19 ธ.ค. 2023 เวลา 10:17 • การศึกษา

ความสำเร็จทั้งหลายเกิดจากพื้นฐานความศรัทธา

สมัยผมเป็นเด็กอายุประมาณ 10 - 11 ปี ผมจำได้ว่าที่บ้านผม พอแดดร่มลมตก ทานข้าวมื้อเย็นเสร็จ ทุกคนในบ้านชอบมานั่งล้อมวงรับลมที่นอกชาน  แต่ละวันพ่อจะมีนิทาน วรรณคดี หรือเล่าเรื่องผีให้พวกเราฟังเสมอ  โดยพวกเราต้องบีบนวดเป็นการตอบแทนท่าน    พ่อชอบนุ่งกางเกงขาก๊วยไม่สวมเสื้อปล่อยชายขอบเอวหลวม ๆ  จนเห็นพุงกระเพื่อม พ่อมักจะอยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนพิงหมอนเหยียดขาให้พวกเราบีบนวดกันคนละข้าง
พ่อมีเรื่องผีเล่าให้พวกเราฟังหลายเรื่อง เช่น ผีที่วัดมะขามเฒ่า ผีโป่ง ผีกระสือ ผีที่ป่าช้าในหมู่บ้าน ฯลฯ พ่อมีท่วงทำนองการเล่าประกอบท่าทางที่ชวนขนลุก   ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง   แต่พวกเราก็เชื่อสนิท กลัวก็กลัวแต่ก็อยากฟัง พี่ชายผมรู้ว่าน้อง ๆ กลัวผี ชอบย่องลงไปใต้ถุนนอกชาน ระหว่างที่พ่อกำลังเล่าอย่างออกรสชาติ  ก็จะเอาไม้แหย่ขาพวกเราจนร้องลั่น  พวกเราจึงระมัดระวังไม่ยอมนั่งตรงร่องไม้กระดาน
พ่อเรียนจบแค่ชั้นประถมปีที่ 3  แต่มีวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ มาเล่าให้พวกเราฟังหลายเรื่อง  เช่น รามเกียรติ์  ขุนช้าง-ขุนแผน  พระอภัยมณี  ลักษณะวงศ์  พระสุธน-มโนราห์ ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์  พ่อเล่าเป็นฉาก ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ  ผมสนุกตื่นเต้นที่สุด เคยฝันว่าตัวเองเป็นหนุมาน และชอบกระโดดโลดเต้น ล้อเลียนเพื่อน ๆ เหมือนกับเด็ก ๆ ที่ชอบทำท่าทางเหมือนหนังการ์ตูนในทีวี
เรื่องพระสุธน-มโนราห์เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมประทับใจมาก เวลาพ่อเล่าผมน้ำตาซึมสงสารพระสุธนและนางมโนราห์ที่ต้องพลัดพรากจากกัน พ่อเล่าเป็นกลอนให้เราฟังประกอบในบางตอน เช่น ตอนที่พระสุธนตามนางมโนราห์อาศัยแทรกไปกับขนนกยักษ์ พาบินไปบนท้องฟ้าเวลากลางคืน  ผมยังจำบทกลอนที่พ่อท่องให้ฟังได้จนถึงทุกวันนี้
“...ดาวช้างดาวม้า  ดาวกา  ดาวหมี
ทั้งดาวหามผี  หริบหรี่เข้ามา
ดาวหมูดาวช้าง  ขึ้นกลางนภา
ดาวลูกไก่รายเรียง  ขึ้นเคียงดาวม้า...”
เวลาผมมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน ผมชอบยืมหนังสือวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องที่พ่อเล่ามาอ่านต่อจนจบทุกเรื่องและจำขึ้นใจจนทุกวันนี้  นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมได้คะแนนวิชาภาษาไทยสูงมาโดยตลอด
1
ผมภูมิใจและศรัทธาในความสามารถของพ่อผมหลายเรื่อง พ่อเป็นคนชอบอ่าน ช่างจดจำและมีศิลปะการถ่ายทอดที่ยอดเยี่ยม  พ่อบอกว่าพ่ออ่านวรรณคดีต่าง ๆ ตอนบวชเป็นพระ อ่านทั้งภาษาบาลี และวรรณคดี
นอกจากนี้ พ่อยังมีความรู้ทางโหราศาสตร์อีกด้วย  คนในหมู่บ้าน เวลามีเรื่องหรือจะมีงานอะไร มักจะมาหาพ่อให้ทำนายทายทักจับยามสามตา  หรือสะเดาะเคราะห์ให้เสมอ อาศัยที่พ่อเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีจิตวิทยาสูง พยายามวิเคราะห์ตรวจทำนายทายทักให้ผู้คนที่มาหามีความสุขและพึงพอใจทุกคน  พ่อจึงได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านอย่างกว้างขวางและมีคนมาหาพ่อไม้เว้นแต่ละวัน
ชีวิตในโรงเรียนมัธยม ผมประทับใจคุณครูประจำชั้นมากที่สุด เพราะท่านให้ความรักความเป็นกันเอง ถามไถ่ดูแลทุกข์สุขของผมและเพื่อน ๆ ด้วยคำพูด  สายตา ท่าทาง และการปฏิบัติที่เอื้ออารีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  หยั่งถึงโลกในใจของนักเรียน จนผมไว้วางใจและกล้าที่จะเล่าความในใจให้ท่านฟัง
ผมตั้งใจเรียนและชอบเรียนวิชาที่คุณครูสอน  อยากให้ถึงชั่วโมงของท่านซึ่งผมรู้สึกว่า เวลาเรียนแต่ละชั่วโมงหมดไปเร็วเหลือเกิน  ผมอยากให้มีชั่วโมงของคุณครูทุกวัน ผิดกับชั่วโมงของคุณครูอีกหลายท่านที่ผมรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะเรียนและเวลาแต่ละชั่วโมงของคุณครูเหล่านั้นช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า
คุณครูประจำชั้นของผมท่านสอนวิชาประวัติศาสตร์ ท่านมีเทคนิคการสอนที่ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่าย มีกิจกรรมที่หลากหลายไม่ซ้ำกัน ให้พวกเราปฏิบัติ  อุปกรณ์ที่ท่านนำมาใช้ก็ไม่พิเศษพิสดารอะไร บางครั้งก็ใช้บัตรคำให้จับคู่ หรือให้เราแข่งขันกันจัดแผ่นไม้ฉลุประเทศต่าง ๆ ลงในทวีป หรือในตำแหน่งที่ถูกต้อง บางทีก็มีประเด็นให้เราไปศึกษาค้นคว้าเป็นกลุ่มบ้าง เป็นรายบุคคลบ้าง
เวลาสอนท่านจะถามและเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น  ด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มแจ่มใสยกย่องชมเชยให้กำลังใจพากเราที่ตอบคำถาม  แม้คำตอบหรือข้อคิดเห็นของพวกเราบางครั้งจะไม่เข้าท่า แต่ท่านก็อดทนที่จะรับฟังพร้อมทั้งชมเชยความพยายามของเราแล้วก็เสริม แต่ท่านจะไม่ผูกขาดคำตอบว่าผิดหรือถูก    ทำให้พวกเรากล้าที่จะถามและแสดงความคิดเห็น   ถึงท่านจะใจดีแต่พวกเราก็ไม่กล้าล่วงเกินมีแต่ความเคารพยำเกรงในความเป็นครูที่นั่งในหัวใจของพวกเราเสมอ
ครั้งหนึ่งท่านสอนประวัติศาสตร์ตอนสมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง กระสุนปืนถูกสุรกรรมา แม่ทัพพม่าเสียชีวิต ท่านก็ตั้งประเด็นให้พวกเราอภิปรายว่า
“  สมมุติว่า สมเด็จพระนเรศวรกับสุรกรรมาอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำสะโตง  แล้วสมเด็จพระนเรศวรเห็นช้างของสุกรรมาตัวเท่าหมู  นักเรียนคิดว่า แม่น้ำสะโตงจะกว้างเท่าไร   และพระแสงปืนต้นของสมเด็จพระนเรศวรจะมีลักษณะและคุณสมบัติอย่างไร”    พวกเราก็อภิปรายและวิเคราะห์กันอย่างสนุกสนาน โดยนำความรู้จากวิชาต่าง ๆ ที่เรียนมาบูรณาการใช้ในการแก้ปัญหาอย่างกลมกลืน
