Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
JEENTHAINEWS
•
ติดตาม
12 ธ.ค. 2023 เวลา 05:58 • ประวัติศาสตร์
สามสุสานดังพลาดไม่ได้บนเส้นทางสายแพรไหม
ประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญที่ปรากฎอยู่ในสุสานอันเลื่องชื่อหลายยุคสมัยบนเส้นทางสายแพรไหม ในประเทศจีน นับเป็นอีกหนึ่งในเสน่ห์ของการเดินทางมาตามรอยเส้นทางสำคัญของประวัติศาสตร์โลกสายนี้ ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสามสุสานดังที่พลาดไม่ได้จริง ๆ
ฮั่นหยางหลิง สุสานแห่งสุขยุคราชวงศ์ฮั่น
บรรดาตุ๊กตาดินเผา ฝูงสัตว์เลี้ยงดินเผา จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สุสานฮั่นหยางหลิง
ฮั่นหยางหลิง (汉阳陵 Yangling Mausoleum of Han) เป็นสุสานของ จักรพรรดิฮั่นจิ่งตี้ (汉景帝) หรือพระเจ้าฮั่นเกงเต้ ต้นสายบรรพชนของพระเจ้าเล่าปี่หรือหลิวเป้ยในชั้นหลังสมัยสามก๊ก พระนามเดิมหลิวฉี (刘启) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ ๖ ของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเป็นพระโอรสองค์โตของจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงปี ๑๘๘-๑๔๑ ก่อนคริสต์ศักราช) ตั้งอยู่ในเขตเมืองเสียนหยาง (咸阳) เมืองคู่แฝดของนครซีอาน มณฑลส่านซี จุดเริ่มต้นของเส้นทางสายแพรไหม
ในยุคสมัยของพระองค์ทรงใช้ศาสตร์การปกครองที่เรียกว่า “ผ่อนพักราษฎร” (与民休息) หรือ “การปกครองแบบไม่ปกครอง” คือ การลดภาระของราษฎรต่อรัฐ ลดหรืองดการเกณฑ์แรงงาน ลดการสร้างโครงการขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ผู้หนีภัยสงครามกลับคืนสู่ถิ่นฐาน พร้อมคืนบ้านและไร่นาให้ดังเดิม เปิดโอกาสให้ราษฎรมีชีวิตส่วนตัว หาเลี้ยงชีพเพิ่มผลผลิตมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับการเสียภาษีมาก
แผนผังสุสานฮั่นหยางหลิง
ความสุขและความเจริญแห่งยุคสมัยปรากฏโฉมออกมาให้เห็นสู่สายตาชาวโลก เมื่อปลายค.ศ.๑๙๙๙ ที่ผ่านมา นั่นคือ จากการขุดค้นพบสุสานของพระองค์เข้าโดยบังเอิญระหว่างการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างถนนไปยังสนามบินเสียนหยาง ชานนครซีอานเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับฮั่นหยางหลิงคือ สุสานใต้ดินหรือตี้หลิง (地陵) ภายในมีกองทัพหุ่นทั้งบุรุษ ขันที และสตรี มีขนาดเล็กเพียงประมาณ ๖๒ เซนติเมตร
ฝูงปศุสัตว์ดินเผาหกชนิดคือ ม้า วัว แพะ สุกร สุนัข และไก่ ฝังเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้ยังพบอุปกรณ์เครื่องใช้การเกษตร เครื่องครัว เครื่องใช้สอยในครัวเรือน แสดงเรื่องราวของชีวิตประจำวันมากกว่าการศึกสงครามอีกด้วย
หลุมขุดค้นหมายเลข ๑๘ มีกองทัพหุ่นขนาดความสูง ๖๒ ซม.
