24 ธ.ค. 2023 เวลา 05:02 • ประวัติศาสตร์

#พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อผงใบลาน

ตำราของท่าน “ตรียัมปวาย” ฉบับพิมพ์ปีพุทธศักราช 2497 (พิมพ์ครั้งที่ 2) ได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับการสร้างพระสมเด็จเนื้อผงใบลาน ไว้ตั้งแต่หน้าที่ 128 - 135 เป็นเนื้อความในจดหมายของนายผวล จ้อยชรัด ลงวันที่ 30 ก.ค. 2496 ซึ่งได้ไปสัมภาษณ์พระธรรมธร กนฺทโน (กัน ดาวเรือง) เจ้าอาวาสวัดหอมทองราษฎร์บำรุง ต.บ้านบ่อ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อายุ 68 ปี (พ.ศ.2496)
พระธรรมธรเป็นบุตรชายของนายทิม ซึ่งเคยบวชที่วัดระฆังและท่านเจ้าประคุณสมเด็จเรียกให้ไปช่วยตำผงที่ใช้สร้างพระ นายทิมซึ่งเป็นโยมบิดาของพระธรรมธรได้เล่าให้พระธรรมธรฟังว่า
“…ผงที่ดำเป็นผงใบลานเผาเจือปนด้วยผงขาวบ้างและสิ่งที่เหลือจากเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ฉันมีเปลือกกล้วยหอม, ก้างปลาและผลไม้ต่างๆนอกจากนี้ยังมีชานหมากบ้าง พระสมเด็จดำเนื้อผงใบลานที่สร้างขึ้นนั้นพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์หินมีดโกนพิมพ์ได้ทีละ 1 องค์พิมพ์แล้วท่านก็ตากไว้ในกระด้งแห้งดีแล้วท่านก็เก็บใส่ย่ามละว้าใหญ่ของท่านแล้วเอาไว้เที่ยวแจกชาวบ้าน และส่วนที่เหลือไม่ทราบว่าเอาไปไว้ที่ไหนหมด…”
อาจารย์ตรียัมปวายสรุปไว้ในตอนท้ายของเรื่องพระสมเด็จเนื้อผงใบลานว่า
“...จากหลักฐานที่ได้แสดงมานี้ชี้ให้เห็นว่าพระสมเด็จดำเนื้อผงใบลานมีจริงและมีอายุการสร้างใกล้เคียงกับพระสมเด็จเนื้อมาตรฐาน น่าเสียดายว่าจำนวนพระมีน้อยจนไม่ปรากฏแพร่หลายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งพระเครื่องทุกชนิดถ้ามีเนื้อดำนับว่าพิจารณาได้ยากมาก ถ้ายิ่งเป็นพระเครื่องยุคใหม่สมัยรัตนโกสินทร์เช่นพระสมเด็จด้วยแล้วเกือบไม่มีทางพิจารณาและศึกษาได้เลย ฉะนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวพระสมเด็จดำเนื้อใบลานเผาจึงได้รับความห่างเหินจากการนิยมเชื่อถือของนักพระเครื่องฯ อย่างน่าเสียดาย…”
ในตำราของอาจารย์ตรียัมปวายฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ มีแสงสว่างอยู่เล็กน้อยเกี่ยวกับเนื้อผงใบลานเผา โดยท่านอธิบายถึงพระสมเด็จวัดระฆังตามรูปที่ 1 (ก) ลำดับที่ 18 ซึ่งเป็นพระสมเด็จเนื้อผงใบลานว่า “...ผิวมีลักษณะสีดำและแห้งผาก มีลักษณะไม่ดำลื่นเป็นมัน…”
เหตุที่ท่านตรียัมปวายลงรายละเอียดเรื่องพระเนื้อผงใบลานมาก คงเพราะแม้ในกลุ่มนักพระเครื่องชั้นสูงเองมีความเห็นแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่ามีฝ่ายหนึ่งว่าไม่มี นี่เป็นเรื่องเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการพิจารณาเรื่องแท้ปลอมของพระเนื้อผงใบลานนั้นไม่มีข้อยุติ
ผมเขียนบทความนี้เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะว่า การพิจารณาวินิจฉัยพระสมเด็จเนื้อผงใบลานนั้นได้ข้อยุติแล้ว และเพื่อสนับสนุนยืนยันว่าพระสมเด็จเนื้อผงใบลานเผานั้นมีจริง
สิ่งที่ใช้พิสูจน์ยืนยันเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ คือผลึกของแคลไซต์ในเนื้อปูนตำที่เป็นวัสดุหลักในเนื้อพระ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ค้นพบโดย Vladimir Kotlya นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Don State ประเทศรัสเซีย
เมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมาผมได้นำพระสมเด็จเนื้อผงใบลานจากแหล่งเรียนรู้ของผมไปวิเคราะห์ทดสอบหาอายุ ผลปรากฏว่าพระเนื้อผงใบลานในโพสต์นี้อายุถึงยุคจริง และผิวของพระเนื้อผงใบลานนั้นมีลักษณะแห้งไม่ดำลื่นเป็นมัน นี่เป็นผิวพระที่ไม่เคยผ่านการใช้หรือสัมผัสกับอากาศมาก่อน ถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี ดีเกินไปจนปูนไม่ได้สัมผัสกับอากาศทำให้เสียความแข็งแรง เนื้อพระกะเทาะหลุดออกเองหลายจุด แต่อย่างไรก็ตามนี่คือพระแท้องค์ครูที่สามารถใช้อ้างอิงศึกษาได้
หากท่านผู้อ่านเห็นว่าบทความของผมมีประโยชน์อยู่บ้าง ขอความกรุณาช่วยกันแชร์ออกไปให้กว้างขวางด้วย เพื่อความก้าวหน้าและจะได้เป็นประโยชน์กับท่านอื่นๆที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้
โฆษณา