15 ธ.ค. 2023 เวลา 10:16 • หนังสือ

ปรับวิธีคุยเล่นกับคน 5 ประเภทตามฉบับหนังสือ "อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น"

พอดีว่าเราได้อ่านหนังสือ "อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น" ที่เขียนโดย ยาซุดะ ทาดาชิ จบไป แล้วอยากจะแชร์บทบทหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ที่เราคิดว่ามันน่าสนใจดี โดยเนื้อหาจะอยู่ในบทที่ 6 ซึ่งจะกล่าวถึงวิธีการปรับเปลี่ยนวิธีคุยเล่นตามการแยกแยะประเภทของคู่สนทนา ซึ่งจะแบ่งได้ 5 ประเภทใหญ่ ๆ
1.) "เจ้านาย" คนประเภทนี้จะมีลักษณะที่ พูดเร็ว สนใจฟังแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ ชอบพูดแทรกระหว่างคุยกัน และทีเด็ดสุด มีสายตาที่เหมือนกำลังประเมินราคาอยู่ ร่วมถึงชอบกอดอกระหว่างคนอื่นพูดด้วย ฟังดูมีเข้าเค้าใครบ้าง ส่วนตัวเหมือนเราจะมีติดนิสัยกอดอกระหว่างที่ฟังอยู่บ้างนะ แล้วก็บางครั้งเราก็ชอบใช้สายตาสังเกตุอีกฝ่ายด้วย แต่เราไม่ได้คิดลบอะไรกับเขานะ
และโดยปกติคนประเภทจะหัวสูงสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เราจึงต้องพูดคุยกับเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อเขา เขาถึงจะสนใจ หากเราคุยเล่นมากเกินไปอาจจะถูกมองว่า ความสามารถของเราต่ำ ได้ ซึ่งตามหนังสือเราสามารถใช้เทคนิคการชมอีกฝ่าย โดยพูดพึมพำออกมา การทำอย่างนี้จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราชมด้วยความจริงใจและอย่าคิดว่าคนประเภทน่ากลัวเกินไป เพราะถ้าหากสนิทกันแล้วเขาจะดูแลและเอ็นดูเราเป็นอย่างดี
2.) "คนดี" มีลักษณะบุคลิกที่ทำให้เรารู้สึกดี ฟังคนอื่นพูดพร้อมพยักหน้าบ่อย ๆ แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบค่อนข้างช้า  พูดยาวอธิบายรายละเอียดแต่ไม่บอกข้อสรุป และไม่ค่อยใช้คำพูดเชิงปฏิเสธ เช่น "แต่ว่า"  มีใครเคยเจอตรงกับลักษณะแบบนี้บาง พอเราอ่านเราก็นึกภาพประมาณคุณยายใจดีเลยนะ หรือไม่ก็ผู้บริหารองค์กรสูงวัยที่ชอบรับคนทำงานหนุ่มสาวมาทำงานให้อะไรประมาณนี้
แต่จะบอกเป็นผู้บริหารก็อาจจะไม่ถูกเพราะตามหนังสือได้บอกว่า คนประเภทนี้มักจะใจกว้างแต่ส่วนมากจะตัดสินใจไม่ค่อยเก่ง จึงมักไม่ยอมพูดเข้าประเด็นสำคัญ เราจึงจำเป็นต้องออกแรงกระตุ้นเอาคำตอบจากเขาสักหน่อยแต่อย่าเร่งรัดการสนทนามากเกินไป เขาไม่คุ้นชินกับการโดนพูดรัวเร็วใส่ เราต้องพูดโดยคำนึงถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลายและพูดในเชิงการให้คำนำแนะเหมือนว่าเรากำลังใช้ความคิดหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันทั้งสองฝ่าย
3.) "นักวิเคราะห์" เป็นคนมีระเบียบ ท่าทีสงบนิ่ง  ตอบคำถามอย่างสุขุม และสนใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ นักวิเคราะห์จะมองว่าเป็นพวกสายวิทย์หัวดีอย่างหมอหรือนักวิจัยก็ไม่ผิดสักทีเดียว เราอยากถูกจัดว่าเป็นคนประเภทนี้เพราะฟังดูฉลาดและมีเสน่ห์ดี แต่พิจารณาแล้วว่าถ้าจะทำแบบนั้นได้หัวคงไหม้ไปก่อน
บางครั้งคนประเภทอาจจะกำลังสนใจหัวข้อที่เราพูดอยู่ก็ได้แต่เราต้องสังเกตุท่าทีการเปลี่ยนของแววตาและคำพูดของอีกฝ่ายให้ดี ในหนังสือได้บอกเคล็ดลับการคุยกับคนประเภทนี้ไว้ว่า ต้องพูดโดยเรียบเรียงเนื้อหาเหมือนกับกำลังนำเสนอ เช่น "วันนี้ผมมีเรื่องจะพูดทั้งหมด 3เรื่องครับ " หรือ "สรุปแล้ว ประเด็นสำคัญคือ..." หลักสำคัญคือต้องให้อีกฝ่ายรู้ถึงข้อดีของเรื่องที่เราพูด โดยนำเสนอข้อมูล ตัวเลขข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้พอเหมาะ
4.) "สดใสร่าเริง"  การพูดด้วยรอยยิ้มท่าทางสนุกสนานให้บทสนทนาครึกครื้น มักจะขำกับสิ่งที่ตัวเองพูดออกมา คือลักษณะเฉพาะของคนประเภทนี้ เราคิดว่าเราเคยเจอเพื่อนหรือคู่สนทนาประเภทนี้อยู่บ่อย ๆ เขามักจะเป็นคนที่ชอบทำอะไรกระทันหันแบบไม่ทันได้ตั้งตัวและไม่วางแผนไว้ ไม่ก็จะเป็นชอบชวนคุยอะไรแปลกและตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะเสมอ เรามองบางครั้งก็ตลกดีแต่บางครั้งก็แทบจะหาสาระอะไรไม่ได้เช่นกัน
ตามหนังสือกล่าวว่า คน "สดใสร่าเริง" มีทักษะการเข้าสังคมสูง จึงสนุกสนานไปกับการคุยเล่นได้ง่ายพวกเขาไม่ได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คุณจึงต้องคำนึงถึงความสนุกเข้าไว้ และมีวิธีการรับมือคือ ตั้งใจฟังให้ดี แสดงปฏิกิริยาตอบรับ
และตั้งคำถามเพื่อให้บทสนทนาลื่นไหล ซึ่งเราเห็นด้วยมาก ๆ กับการตั้งคำถาม เพราะเรามักจะเจอว่าเวลาคุยกับคนประเภทนี้บทสนทนาอาจจะตัดจบลงโดยที่เราไม่ตั้งตัว เขาจะมีลักษณะที่คาดเดาไม่ได้ การตั้งคำถามจึงเป็นสิ่งการันตีให้การคุยเล่นยังดำเนินต่อไป เวลาคบหากับคนประเภทนี้ก็ควรวางท่าทีในแง่บวกทั้งคำพูดและการแสดงสีหน้า
5.)"ขี้เกรงใจ"  สุดท้ายคือคนที่ดูเป็นคนจิตใจดี ดูอ่อนโยน นิ่มนวล มีความรู้สึกร่วมไปกับอีกฝ่ายมักจะพูดเห็นด้วยและไม่ค่อยเรียกร้องสิทธิของตัวเองจึงไม่โดดเด่นในกลุ่ม บางสถานการณ์เราเองก็เป็นคนขี้เกรงใจ คงเป็นเพราะเรายังพูดคุยได้ไม่เก่งเท่ากับคู่สนทนาของเราในตอนนั้น ไม่ก็อีกฝ่ายยังไม่ทิ้งทวนเวลาให้เราได้ไตร่ตรองกับคำถามมากพอ
ในหนังสือเขียนไว้ว่าส่วนใหญ่คนประเภทนี้จะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจไม่เก่ง พวกเขาอยากทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีอิสระ ไม่ชอบเรื่องเหนือความคาดหมาย ดังนั้นการเร่งรัดเข้าหาคนประเภทนี้มากเกินไปอาจทำให้เขาปิดใจได้
เวลาจะเข้าหาคนประเภทนี้ คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับจังหวะการพูดของเขา หากเขาพูดช้าเราก็ต้องพูดช้าลง การปล่อยให้เกิดความเงียบเพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองก่อนจะตอบก็เป็นเรื่องสำคัญ คนประเภทนี้จะเรียบร้อยแต่ก็สามารถปรับเข้าคู่สนทนาได้เร็ว หากเขาแสดงท่าทางแบบนั้นความสัมพันธ์ก็จะกระชับขึ้น ซึ่งพออ่านมาทั้งหมดส่วนตัวเรามองว่าเราน่าจะเข้าข่ายคนประเภทนี้ไม่น้อยเลย
อย่างไรก็ตามเราคิดว่าคนเราคงไม่ได้มีมิติหรือด้านใด ด้านเดียว เราสามารถร่วมประสาน ลักษณะพิเศษของหลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน ซึ่งเราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ก็กำลังสื่อเช่นนั้น ในเนื้อหาทั้งเล่มยังมีอะไรที่น่าสนใจอยู่นะ ส่วนตัวที่ได้อ่านตอนแรก ๆ อ่านจะเริ่มด้วยความรู้สึกเฉย ๆ เพราะเรามองว่าตัวเองมีทักษะในการพูดคุยและสนทนากับคนแปลกหน้าได้ดีในบางโอกาสจึงเห็นว่ามีส่วนที่เราสามารถรับรู้ได้จากการใช้ชีวิตโดยทั่วไปอยู่แล้ว
แต่เมื่อเนื้อหาลึกลงไปและมีการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่น่าสนใจ เราจึงรู้สึกว่าสนุกขึ้นเรื่อย ๆ และวางไม่ลง หนังสือจะมีความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่นะ ตอนอ่านอาจจะต้องค้นหาเพิ่มเติมนิดหน่อยเพื่อเข้าถึงบริบทแต่ก็ไม่ลึกจนเกินไป และใครที่อยากจะเพิ่มพูนทักษะหรืออยากเป็นคนที่พูดคุยออกไปได้มากกว่านี้หนังสือเล่มนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว
สั่งซื้อตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย
โฆษณา