13 ธ.ค. 2023 เวลา 08:01 • การเมือง

เอาให้ชัด !! “พิชิต” ตั้งนะโมกันเหนียว เจ้าภาพพ.ร.บ.นิรโทษกรรม...ไม่ใช่รัฐบาลชัวร์

แง้มไทม์ไลน์ นิรโทษกรรมคดีการเมือง ประเดิมต้นปี 67 ทำประชามติแก้รธน.ผ่าน ส่งสัญญาณตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาจนตกผลึก ไฟเขียวทุกพรรค-ภาคประชาชนเสนอกฎหมาย สะเด็ดน้ำประกาศใช้ทันวาระสภาฯ ชุดนี้ชัวร์
รัฐบาลเดินหน้าสร้างประชาธิปไตยขึ้นใหม่ !!
“ทนายพิชิต ชื่นบาน” มือกฎหมาย 5 นายกฯ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร – “แมวเก้าขีวิต” สมัคร สุนทรเวช – “นายกฯ นอกทำเนียบ” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ - “นายกฯ นกแก้ว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - ปัจจุบันนั่งเป็นกุนซือของนายกฯ ก้านยาว “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน
ออกตัวรัฐธรรมนูญ - นิรโทษกรรม - สร้างความปรองดอง เป็นความคิดเห็นจากหัวใจจริง ๆ จากประสบการณ์หลายอย่างรวมกัน ขอพูดในฐานะส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน หรือฝ่ายนิติบัญญัติ
ขึ้นนะโมเป็นหลักการก่อน...กฎหมายทุก ๆ ฉบับ ต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป และผ่านวาระ 1-3 และวุฒิสภาพิจารณาตรวจสอบ และทุกอย่างจะทิ้งรัฐธรรมนูญ (รธน.) ไม่ได้
เวลานี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอยู่ คือปีหน้าทำประชามติ แก้ไขบทบัญญัติรธน.ให้สำเร็จ !!
เป็นไปตามภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติในสิ่งที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็มีเรื่องแก้ไขรธน.เท่านั้น เพราะกฎหมายรธน. เป็นเครื่องมือการบริหารประเทศ ที่เรากำลังจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่
ภายใต้ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามบรรทัดฐาน ขนบธรรมเนียมประเพณี มาพร้อมกับสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ฝ่ายบริหาร - ฝ่ายนิติบัญญัติ – ฝ่ายตุลาการ... ถ่วงดุลซึ่งกัน และกัน
ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรม ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่ดี…ผมเองเห็นด้วย !!
แต่ต้องจัดลำดับว่า อันไหนใหญ่กว่ากัน เดี๋ยวรธน.จะไม่เสร็จ กอปรกับความเป็นรัฐบาล ต้องสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ไม่จุดชนวนความขัดแย้ง หรือวิกฤติทางการเมืองขึ้นมาใหม่
รัฐบาลคงไม่ใช่เจ้าภาพ ในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน…ย้ำนะครับ !!
ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาดำเนินการ เหมือนกฎหมายปกติฉบับหนึ่ง ที่ใครเสนอเข้ามาก็ได้ อาจเป็นฉบับของพรรคการเมือง หรือฉบับประชาชนได้หมด
ซึ่งการใช้เวทีสภาถือว่าเหมาะสม - เป็นกลาง – เป็นกลไกระบอบประชาธิปไตย ในการรับฟังความคิดเห็นหลายฝ่าย
ประเดิมเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาให้ตกผลึก ก่อนเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ
ขออนุญาต...อย่าโฟกัสที่พรรคเพื่อไทย พรรคเดียว !!
ความเป็นรัฐบาลนั้น ประกอบด้วยหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะร่างนิรโทษกรรมฯ ต้องคุยกันให้ตกผลึกก่อนในส่วนของพรรคร่วม มิฉะนั้นอาจเกิดความขัดแย้ง
และจะทำให้เกิดปัญหา ในสิ่งที่รัฐบาลกำลังต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหลาย ๆ ด้าน เพื่อขจัดความทุกข์ยากของประชาชน เพราะประชาชนกำลังรอความหวังจากเรื่องนี้อยู่
ของแถมประชามติ...เห็นแสงสว่างนิรโทษกรรม !?
