8 ธ.ค. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

Humanizing Work Experience: การสร้างประสบการณ์ทำงานอย่างเป็นมนุษย์

จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถลางานได้ด้วยเหตุผลในการลาที่นอกเหนือจาก ลากิจ ลาป่วย หรือลาพักร้อน
เมื่อการออกแบบประสบการณ์และระบบการทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้องค์กรได้ผลิตผลงานตามที่ต้องการ พนักงานมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุขในการทำงาน องค์กรจึงควรเปิดพื้นที่ให้พนักงานร่วมกำหนดความหมายของความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวร่วมกัน เพื่อกำหนดนโยบายและระบบการทำงานให้สอดคล้อง และต่อยอดไปถึงการกำหนดวันลาหยุดและนโยบายการทำงานของพนักงาน
เป็นไปได้ว่าในอนาคต จะมีวันลาหยุดงานรูปแบบใหม่ เช่น วันลาอันเนื่องมาจากสภาพจิตใจ (Mental health leave) วันลาอันเนื่องมาจากผลกระทบของภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันลาเพื่อแปลงเพศ วันลาเนื่องจากงานศพของสัตว์เลี้ยง วันลาของผู้คลอดและพยาบาลคนในปกครอง (Parental leave) เป็นต้น
โดยมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจต่อความท้าทายที่หลากหลายในชีวิตของพนักงานในฐานะมนุษย์ จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า 87% ของพนักงานเชื่อว่าวันลาพิเศษช่วยให้พวกเขามีสุขภาวะโดยรวมดีขึ้น ทั้งนี้ องค์กรยังอาจมีบทบาทในการช่วยเหลือและเยียวยาพนักงานกรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในชีวิต เช่น ต้องเผชิญกับความรุนแรงภายในครอบครัว เป็นต้น
นโยบายวันทำงานเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก เช่น การทำงาน 4 วันจากเดิม 5 วันต่อสัปดาห์ การเปลี่ยนวันพุธให้กลายเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ เป็นต้น สอดคล้องกับงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ชี้ว่าพนักงานที่ทำงานล่วงเวลาจะสร้างผลิตผลของงานได้น้อยกว่าพนักงานที่ทำงานตามชั่วโมงเข้างานตามปกติ ปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น ไอซ์แลนด์ สวีเดน เยอรมันนี เป็นต้น ที่เริ่มทดลองแนวคิดดังกล่าวและเห็นผลค่อนข้างไปในเชิงบวก
งานวิจัยเบื้องต้นในประเทศไอซ์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 2015 - 2019 ระบุว่าการทำงาน 35 - 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จากเดิม 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เห็นผลลัพธ์ไปในทิศทางที่ดี การทดลองในสหราชอาณาจักรยังชี้ให้เห็นว่า 92% ขององค์กรที่ทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ตัดสินใจผลักดันการปฏิบัติดังกล่าวเป็นนโยบายถาวร
นอกจากนี้ การศึกษาการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในประเทศนิวซีแลนด์ยังพบว่า ยังรักษาผลิตผลของงานได้เท่าเดิม แต่พนักงานมีระดับความพึงพอใจในงาน การทำงานเป็นทีม สมดุลการใช้ชีวิต และความจงรักภักดีต่อองค์กรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับความเครียดที่น้อยลงจากเดิม 45% เหลือเพียง 38%
และแรงงานจำนวนมากมีความเห็นว่าต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น การจัดการงานแบบชั่วโมงทำงานไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear workdays) ก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง คือการให้อิสระพนักงานในการทำงานทั้งในแง่ของสถานที่ทำงานและชั่วโมงการทำงาน โดยอาจกำนหนดวันทำงานเป็น “บล็อก” แทนการเข้างาน 8 ชั่วโมงต่อกันในหนึ่งวัน เพื่อให้พนักงานที่ต้องทำงานร่วมกันจัดตารางการทำงานให้ตรงกัน
ในขณะที่หากเป็นงานเดี่ยว ทุกคนสามารถแยกย้ายและบริหารจัดการงานของตนเองได้อย่างอิสระภายใต้เงื่อนไขว่าสามารถส่งงานได้ตามที่ตกลงไว้ จากการสำรวจพบว่า มีพนักงานที่มีทักษะความรู้ 94% ต้องการความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงานมากกว่าความต้องการความยืดหยุ่นในสถานที่การทำงาน (80%)
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ระบบการบริหารงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีจะยิ่งมีความสำคัญอย่างมากในการจัดการตารางงานและเวลาของพนักงานให้เหมาะสม โดยสามารถติดตามความคืบหน้างานและคาดการณ์ผลิตผลงานในอนาคตได้ ทำให้ทั้งองค์กรและพนักงานสามารถประเมินเวลาและต้นทุนในการทำงานได้อย่างแม่นยำ
- จำเป็นต้องมีการทบทวนลักษณะงานภายในองค์กรว่างานลักษณะใดสามารถทดแทนได้ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์มาใช้แทนแรงงานมนุษย์ได้บ้าง และส่งเสริมการเรียนรู้ ศักยภาพ และการโยกย้ายพนักงานมนุษย์ให้ไปทำงานอื่นที่เหมาะสมมากกว่า
- การแสดงออกถึงทักษะการสื่อสารอย่างเปิดใจ เข้าอกเข้าใจ และการแสดงออกถึงภาวะผู้นำจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในการทำความเข้าใจทั้งงานและสถานการณ์ในชีวิตส่วนตัวของคนในทีมอย่างเป็นมนุษย์ เพื่อให้ทีมสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาวะโดยรวมของสมาชิกภายในทีม
- การระบุ “Core work hours” หรือชั่วโมงทำงานร่วมกันภายในทีม จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดตารางการทำงานของทีมที่สมาชิกแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบงานแตกต่างกัน
- นโยบายการทำงานแบบ Hybrid of everything หรืออิสระในการเลือกสถานที่และเวลาทำงานจะกลายเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของแรงงานศักยภาพสูงในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม: 10 Futures from Now to 2030 EP. 2 [Flexibility as Key] https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1397007507770786
อ้างอิงข้อมูลจาก:
- 26 Employee Development Statistics You Need To Know In 2023 https://www.zavvy.io/blog/employee-development-statistics
#FutureTalesLAB #FutureofWork #WellBeing #FuturePossible #FutureofWork #MQDC
โฆษณา