หุ่นไม้ไร้แขน ในสภาพเปลือยเปล่า ใบหน้ายังสมบูรณ์งดงามในหลุมขุดค้นใต้ดิน
●
สุสานเหลยไถ กับฝูงอาชาสวรรค์
ขบวนอาชาหน้าสุสานเหลยไถ
ในเดือนตุลาคมค.ศ.๑๙๖๙ ได้มีการขุดค้นพบหลุมฝังศพแม่ทัพสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (อายุราวค.ศ.๑๘๖-๒๑๙) ที่ เมืองอู่เวย (武威) มณฑลกานซู่ เข้าโดยบังเอิญ ในระหว่างที่ชาวบ้านต่างกำลังช่วยขุดหลุมหลบภัยสงครามระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่กำลังคุกรุ่นกันขึ้น โดยในเวลานั้นด้านบนของหลุมฝังศพนี้
ชาวบ้านได้ใช้เป็นแท่นบูชาเทพแห่งสายฟ้าหรือเหลยเสิน จึงมีชื่อเรียกว่า เหลยไถ (雷台) ภายในสุสานโบราณเหลยไถสมัยราชวงศ์ฮั่น (雷台汉墓 Leitai Tomb of Han Dynasty) ได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุล้ำค่าสมัยราชวงศ์ฮั่นรวมกว่า ๒๓๐ ชิ้น อาทิเช่น เครื่องปั้นดินเผารูปทหาร ๑๗ คน ผู้รับใช้ ๒๘ คน ม้าทองเหลือง ๓๙ ตัว รถม้าทองเหลือง ๑๔ คัน และควายทองเหลือง ๑ ตัว พร้อมทั้งโลงศพและตราประทับบอกตำแหน่งแม่ทัพแซ่จาง เป็นต้น
ภายในพิพิธภัณฑ์สุสานเหลยไถ
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญสุดที่ขุดค้นพบคือ รูปหล่ออาชาทองเหลือง “หม่าท่าเฟยเอี้ยน” (马踏飞燕) มีรูปลักษณ์งามสง่าในท่วงท่ากำลังกระโจนทะยานมุ่งไปเบื้องหน้าอย่างทระนงองอาจ
เท้าทั้งสามกำลังเหาะเหินกลางนภา เท้าที่สี่เหยียบอยู่เหนือตัวนกนางแอ่นที่กำลังถลาลม มีรูจมูกเปิดกว้างและปากกำลังพ่นควันระบายออกมา ร่ำลือกันว่าเหงื่อของม้าสวรรค์นี้มีสีแดงประดุจชาด ในยามที่ส่งเสียงร้องอย่างคึกคะนองนั้น สามารถสยบม้าของศัตรูให้มอบราบคาบได้โดยง่ายดาย จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาชาผยองอันดับหนึ่งในปฐพี” (天下第一奔马) เป็นอาชาผยองที่รู้จักกันดีที่สุดในประเทศจีน และได้เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวของแดนมังกรมาตราบจนถึงปัจจุบัน
อาชาผยองเหยียบบนหลังนกนางแอ่น
อนุสาวรีย์หม่าท่าเฟยเอี้ยน หน้าสุสานเหลยไถ
หม่าท่าเฟยเอี้ยน อาชาทองเหลืองดังอันดับหนึ่งในจีน
●
สุสานอาปักโฮจา กับตำนานพระนางเซียงเฟย
สุสานอาปักโฮจา เมืองคาชการ์ เขตซินเจียง
ไกลออกไปทางภาคตะวันตกสุดของจีนในเขตซินเจียง ยังมีอีกหนึ่งสุสานชื่อดังคือ สุสานอาปักโฮจา (阿巴克霍加麻扎 Apak Hoja Mausoleum) หรือ เซียงเฟยมู่ (香妃墓) ตั้งอยู่ในเมืองคาสือ (喀什) หรือคาชการ์ (Kashgar) สถานที่ฝังศพผู้นำชาวมุสลิมในตระกูลโฮจา ๕ รุ่น ๗๒ คน รวมทั้งเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังพระศพของพระนางเซียงเฟยหรือพระนางเนื้อหอม พระสนมชั้นหรงเฟย (容妃) อันเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง
ลวดลายปูนปั้นอันอ่อนช้อยงดงามหน้าสุสานอาปักโฮจา เมืองคาชการ์
สุสานแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยศิลปะรูปโดมหลังคาโค้งที่ใหญ่ที่สุดในซินเจียง ตัวอาคารมีขนาดความกว้าง ๓๕ เมตร ลึก ๒๙ เมตร ใต้โดมกลางสูงถึง ๒๖ เมตร ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องโมเสกหลากสีสัน ทั้งเขียว เหลือง ฟ้า น้ำเงิน น้ำตาล ฯลฯ ใช้เป็นที่ฝังศพ ด้านบนวางโลงหินประดับกระเบื้องของตระกูลโฮจานับจำนวนได้ ๕๘ โลง (แต่ตามตำนานว่ามี ๗๒ คน) ส่วนศพนั้นฝังอยู่ใต้ดิน
