14 ธ.ค. 2023 เวลา 06:33 • ความคิดเห็น

ความคืบหน้าการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า กับการปรับตัวของยานยนต์สันดาปภายใน

สถานการณ์โลกและกระแสความนิยม xEV ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: xEV) เป็นนวัตกรรมก้าวกระโดด ที่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ในอดีต และเกิดกระแสความนิยมขึ้นเป็นช่วง ๆ แต่ยังไม่สามารถใช้งานทดแทนยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ได้ เนื่องจากปัจจัยด้านราคาและคุณภาพของแบตเตอรี่ ราคาและประสิทธิภาพของรถ BEV (ระยะทางต่อการชาร์จไฟ) รวมถึงรูปแบบรถที่ยังมีให้เลือกน้อย และความคุ้มค่าในการขายต่อ
ซึ่งสถานการณ์ความคืบหน้าการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและการปรับตัวของยานยนต์สันดาปภายในจะเป็นเช่นไรนั้น สามารถติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ พลอากาศเอก อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ สมาชิกวุฒิสภา ออกอากาศผ่านรายการ "บทบาทกรรมาธิการ" เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566
#โทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 #TPChannel
ที่มาภาพ : https://www.freepik.com
คำถาม : แนวโน้มการใช้รถยนต์ EV สำหรับประเทศไทยอนาคตเป็นเช่นไร
ตอบ : ตามสัญญาปารีสที่ประเทศไทยต้องลดปริมาณคาร์บอนลง เพื่อลดโลกร้อน 60% ดังนั้น การที่เราจะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องมีความจริงจังที่จะดำเนินการ ซึ่งแผนปฏิรูปประเทศจึงกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น เรียกว่า “คณะกรรมการบอร์ด EV” เพื่อดำเนินการ 2 เหตุผล โดยเหตุผลประการแรก เพื่อตอบรับต่อกระแสโลกในการลดปริมาณคาร์บอน
และประการที่สอง คือ ตอบรับความต้องการและเป้าหมายที่ไทยจะเป็น HUB ในการส่งออกยานยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตรถยนต์ส่งออกจำนวนมาก แต่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน ปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรถไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนอื่น ๆ ดังนั้น หากไทยต้องการเป็นผู้นำในการส่งออก จำเป็นต้องศึกษาและติดตามแนวโน้มเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ทัน ขณะเดียวกันของเก่าก็ต้องรักษาไว้ เพราะคนไทยไม่ใช่คนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย ๆ และฐานะส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระดับที่พร้อมเปลี่ยนใหม่
ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการหารือร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน มีการจัดเสวนาในเรื่องของกลไกการเดินทางตามแผนในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมทั้งผลกระทบของเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่ ซึ่งการที่เรา
จะปรับเปลี่ยนให้ทันกับเทคโนโลยีถือว่าเป็นความจำเป็น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หากใครคิดอะไรใหม่ได้ก่อน ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบเสมอ
ถาม : ขณะนี้ผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์ประสบปัญหาไม่มียอดการสั่งอะไหล่เพิ่ม เนื่องจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปลดลงทั้งในและต่างประเทศ เรามีแนวทางแก้ไขหรือให้คำแนะนำอย่างไร
ตอบ : ตามที่คณะกรรมการบอร์ด EV ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ โดยนำกระทรวงการคลังเข้ามาเพิ่ม ตรงนี้จะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าต่อไปความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น ดังนั้น เวทีการเสวนาครั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง จะต้องมารับฟังผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนนำเสนอถึงประเด็นต่าง ๆ แล้วมีข้อเสนอแนะอย่างไร
ในขณะเดียวกันผู้ที่เดือดร้อนต้องรับทราบบ้างว่าคณะกรรมการที่เขาดำเนินการมีแผนงานและขั้นตอนเดินหน้าอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ทำข้อตกลงปารีสไว้ หากเราไม่เปลี่ยนแปลงใด ๆ ผลกระทบก็เกิดขึ้นอยู่ดี
อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องรับฟัง คือ กลุ่มผู้ที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งเรื่องการอบรมคน การรับคนเพิ่ม ทำคำสั่งผลิต เมื่อลงทุนแล้วจะหยุดคงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความพอดี และให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยจะยังไม่เลิกใช้รถยนต์สันดาปภายใน อย่างไรก็ยังคงมีอยู่แน่นอน เพราะว่าแผนงานที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นรถไฟฟ้าเป็นแผนงานระยะยาว ต้องมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน มีความคืบหน้าเป็นไปตามขั้นตอน
ที่มาภาพ : https://www.freepik.com
ถาม : เรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้ามีการดำเนินการรองรับในเรื่องนี้อย่างไร
ตอบ : ที่ผ่านมาได้มีการแข่งขันกันในเรื่องของแบตเตอรี่ที่ชาร์จเร็ว ชาร์จแล้ววิ่งได้ระยะทางไกล หากเราเดินทางแล้วไปไม่ถึงจำเป็นต้องเข้าสถานีชาร์จ ซึ่งสถานีชาร์จเป็นเรื่องที่คาดการว่าบริษัทที่จะมาลงทุนตกลงทำสถานีที่ใดได้และคุ้มทุน รองรับการต่อระยะให้กับลูกค้าได้ แต่เมื่อไปดูประเทศที่เขาใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเตรียมความพร้อมและชาร์จตั้งแต่ต้นทาง เพราะการชาร์จระหว่างทางใช้เวลาหลายชั่วโมงเหมือนกัน
ถาม : เรื่องบุคลากร ที่ต้องผลิตเพิ่มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตอนนี้มีการพิจาณาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ตอบ : มีครับ การพัฒนาความรู้ พัฒนาความสามารถ พัฒนาแรงงาน เป็นเรื่องที่บอร์ด EV จะต้องมีการพิจารณาในส่วนนี้ การ Upskill Reskill อยู่ในแผนงานทั้งหมด และบริษัทผู้ผลิตหลายแห่งเดินหน้าเร่งส่งพนังงานไปฝึกแล้ว หลายแห่งมีแผนงานในการที่จะ Upgrade บุคลากรของตนขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ แต่ที่เป็นห่วงคือกลุ่มรายย่อย การลงทุนไม่มีอะไรตอบรับว่าเขาจะยังมีงานอยู่เหมือนเดิมหรือว่าจะรับงานได้เหมือนเดิม
ไม่เหมือนบริษัทที่เป็นตัวแทนมาตั้งเป็นบริษัทใหญ่ เขามีแผนอยู่แล้วว่าต่อไปจะทำตลาดอย่างไร มีเป้าหมาย มีงานรองรับ แต่กลุ่มบริษัทเล็ก ๆ ในการเปลี่ยนแปลงยังน่ากังวล แต่หากมองเรื่องการเรียนรู้ การเพิ่มพูนความสามารถของตนเองขึ้นไปเป็นสิ่งที่ดี และเป็นการรองรับต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถคว้าโอกาสได้มากกว่าคนที่พัฒนาทีหลัง
สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ เราหลีกเลี่ยงผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปีหน้าก็จะร้อนกว่าปีนี้ ฟ้าฝนก็จะแล้งกว่านี้ เรื่องของภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ได้ไกลตัวเราเลย หากเราไม่ช่วยกันลดโลกร้อนจะทำให้เราอยู่ในสังคมโลกนี้ลำบาก เรามีข้อตกลงที่เราจะทำร่วมกันเราก็พยายามที่จะทำตามนั้น เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเป็นสิ่งที่เราต้องทำตาม
ส่วนจะไม่ยอมการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยคงต้องอยู่ในลักษณะของการอนุรักษ์ที่จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เราบอกไม่ได้ว่าอนาคตเทคโนโลยีทั้งหมดเดินหน้าไปแล้วจะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด หรือจะกลับมาใช้เทคโนโลยีเดิมหรือไม่ แต่ถ้าโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วเราเปลี่ยนแปลงตัวเราให้ทันโลกจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เราก้าวทันโลก สามารถตามและรู้ก้าวต่อไปได้อีก จะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวเราและประเทศชาติของเราทั้งสิ้น.
โฆษณา