ผมรู้สึกทึ่งในความเป็นครูของท่านตลอดเวลา ขณะนั้นท่านคงอายุประมาณ 40 กว่า ๆ ท่านเรียนจบวิชาครูเพียงประกาศนียบัตรประโยคครูประถม ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูตอนนั้นก็คงไม่เน้นวิธีสอนที่หลากหลายอย่างที่ท่านนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบบูรณาการ การสอนให้คิดวิเคราะห์ การให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม  การให้ปฏิบัติจริงตลอดจนการมีจิตใจที่เป็นประชาคม  ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ทันสมัยในการจัดการเรียนการสอนมาจนปัจจุบัน
จวบจนวันนี้   เมื่อใดก็ตามที่ผมมีโอกาสได้แสดงความสามารถด้านวรรณคดี และบทประพันธ์ต่าง ๆ ผมจะนึกถึงพ่อเสมอ  และยามใดที่ผมเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ต่องานในหน้าที่ผมจะนึกถึงคุณครูประจำชั้นที่สอนประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มพลังและปลุกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบให้กลับคืนมา เพราะท่านทั้งสองเป็นแม่แบบที่ผมศรัทธา และช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาจิตวิญญาณของผมโดยแท้
พอผมมาทำงานก็ได้ยินคนกล่าวว่า  “ความสำเร็จทั้งหลายเกิดจากพื้นฐานความศรัทธาที่บุคลากรมีต่อคนที่นำการขับเคลื่อน”   ผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมเรื่องศรัทธาจึงมีอิทธิพลมากมายเหลือเกิน  ก็ได้รับคำอธิบายว่า  การสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับคนนั้น  ไม่ใช่จะสร้างให้เสร็จเพียงเวลาชั่วครู่ชั่วยาม หรือเพียงแค่การพูดโอ้โลมปฏิโลมหว่านล้อมเท่านั้น
เพราะมนุษย์เราดื้อยิ่งกว่าโคนันทวิศาล  ถ้าใจไม่ศรัทธา ไม่เห็นด้วย ถ้าถูกสั่งถูกบังคับให้ทำอะไร ก็จะดื้ออย่างสุดๆ ทั้งดื้อเงียบและดื้อโวยวาย  ถ้าไม่ศรัทธาสุดๆก็จะหาวิธีตอบโต้ให้สะใจ ทั้งในที่แจ้ง และที่ลับ
แต่ถ้าผู้บริหารหรือบุคลากรหลักคนใด  ก่อนจะส่งเสริมให้ครู เริ่มทำสิ่งใดก็ปักธงให้ชัด มองภาพตลอดแนว คิดอย่างรอบคอบ ดูบริบทวัฒนธรรมองค์กรก่อน โดยไม่คิดอะไรเป็นท่อนๆ  ไม่ใจร้อนสั่ง ไม่สั่งเป็นนโยบายรายวัน รายชั่วโมง  แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมคิด  จนเกิดความตระหนัก(Awareness) ด้วยตนเอง  เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และอยากจะทำ  ในที่สุดก็จะเกิดความพยายาม(Attempt) เกิดพลังที่จะร่วมหาวิธีการที่ดีที่สุดในการดำเนินงานจนบรรลุเป้าหมาย(Achieve)
และเมื่อทำบ่อยๆทำต่อเนื่องก็จะเกิดเป็นความยั่งยืน(Accredited)  โดยใช้การเป็นผู้นำที่ “ทำให้ดูกู่ให้ตาม”  กำกับติดตาม สร้างขวัญกำลังใจ สอนงาน เป็นทางออกที่สร้างสรรค์ให้ ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยจะถือและยอมรับศรัทธาคนที่ ปฏิบัติตนโปร่งใส ใจสะอาด ไม่คิดเล็กคิดน้อย โดยมุ่งแต่จะให้มากกว่ารับ  จึงจะได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากบุคลากรด้วยใจจริง  ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องสั่งสมมาเป็นเวลานาน
หากดำรงตนเช่นนี้จนเป็นแบบอย่าง เป็นบุคลิกที่ถาวร และทำให้ทุกคนยอมรับศรัทธาด้วยใจจริงแล้ว  ต่อไปจะทำสิ่งใด จะขอร้องให้ทำสิ่งใดก็จะได้รับความร่วมมือช่วยเหลือเป็นอย่างดี  ทำผิด  สั่งผิดไปบ้างคนก็ให้อภัย เพราะ
       “ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน”
     “ปูว่าหอย  แม้กล้วยว่ากล้าย  เรียมตาม”
แต่ถ้าไม่ศรัทธาแล้วจะมอบ จะสั่ง จะขอร้องอะไร ก็จะถูกเพิกเฉย หรือทำให้โดยไม่เต็มใจ(ทำส่งๆ) และจะถูกบุคลากรคอยจ้องจับผิดเสมอ แม้จะทำดีหรือทำผิดในเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
โฆษณา