ลวดลายกระเบื้องและปูนปั้นอันงดงามของสุสานอาปักโฮจา
อาคารสุสานหลังนี้สร้างขึ้นในค.ศ.๑๖๔๐ สมัยปลายราชวงศ์หมิง โดยอาปัก โฮจา ผู้สืบสานภารกิจในการเป็นผู้นำทางศาสนาและการปกครองในคาสือสืบต่อจากบิดาคือยูซูป โฮจา เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของบรรพชนและครอบครัว
ภาพวาดพระนางเซียงเฟย ที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด
พระนางเซียงเฟยมีชื่อเดิมว่า มามูรา อะซาม (Mamura Azam) มีสมญาว่า ยีปาฮาน (Yiparhan or Iparhan) หมายถึง นางเนื้อหอม นางเป็นสาวสวยงามบาดใจ ร่ำลือกันว่าผิวกายของนางมีกลิ่นหอมกรุ่น คล้ายกลิ่นดอกไม้ชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลิ่นหอมจากดอกพุทราทราย พืชทนแล้งในทะเลทรายที่จะโชยกลิ่นหอมอ่อน ๆ ซึ่งสาวคาสือนิยมนำมาผสมน้ำอาบ
ตามตำนานเล่าว่านางมีสามีเป็นบุตรเจ้าเมืองคาสือ แต่ด้วยกิตติศัพท์ความงามและความหอมของกลิ่นกายนาง เลื่องลือระบือไกลไปจนถึงพระกรรณจักรพรรดิจีน ณ กรุงเป่ยจิง ต่อมาสามีของนางตายในสนามรบ นางตกพุ่มหม้าย จักรพรรดิเฉียนหลงจึงรับสั่งให้รับตัวนางเข้าวัง ในวัย ๒๗ ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสนมชั้นเหอกุ้ยเหริน ต่อมาได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นหรงเฟย แต่ทุกคนรู้จักนางดีในนาม เซียงเฟยหรือพระนางเนื้อหอม (Fragrant Concubine) นางสิ้นลมในปี ค.ศ.๑๗๘๘ สิริรวมอายุได้ ๕๕ ปี
1
บางตำนานเล่าว่า เมื่อเข้าวังหลวง นางได้ปฏิเสธความเสน่หาขององค์จักรพรรดิ อีกทั้งพระพันปีหลวง ทรงไม่โปรดนาง ครั้งหนึ่งทรงตรัสถามนางว่า อยากได้อะไร นางทูลตอบว่า อยากได้ความตาย พระพันปีหลวงจึงทรงยื่นผ้าแพรขาวให้ผืนหนึ่ง นางจึงนำผ้าแพรผืนนั้นมาผูกคอตายอย่างน่าเศร้า
ปริศนาอีกประการหนึ่ง ศพของนางถูกฝังไว้ที่ไหน บางตำนานก็ว่า ถูกฝังไว้ที่หน้าสุสานอวิ้หลิง (裕陵) ของจักรพรรดิเฉียนหลงที่มณฑลเหอเป่ย แล้วพี่สะใภ้ของนางได้นำเอาเสื้อผ้าของนาง กลับไปที่คาสือเพื่อฝังรวมไว้กับศพของพี่ชายที่สุสานอาปักโฮจา
อีกหนึ่งสุสานของพระนางเซียงเฟย ที่หน้าสุสานอวิ้หลิงของจักรพรรดิเฉียนหลง
บางตำนานเล่าว่า ศพของนางถูกพี่สะใภ้นำขึ้นเกี้ยวรถเทียมม้า มาพร้อมกับศพของพี่ชายนาง กลับมาฝังไว้ที่คาสือ ตราบจนถึงปัจจุบัน ยังมีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระนางอยู่ภายในสุสานคือ รถบรรทุกศพนาง จากกรุงปักกิ่งมายังบ้านเกิด และโลงศพของนางตั้งเรียงอยู่เคียงข้างโลงศพของมารดา และสิ่งสุดท้ายก็คือ ภาพวาดของนางโดยจิตรกรชาวอิตาเลี่ยนในราชสำนักชิงเฉียนหลง นามกิวเซ็ปเป้ คาสติกลิโอเน่ (Giuseppe Gastiglione) และมีนามในภาษาจีนว่าหลางซื่อหนิง (郎世宁) อันโด่งดัง
ยังมีอีกหลายเรื่องราวหลายสุสานของบุคคลสำคัญบนเส้นทางสายนี้ที่ฝากอนุสรณ์สถานไว้ให้ผู้มาเยือนได้ร่วมจดจำและรำลึกถึงมาตราบจนปัจจุบัน
อ่านรายละเอียดและชมภาพประกอบสวยงามเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “Silkroad เส้นทางสายแพรไหมในจีน : จากซีอานสู่คาราโครัม” โดยผู้เขียน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี ตุลาคม ๒๕๖๖.
ประวัติศาสตร์
จีน
ไลฟ์สไตล์
2 บันทึก
6
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย