18 ธ.ค. 2023 เวลา 09:00 • การเมือง

การอภิปราย (Debate) ในสภา ทำอย่า่งไรให้ถูกหลักตามข้อบังคับการประชุม

การพูดในที่ประชุมสภาหรือที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการพูดให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา การอภิปรายนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการประชุมเพราะการอภิปรายเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเหตุผลในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอภิปรายไว้ ดังนี้
ผู้ใดประสงค์จะอภิปรายต่อที่ประชุมสภา จะต้องยกมือขึ้นพ้นศีรษะ เมื่อประธานของที่ประชุมอนุญาตแล้ว จะต้องลุกขึ้นยืนอภิปราย โดยการอภิปรายจะต้องเป็นการกล่าวกับประธานของที่ประชุม ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดโต้ตอบกันเองระหว่างสมาชิกด้วยกัน อันจะทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และในการอภิปรายจะต้องมีการจัดลำดับก่อนหลังของผู้ที่จะอภิปรายโดยผู้ที่มีสิทธิอภิปรายก่อน คือ ผู้เสนอญัตติ แต่ถ้าผู้เสนอญัตติมีหลายคน ประธานของที่ประชุมจะอนุญาตให้ใช้สิทธิอภิปรายก่อนได้เพียงคนเดียว
ส่วนการอภิปรายในลำดับถัดไป จะเป็นการอภิปรายสลับกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน เว้นแต่ในวาระของฝ่ายใดไม่มีผู้อภิปรายแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งสามารถอภิปรายซ้อนได้
ส่วนการอภิปรายที่ไม่สนับสนุนและไม่คัดค้าน สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องสลับ และจะไม่นับว่าเป็นการอภิปรายของฝ่ายใด ถ้ามีผู้ขออภิปรายหลายคน ประธานของที่ประชุมจะให้คนใดอภิปรายก็ได้แต่ต้องคำนึงถึง ผู้เสนอญัตติ ผู้แปรญัตติ ผู้รับรองญัตติ หรือผู้รับรองคำแปรญัตติ และผู้ซึ่งยังไม่ได้อภิปราย
การอภิปรายนั้นจะต้องอยู่ในประเด็น หรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก หรือซ้ำกับคนอื่นที่ต้องอภิปรายไปแล้ว หรือใช้ภาษาต่างประเทศโดยไม่จำเป็น รวมทั้งยังห้ามไม่ให้นำเอกสารใด ๆ มาอ่าน หรือนำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะได้อนุญาตให้สมาชิกเขียนคำอภิปรายของตัวเองและนำมาอ่านในที่ประชุมสภาได้
ในการอภิปราย ข้อบังคับการประชุมห้ามไม่ให้ผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพเรียบร้อย หรือเสียดสีบุคคลใดและห้ามมิให้มีการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น
โดยสมาชิกสามารถประท้วงผู้อภิปรายได้ เมื่อมีการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุม หรือเมื่อมีการอภิปรายพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นใดอันเป็นที่เสียหายแก่ผู้นั้น โดยผู้ประท้วงจะต้องยืนขึ้นพร้อมกับยกมือขึ้นพ้นศีรษะ และประธานจะต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง เมื่อชี้แจงแล้ว ประธานจะวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับตามที่ได้มีการประท้วงหรือไม่ โดยคำวินิจฉัยของประธานถือว่าเป็นที่สุด ทั้งนี้ประธานอาจมีคำสั่งให้ผู้อภิปรายที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ได้ถอนคำพูดของตนเอง
ซึ่งผู้อภิปรายคนนั้นจะต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ประธานยังมีอำนาจให้บุคคลใดชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมสภาได้ด้วย
เมื่อประธานเห็นว่าผู้อภิปรายได้อภิปรายมาพอสมควรแล้ว ประธานมีอำนาจให้ผู้นั้นยุติการอภิปรายได้ แม้จะไม่มีการฝ่าฝืนข้อบังคับก็ตาม และหากมีสมาชิกที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งของประธานที่ให้ยุติการอภิปราย ประธานมีอำนาจให้สัญญาณด้วยการเคาะก้อนหรือด้วยการยืนขึ้น ซึ่งข้อบังคับกำหนดให้ผู้ที่กำลังพูดอยู่ต้องหยุดพูดและนั่งลงทันที รวมทั้งสมาชิกคนอื่น ๆ ทุกคนจะต้องนั่งฟังประธาน
การอภิปรายจะยุติลงด้วยเหตุต่าง ๆ คือ เมื่อไม่มีผู้ใดอภิปราย ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปราย หรือที่ประชุมลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษา การปิดอภิปรายอาจมาจากสมาชิกเสนอญัตติให้มีการปิดอภิปราย โดยการเสนอนั้นต้องมีสมาชิกให้การรับรอง และอาจมาจากกรณีที่ประธานเห็นว่าได้มีการอภิปรายกันมาพอสมควรแล้ว จะขอให้ที่ประชุมได้วินิจฉัยว่าจะปิดอภิปรายหรือไม่ก็ได้
ทั้งนี้ เมื่อการอภิปรายได้ยุติแล้ว ห้ามไม่ให้ผู้ใดได้อภิปรายอีก นอกจากกรณีที่ประชุมจะต้องลงมติในเรื่องที่กำลังปรึกษากันอยู่ จึงให้ผู้มีสิทธิอภิปรายก่อนอภิปรายสรุปได้อีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะลงมติ เมื่อการอภิปรายได้สิ้นสุดลงแล้ว ประธานจะให้สัญญาณเพื่อแจ้งสมาชิกที่มาประชุมทราบก่อนการลงมติต่อไป
ที่มา
สารานุกรมการเมืองไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 2 เรื่อง คำที่เกี่ยวข้องในวงงานรัฐสภา
ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562
ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562
โฆษณา