29 พ.ย. 2023 เวลา 17:00 • ประวัติศาสตร์

พระพุทธชินราช พระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน หนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของชาติไทย

“…ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย… ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้…”
- พระราชปรารภใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงความงามของ “พระพุทธชินราช” จากบทพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง"
พระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพิษณุโลก และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของชาติไทย พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงพระราชศรัทธาต่อพระพุทธชินราชเป็นอย่างมาก จึงเกิดเป็นราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จประพาสหรือประทับที่พิษณุโลก จะเสด็จไปทรงนมัสการและสมโภชพระพุทธชินราชอยู่เสมอ พระพุทธชินราชได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์ที่สวยงามมากที่สุดของประเทศไทย จึงทำให้มีการสร้างองค์จำลองประดิษฐานอยู่หลายแห่ง
พระพุทธชินราชสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎแน่ชัด ตำนานพระพุทธชินราช มีปรากฏในพงศาวดารเหนือ ซึ่งได้รับการเรียบเรียงใหม่ตอนปลายรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2350 โดยพระวิเชียรปรีชา เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา
ประวัติความเป็นมาของพระพุทธชินราชตามพงศาวดารเหนือนี้มีว่า มีกษัตริย์เชียงแสนองค์หนึ่ง ชื่อ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีบุญญาธิการมาก กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยต่างก็โอนอ่อนสวามิภักดิ์ พระองค์ได้ยกทัพมาทำศึกกับ พระเจ้าพสุจราช เมืองสัชนาไลย เมืองสัชนาไลยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ได้ยกพระธิดาปทุมเทวีให้แก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ต่อมาพระนางมีโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าไกรสรราช และ เจ้าชาติสาคร
ภายหลัง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้มาสร้างเมืองใหม่ ด้วยความเชื่อว่า เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยได้เสด็จมาฉันจังหันใต้ต้นสมอแห่งนี้ แล้วตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า พิษณุโลก พระองค์ได้ให้เมืองใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งหลายช่วยกันสร้างวิหารและพระธาตุขึ้นกลางเมือง
ส่วนพระองค์เองนั้นดำริจะสร้างพระพุทธสำริด 3 องค์คือ พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา และพระพุทธชินราช มีช่างจากเมืองสัชนาไลยและหริภุญไชยมาสร้าง แต่สร้างสำเร็จเพียงสององค์แรกเท่านั้น เหลือแต่พระพุทธชินราชเพียงองค์เดียวที่ไม่ลุล่วง
ช่างทำการหล่อถึง 3 ครั้ง ก็ไม่สามารถหล่อองค์พระขึ้นมาได้ เพราะทองนั้นแล่นไปไม่ทั่วองค์พระ พระศรีธรรมไตรปิฏกจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงบุญบารมีที่ได้บำเพ็ญมาแล้วในกาลก่อน ร้อนไปถึงองค์อินทร์ต้องเสด็จลงมาช่วย โดยเนรมิตตนเป็นชีปะขาว ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งจอมสวรรค์ ทองนั้นก็แล่นทั่วองค์พระได้โดยพลัน
จากประวัติการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ ชี้ให้เห็นฐานะของพระพุทธชินราช ว่าสูงกว่าพระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา เพราะต้องอาศัยเทวดามาสร้าง คนธรรมดาสามัญไม่อาจสร้างได้ ด้วยว่าบุญญาบารมีไม่ถึงพระพุทธชินราช ทั้งได้แสดงถึงบุญญาธิการยิ่งใหญ่ของพระศรีธรรมไตรปิฎกด้วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ "พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา" ซึงมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชจากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่าพระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม
และช่างผู้สร้างพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่นจากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปี พ.ศ. 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า
"พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย...พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยพิชญา สุ่มจินดา ซึ่งได้กำหนดอายุเวลาของพระพุทธชินราชขึ้นใหม่จากพุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูปจากรูปแบบของเรือนแก้ว โดยเทียบเคียงกับลวดลายบนซุ้มเรือนแก้วที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุเวลาของลวดลายดังกล่าวอาจกำหนดได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากสถาปัตยกรรมของพระวิหาร ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้คือความเห็นในแนวทางเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
ส่วนซุ้มเรือนแก้ว รูปหล่ออาฬวกยักษ์และท้าวเวสสุวัณเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นคนละยุคกับองค์พระโดยเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาโดยสังเกตจากลักษณะลวดลายและลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีการบูรณะพระพุทธชินราชโดยการเพิ่มอุณาโลมบริเวณพระนลาฏในสมัยหลัง (คาดว่าน่าจะทำขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการบูรณะเพิ่มเติม)
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังชนะศึกที่เมืองหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธชินราช และทรงเปลื้องเครื่องต้นถวายเป็นสักการะบูชาพระพุทธชินราช ต่อมาในรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช และรับสั่งให้นำทองนพคุณ เครื่องราชูปโภคมาแผ่เป็นทองปิดพระพุทธชินราช
พระบรมราชชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (ทองดี) เคยได้มารับราชการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้าในรัชกาลที่ 1) ก็เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองที่นี่ ได้บูชาพระพุทธรูปทั้งสามอยู่มิได้ขาด แม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เองก็เคยได้มีโอกาสมานมัสการพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนี้ เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุ เสด็จพระราชดําเนินประพาสหัวเมืองเหนือ ใน พ.ศ. 2376 ได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปทรงสักการบูชาพระพุทธชินราช และทรงพระราชอุทิศกําไลข้อพระกรหยกสวมถวายที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปบูชา
พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินยังเมืองพิษณุโลก ทรงเททองหล่อพระพุทธชินราช ที่หน้าพระวิหารหลวง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เพื่ออัญเชิญลงมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายวันในจดหมายฉบับที่ 12 (วันที่ 17 ตุลาคม ร.ศ.120 (พ.ศ. 2444) ตอนหนึ่งว่า
“เวลาพลบค่ำไปที่วัดพระมหาธาตุ ปิดทองแล้วงามรุ่งโรจน์ เปนอันมาก ได้ถวายเครื่องบรรณาการแลต้นไม้ทองเงินแล้วถวายสังวาล…แลได้ถวายแพรคาดสพักพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ประทานที่ได้ใช้อยู่เสมอเปนเครื่องบูชา”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ดังข้อความในพระราชปรารภ
"เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างาม หาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง...ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว..."
แต่ด้วยเหตุที่พระพุทธชินราชไม่เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใดเลย และทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศกเหมือนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้าในรัชกาลที่ 3) โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2372 และในเวลาไล่เลี่ยกันมีพระสงฆ์รูปหนึ่งได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นแทน ดังความในพระราชปรารภที่ว่า "ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศิริของเมืองพิศณุโลก...จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช..." ในปี พ.ศ. 2444 จึงได้มีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ณ บริเวณเดิม (โพธิ์ 3 เส้า) ที่มีการหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และอัญเชิญพระพุทธชินราช (จำลอง) ลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานครต่อไป
พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดําเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ตลอดจนทรงสักการะพระพุทธรูปและปูชนียสถานสําคัญต่างๆ
ในการนี้ได้เสด็จพระราชดําเนินถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก เพื่อทรงสักการะพระพุทธชินราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์อันเป็น โบราณมงคล ถวายคล้องที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช สมเด็จพระบรมราชินีถวายผ้าทรงสะพักครุยกรองทอง
พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรวิหาร เพื่อทรงสักการะบูชาพระพุทธชินราช
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ถวายคล้องที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเปลื้องผ้าทรงสะพักถวายพระพุทธชินราช เป็นพุทธบูชา
พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการถวายสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธชินราช
โฆษณา