24 ธ.ค. 2023 เวลา 12:07 • ประวัติศาสตร์

📌รู้จัก 4 นายช่างฝรั่ง ผู้ออกแบบสยามยุคใหม่ด้วยศาสตร์และศิลป์

เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่า “ฝรั่ง” ค่อนข้างมีบทบาทมากพอสมควรต่อกระบวนการพัฒนาความ “ศิวิไลซ์” ของสยามในช่วงหลังรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา โดยมีจุดรุ่งเรืองสูงสุดอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ชาวตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศมากมายทั้งในการเมือง สังคม และวัฒนธรรม
ซึ่งในเดือนกันยายนอันเป็นเดือนแห่งสัปดาห์มรดกวัฒนธรรมของทางฝั่งยุโรปนั้น ทาง Bnomics ได้นำเสนอเรื่องราวของชาวยุโรป 4 คนที่มีความสำคัญต่อศิลปวัฒนธรรมยุโรปที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในกรุงเทพมหานครผ่านสื่อกลางทางศิลปะที่หลากหลายทั้งสถาปัตยกรรม, ประติมากรรม, และจิตรกรรมอันยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
เนื่องในเดือนส่งท้ายปีเก่า Bnomics จึงอยากจะขอพาทุกท่านย้อนกลับไปรู้จักกับ 4 นายช่างฝรั่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและหล่อหลอมความเป็นสมัยใหม่ของสยามให้ทัดเทียมตะวันตกด้วยผลงานทางศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่ของรัฐในอดีตกัน
1. Mario Tamagno: สถาปนิกผู้ออกแบบสยามด้วยสถาปัตยกรรม
ถ้าพูดถึงนายช่างฝรั่งคนสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบสารพัดงานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครแล้ว ถ้าใครเป็นคนที่ชอบเที่ยววัด วัง บ้านโบราณ หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 อาจจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อของ “มาริโอ ตามาญโญ” นายช่างใหญ่ชาวอิตาลีของกรมโยธาฯ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจัดการเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมและผังเมืองของกรุงเทพมหาคร
มาริโอ ตามาญโญ เกิดและเติบโตในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี โดยเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมดีเด่นของสถาบันอัลแบร์ตีน และทำงานเป็นอาจารย์ที่สถาบันนั้นหลังสำเร็จการศึกษา ก่อนที่จะถูกชักชวนโดยนายช่างคนหนึ่งที่เคยทำงานในสยาม ให้เดินทางมาแสวงโชคในดินแดนไกลโพ้นแห่งนี้
ตามาญโญเซ็นสัญญาเป็นนายช่างของกรมโยธาธิการเป็นเวลากว่า 25 ปี สร้างสรรค์ผลงานมากมายให้กับรัฐบาลสยามในสมัยนั้น ทั้งพระราชวัง, อาคารที่ทำการรัฐ และอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยคุณงามความดีทั้งหลายนี้เองทำให้เขาได้รับการเชิดชูจากรัฐบาลสยามในฐานะชาวตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ในไทย อีกทั้งยังได้รับการเชิดชูเกียรติจากทางฝั่งรัฐบาลอิตาลีอีกด้วย
อ่านเรื่องราวของสถาปนิกผู้เงียบขรึม ที่ออกแบบสยามใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมได้ที่ 👇
2. Corrado Feroci: ผู้ปลุกปั้นศิลปะไทยร่วมสมัยด้วยการศึกษา
ถ้าพูดถึงชื่อ คอร์ราโด เฟโรจี คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก แต่ถ้าพูดถึงชื่อของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที โดยอาจารย์ศิลป์นับว่าเป็นชาวตะวันตกอีกหนึ่งคนที่มีส่วนสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ตลอดจนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ทั่วประเทศ
คอร์ราโด เฟโรจี เกิดในนครแห่งศิลปะของอิตาลีอย่างเมืองฟลอเรนซ์ โดยเป็นบุตรชายของตระกูลพ่อค้าที่หวังอยากจะให้เขานั้นสานต่อกิจการของครอบครัว ทว่าเขากลับเทใจไปให้กับศิลปะอย่างหมดหัวใจ โดยมีความสามารถทางด้านประติมากรรมและได้รับรางวัลจากการประกวดมากมาย กระทั่งได้เป็นที่สนใจของรัฐบาลสยาม
ทำให้เฟโรจีได้เข้ามาทำงานในสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้เป็นครูสอนช่างปั้นในแผนกกรมศิลปากรของราชบัณฑิตยสภา ก่อนที่ในภายหลังจะเกิดการจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลป์ขึ้นมาและมีเฟโรจีเป็นอาจารย์คนแรกของโรงเรียน ซึ่งในภายหลังโรงเรียนประณีตศิลป์นี้ก็ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรที่บ่มเพาะบุคคลากรในวงการศิลปะเรื่อยมา
อ่านเรื่องราวชีวิตเต็ม ๆ ของครูผู้เป็นที่รักยิ่งของวงการศิลปะได้ที่ 👇
3. Carlo Rigoli: ชายผู้อยู่เบื้องหลังจิตรกรรมฝาผนังในวังเจ้านายสยาม
ในหมู่เหล่านายช่างฝรั่งที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างสยามใหม่ด้วยศิลปะนั้น ถ้าพูดถึงสถาปัตยกรรมก็ต้องนึกถึงมาริโอ ตามาญโญ ถ้าพูดถึงประติมากรรมก็ต้องนึกถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แล้วถ้าพูดถึงจิตรกรรมล่ะ? ก็ต้องนึกถึงชื่อของคาร์โล ริโกลี่ ชายผู้อยู่เบื้องหลังจิตรกรรมตกแต่งวังเจ้านายหลายต่อหลายที่
ริโกลี่เกิดในแคว้นทัสคานี่ โดยครอบครัวคาดหวังให้เขาเป็นบาทหลวง ทวาตัวเขาเองกลับมีความสนใจในศิลปะมากกว่า ด้วยเส้นทางสายศิลปะทำให้เขาได้พบกับจิตรกรอีกคนหนึ่งอย่างกาลิเลโอ คินี่ และตัดสินใจที่จะเดินทางด้วยกันมาแสวงโชคในสยาม โดยมีงานสำคัญคือการวาดภาพประดับใต้โดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม ก่อนที่จะได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดภาพในสถานที่สำคัญต่าง ๆ เรื่อยมา
โดยริโกลี่ได้ประยุกต์เทคนิคในการวาดภาพแบบตะวันตกเข้ากับธีมเรื่องแบบไทย ๆ ออกมาเป็นภาพจากชาดกและวรรณคดีต่าง ๆ เช่นที่บ้านพิบูลธรรม หรือที่วัดราชาธิวาส เป็นต้น ตลอดจนได้เป็นจิตรกรภาพเหมือนประจำราชสำนักด้วย ก่อนที่จะลากลับอิตาลีไป แต่ถึงแม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงในสยามเพียงใด ทว่าที่อิตาลีกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง เขายังวาดรูปที่เขารักอยู่ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
อ่านเรื่องราวของจิตรกรแห่งราชสำนักสยามผู้ผสานตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกันได้ที่ 👇
4. Joachim Grassi: เอกชนฝรั่งผู้พลิกโฉมสถาปัตยกรรมเมืองไทย
1
ถ้าหากว่ามาริโอ ตามาญโญ เป็นสถาปนิกของรัฐที่มีชื่อเสียงแล้ว ทางฝั่งของเอกชนเองก็คงจะมี “โยอาคิม กรัสซี่” ที่มีฝีมือเก่งกาจไม่ต่างกัน โดยกรัสซี่นับว่าเป็นกลุ่มสถาปนิกกลุ่มแรก ๆ ที่รับงานของรัฐบาลสยาม ตลอดจนมีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมในยุคสยามใหม่มากมายก่อนที่กรมโยธาฯจะถือกำเนิดขึ้นมา
กรัสซี่เกิดในจักรวรรดิออสโตรฮังการี โดยสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวอิตาเลียน ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเขาเดินทางมาแสวงโชคยังเอเชียเมื่อใด แต่ก่อนที่เขาจะมายังสยาม เขาเคยทำงานภายใต้บังคับของฝรั่งเศสในจีนมาก่อน ก่อนที่จะมาแสวงโชคในสยามสมัยปลายรัชกาลที่ 4 โดยกรัสซี่ได้ก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างในสยามร่วมกับพี่น้องของตนเอง คอยรับงานทั้งจากเอกชนอื่น ๆ และจากรัฐบาลในการก่อสร้างสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งวัด, วัง, ที่ทำการรัฐ
ตลอดจนเป็นหุ้นส่วนของบริษัทขุดคลองและคูนาสยามจำกัดที่มีผลงานในการขุดคลองรังสิต ก่อนที่สถานการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 และการกำเนิดของกรมโยธาฯ จะฉุดเขาลงสู่จุดต่ำสุดของชีวิต และบีบให้เขาต้องลาจากสยามซึ่งเป็นบ้านหลังที่สองของเขาไป และกลายเป็นหนึ่งในฝรั่งผู้มีอิทธิพลต่อการสร้างสยามใหม่ที่ถูกลืมและปราศจากการยกย่องเชิดชูเกียรติใด ๆ จากรัฐบาลสยาม
อ่านเรื่องราวของสถาปนิกฝรั่งผู้อาภัพแห่งคาโปดิสเตรียได้ที่ 👇
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
โฆษณา