3 ธ.ค. 2023 เวลา 13:56 • ประวัติศาสตร์

#ปีที่เริ่มสร้างและจำนวนการสร้างพระสมเด็จ ฯ

ในหนังสือ "ตำนานพระสมเด็จและปฐมอัครกรรม" ของท่านเจ้าคุณเที่ยง ฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆัง ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๕ หน้าที่ ๑๘ - ๑๙ กล่าวว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระสมเด็จรุ่นแรกๆมักสร้างด้วยเนื้อดินเผา ซึ่งมีพุทธศิลป์คล้ายพระเนื้อดินเผาสมัยทวารวดีที่ขุดพบแถบภาคอิสาน โดยยกเอาพระเนื้อดินพิมพ์ปรกโพธิ์สมัยทวารวดี ซึ่งมีเจดีย์เล็กสององค์ประกบข้างองค์พระ เปรียบเทียบกับพระเนื้อดินเผาพิมพ์พระเจ้าสิบทิศ ซึ่งมีเจดีย์เล็กสององค์ประกบข้างพระองค์ยอดสุดเช่นกัน (ดูรูป)
หมายเลข 1, 2 และ 3 เป็นพระเนื้อดินเผาสมัยทวารวดี ขุดพบที่บ้านสำโรงกระจาย อำเภอโนนสูง โคราช หมายเลข 4 พระพิมพ์พระเจ้าสิบทิศของสมเด็จฯ องค์ยอดสุดมีเจดีย์เล็กสององค์ประกบอยู่
ท่านให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เดินธุดงค์ไปแถบเขมรพบพระเครื่องมีพุทธศิลป์แบบเดียวกันนี้ทางภาคอิสาน จึงนำมาสร้างพระเครื่องชนิดต่างๆของท่านขึ้น เรื่องนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากหนังสือ "สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)" ของท่านฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ซึ่งกล่าวถึงคำบอกเล่าของพระธรรมถาวร (ช่วง) ว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯธุดงค์ไปถึงเมืองพระตะบอง เจ้าเขมรองค์หนึ่งขอให้ท่านสร้างพระพิมพ์ไว้ให้เป็นที่ระลึก หลังกลับจากเขมรท่านก็เริ่มสร้างพระทันที (ดูรูป)
นอกจากนี้ในหนังสือของท่านพระครูกัลยาณานุกูล ระบุว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้สร้าง "พระโป้" ทำด้วยดินเผาพุทธศิลป์คล้ายพระหลวงพ่อโตแต่ขนาดเล็กกว่า ในปี ๒๓๙๔ คราวที่ท่านเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ไปหลบที่วัดแห่งหนึ่งแถวๆอยุธยา (ดูรูป)
หนังสืออนุสรณ์ฯงานหลวงปู่นาค ซึ่งนำหนังสือ "ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)" ของท่านพระครูกัลยาณานุกูล มาพิมพ์แจก
ด้วยข้อมูลจากผู้รู้ทั้งสามท่านผมจึงเห็นว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จสร้างพระในคราวแรกๆมักสร้างด้วยดินเผา และสร้างหลังกลับจากการธุดงค์ไปเมืองเขมร
ปัญหาคือท่านไปเขมรกี่ครั้งและไปเมื่อใดบ้าง เรื่องนี้นอกจากข้อมูลที่ผมยกมาข้างต้นแล้ว ผมค้นไม่พบหลักฐานอื่นใดอีก
เกี่ยวกับการเดินทางไกลของท่าน ยังมีหลักฐานปรากฎอีกแห่งคือใน "จดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕ ครั้งที่ ๒" ว่าเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๕ (ปีมะเมีย ๒๔๔๙) นายชิต มหาดเล็กเวร ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องตำนานพระพิมพ์และวิธีบูชา และกล่าวถึงเหตุที่ได้พบพระพิมพ์เป็นครั้งแรกนั้นว่า เมื่อปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ (พ.ศ.๒๓๙๒) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯขึ้นไปเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร ได้อ่านจารึกอักษรไทยโบราณ ฯลฯ
แสดงว่าเมื่อปี ๒๓๙๒ ท่านไปกำแพงเพชร แต่ไม่รู้ว่าท่านจะไปเขมรต่อหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าท่านจะไปไกลแค่ไหนก็ไม่เป็นปัญหาเพราะย่นระยะทางได้ ขอเพียงสังขารของท่านยังเดินไหวเท่านั้น เรื่องนี้เกิดก่อนที่รัชกาลที่ ๔ จะทรงมีรับสั่งให้ตามหาตัวท่านเพื่อกลับมารับพระราชทานสมณศักดิ์ และก่อนที่ท่านจะสร้าง "พระโป้"
เดิมผมเชื่อว่าท่านน่าจะเริ่มสร้างพระพิมพ์นิยมในปี ๒๔๐๑ เพราะการหาอายุพระในช่วงต้นปี 2565 องค์เก่าสุดอยู่ราวๆปีนั้น กระทั่งผมนำพระเนื้อดินสีอรุณ และองค์ที่มีตราแผ่นดินของรัชกาลที่ ๔ (องค์ในโพสนี้)ไปตรวจแคลไซต์ ผลปรากฎว่าปูนตำ (เนื้อพระ) มีอายุขึ้นไปถึงราว 170 ปีเศษ (คิดคำนวณถึงปีปัจจุบัน)
เรื่องจำนวนการสร้างนั้นผมเห็นว่าพระสมเด็จวัดระฆังสร้างไว้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์แน่ๆ ที่มั่นใจเพราะเป็นข้อมูลจากพระเถระอาวุโสของวัดระฆังหลายท่าน ซึ่งทันท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้บอกเล่าเอาไว้ (ดูรูป)
ส่วนความเชื่อที่ว่าสร้างไว้น้อย ทั้งชำรุดสูญหายไปจนเหลือเพียงไม่กี่ร้อยกี่พันพวกหนึ่ง และที่ว่าสร้างไว้มากเป็นล้านองค์อีกพวกหนึ่งนั้น ส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล และสำหรับพวกหลังนี่ผมเคยได้ตรวจหาอายุมาแล้วหลายองค์อายุไม่ถึงเลยสักองค์มีแต่ของใหม่ๆทั้งนั้น
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผมจึงเห็นว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จเริ่มสร้างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์นิยมราวปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ (พิมพ์ที่ไม่นิยมก็คงใกล้เคียงกัน) และสร้างได้ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามที่ท่านตั้งใจไว้
ยังมีอีกเรื่องที่น่ารู้ คือพุทธศิลป์พิมพ์ทรงของพระสมเด็จวัดระฆัง เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก และสติปัญญาของผมก็มีน้อย จึงขอเล่าสิ่งที่พบเจอและพิสูจน์แล้ว ให้ท่านผู้อ่านได้รู้เป็นการแชร์ประสบการณ์กันเป็นตอนๆไป เท่าที่จะสามารถทำได้ครับ
โฆษณา