลสุขลักษณะอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ดังนี้
ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ ของเล่นร่วมกับผู้ป่วย
ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า
ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจรวมถึงไข้หวัดใหญ่ ต้องป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
ควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 3 - 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น
ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้ง เวลาไอ จาม และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือ
2️⃣ โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ เช่น
⚫ โรคอุจจาระร่วง
พบได้ในประชากรทุกกลุ่มวัย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค การล้างมือไม่สะอาดก่อนเตรียมหรือปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ การใช้ภาชนะที่ไม่สะอาด การสัมผัสกับคน สิ่งของ หรือพื้นผิวต่างๆ ที่มีการปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำความสะอาด
การติดต่อ จากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หรือสารเคมี รวมถึงการล้างมือไม่สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
❄️ อาการที่สำคัญ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากหรือถ่ายมีมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่ในบางรายอาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับการถ่ายอุจจาระจำนวนมากจนอาจทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิต
🌟 การป้องกันโรคอุจจาระร่วงทำได้อย่างไรบ้าง ?
การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ และหลังจากสัมผัสสิ่งสกปรกทุกครั้ง
วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงจาก Rotavirus ในเด็กเล็ก คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ Rotavirus รวมไปถึงการมีสุขอนามัยที่ดี รักษาความสะอาดภาชนะ และทำความสะอาดของเล่นเด็กสม่ำเสมอ
รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ หากต้องการเก็บรักษาอาหารที่เหลือจากการรับประทานหรืออาหารสำเร็จรูปที่ซื้อไว้ ควรเก็บในตู้เย็น หรือภาชนะที่ปิดมิดชิด
ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท และเลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกหลักอนามัย
เลือกบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักและผลไม้ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
ถังขยะควรมีฝาปิดมิดชิด และกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ในกรณีผู้ประกอบอาหาร และพนักงานเสิร์ฟ ควรมีการตรวจสุขภาพอยู่เสมอ ควรใส่หมวกและชุดอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่เชื้อโรค ตัดเล็บให้สั้น ทำความสะอาดวัสดุ อุปกรณ์ในการประกอบอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ และเมื่อมีอาการอุจจาระร่วงควรหยุดปฏิบัติงานหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารจนกว่าจะหายหรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
3️⃣ โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว เช่น
⚫ โรคหัด
เกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles virus) พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย
การติดต่อ การหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส จากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะ 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ (3 ถึง 5 วัน ก่อนผื่นขึ้น) ไปจนถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน
❄️ อาการที่สำคัญ คล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัดธรรมดา คือ มีไข้ น้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา หลังจากนั้นจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ อาจมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดง (maculopapular rash) ติดกันเป็นปื้นๆ
🌟 การป้องกันโรคหัดที่ได้ผลดีที่สุด คือ การรับวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ให้ครบ 2 ครั้ง โดย เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน เข็มที่สอง เมื่อเด็กอายุ 1 ปีครึ่ง หรือหากไม่เคยได้รับวัคซีนเลยควรนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีนในสถานบริการของรัฐใกล้บ้านเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
☃️ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ☃️
ผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว หมายถึง การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่เกิดขึ้นในหรือนอกที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร สถานที่สาธารณะ ฯลฯ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่ม กันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และคาดว่าเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
⛄ การป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ⛄
1. ควรเตรียมความพร้อม ดูแล ส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ และอื่นๆ เป็นต้น และดื่มเครื่องดื่มที่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้
2. ให้การดูแลสุขภาพเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้พิการ เป็นต้น
3. สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ จัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อมและอยู่อาศัยในที่อบอุ่นสามารถป้องกันลมในภาวะอากาศหนาวได้อย่างเหมาะสม
4. งดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาวมากขึ้น
5. ระมัดระวังและเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก และอื่นๆ ที่มีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง
6. ในช่วงภาวะอากาศหนาวอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ และอื่นๆ ควรหมั่นดูแลสุขภาพเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และรักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย และไม่ห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
โฆษณา