ในช่วงรณรงค์จัดทำประชามติ จะทำให้เราเห็นความคิดของแต่ละฝ่าย ถ้าความคิดเป็นเสียงเดียวกัน เห็นตรงกัน ไม่เกิดความขัดแย้ง เหมือนการทำประชามติที่ผ่านมา
คงจะเกิดผลดีกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้น !!
มันดูเหมือนเป็นคนละเรื่อง แต่บริบททางความคิดของคนในสังคมจะส่งสัญญาณบางอย่างว่า สังคมเกิดความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมผลักดันการแก้รธน. กฎหมายสูงสุดของประเทศ
“--- ถ้าทุกคน ทุกฝ่ายมีความสมัครสมานสามัคคี ผมว่าร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จะเป็นของแถมตามมาจากการแก้ไขรธน. สำเร็จ ---”
ใครเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภา...ต้องเข้าใจหลักการ !?
1.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นกฎหมายในลำดับรอง จะขัด หรือแย้งต่อบทบัญญัติรธน. อันเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้
2. ต้องคำนึงตามบทบัญญัติรธน. ประมาณ 3 มาตรา
มาตรา 3.... การใช้อำนาจของรัฐสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
โดยเฉพาะมาตรา 26 วรรคท้าย... กฎหมายนี้ย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่เจาะจง ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่ง บุคคลใด ถือเป็นหลักนิติธรรม
มาตรา 27... บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิ เสรีภาพได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียม
มีบางฝ่ายบอกว่า...จะขอสละสิทธิ์ ไม่รับประโยชน์ !!
ขอย้ำ...ตัวกฎหมายอาญา บุคคลใดจะยื่นสละสิทธิ์ในการนิรโทษกรรม เป็นเรื่องสำคัญที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะหากกฎหมายบัญญัติให้บุคคลใด สละประโยชน์ทางอาญาได้
มันจะเกิดความลักลั่น เป็นกฎหมายฉบับพิสดารมากที่สุดเลยนะ !!
เพราะไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเท่าเทียมจริง ขัดต่อรธน. เรื่องหลักนิติธรรม และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป อาจต้องส่งให้ศาลรธน.ตีความด้วยซ้ำ อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ
3.หัวใจของกฎหมายนิรโทษกรรม อย่าปล่อยให้ตีความ
สภาต้องหาความหมาย คำจำกัดความใช้ชัดเจนว่า
*** มูลเหตุทางการเมือง ระบุฐานความผิด !?
โดยมูลเหตุทางการเมือง เป็นพฤติกรรมการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นหลากหลาย เช่น ชุมนุมทางการเมืองโดยฝ่าฝืนข้อห้ามรัฐบาล – ชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวาย - บุกรุกสถานที่ราชการ - ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย – ความผิดต่อความมั่นคง ตามมาตรา 112 เป็นต้น
*** ผู้กระทำความผิดอันเกิดจากมูลเหตุทางการเมืองนั้น ได้แก่ บุคคลใดบ้าง !?
ถ้าคุยกันไม่ตกผลึก ในทางกฎหมายจะเกิดการตีความที่เรียกว่า คุณจะตีความอย่างกว้าง หรืออย่างแคบ อันเป็นสาระสำคัญ และเป็นหัวใจของกฎหมายนิรโทษกรรม
ถ้าตรงนี้ไม่ชัด จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้ง เกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นใหม่ทันที !!
“--- ผมไม่ได้ขัดแย้งที่จะไม่ให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม
เพียงแต่บอกว่า ก่อนจะมีกฎหมายฉบับนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคม
เราต้องสรุปว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ยังเห็นขัดแย้ง หรือแตกต่าง
ผมจึงยืนยันว่า ควรมีการศึกษา - สร้างกระบวนการความมีส่วนร่วมหลาย ๆ ๆ ฝ่าย ถกเถียง พูดคุยให้ตกผลึก ไม่ให้เกิดการตีความทั้งทางกว้าง หรือทางแคบ
เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือ สร้างความสมานฉันท์ ด้วยความรัก ความเข้าใจ เพราะหลักกฎหมายบังคับใช้โดยเท่าเทียมกัน
เมื่อมันมีแล้ว คุณก็ได้รับประโยชน์ !!
เมื่อปัญหาเดิมจบ ปัญหาใหม่ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้น !! ---”
.
WhoChillDay
13 ธ.ค. 2566
#พิชิต ชื่นบาน #นิรโทษกรรม #รัฐธรรมนูญ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา