4 ม.ค. เวลา 13:48 • ไอที & แก็ดเจ็ต
Apple shop Siamparagon

ออกซิมิเตอร์ ตอนที่ 3

(ต่อจากตอนที่ 2)
สงครามสิทธิบัตร
ข้อพิพาทในสิทธิบัตรสมาร์ทวอทช์นั้นไม่ได้มีแค่กรณีระหว่าง แอปเปิลกับมาซิโม ในแต่ละเรือนของ Smartwatch มีสิทธิบัตรใหม่ที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่าหมื่นฉบับ (สำหรับสมาร์ทโฟนมีจำนวนสิทธิบัตรในหลักแสนฉบับ) จึงเลี่ยงได้ยากที่จะเกิดปัญหาว่าสิ่งประดิษฐ์แต่ละชิ้นเป็นผลงานของใคร ซึ่งบางครั้งต่างคนก็คิดได้เหมือนกันโดยบังเอิญ ใครยื่นขอสิทธิบัตรได้ก่อนก็มีสิทธิผูกขาดไป 20 ปี
คู่แข่งสำคัญของแอปเปิล ไม่ว่าจะเป็นฟิทบิท หรือ ซัมซุง ก็มีคดีพิพาทสิทธิบัตรอยู่เช่นกัน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเซนเซอร์ทางสุขภาพ ตรวจวัดข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ใช้ ซึ่งถือเป็นจุดขายของสินค้าชนิดนี้ มีทั้งข้อขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตด้วยกันเอง, กับนักประดิษฐ์อิสระ หรือมหาวิทยาลัย รวมทั้งกับ “นักเรียกค่าไถ่สิทธิบัตร” (patent trolls) ก็มีไม่ใช่น้อย
แต่บริษัทมาซิโม ไม่เข้าข่าย patent trolls แน่นอน แม้จะเป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่โต ยอดขายของทั้งบริษัทน้อยกว่าสินค้า wearables หรือคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ของแอปเปิลแผนกเดียวเป็นสิบเท่าตัว แต่เป็นผู้เล่นตัวจริง ทำพัลส์ออกซิมิเตอร์ขายอยู่แล้ว และมีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการเครื่องมือแพทย์
พัลส์ออกซิมิเตอร์ Masimo Radius รุ่นไร้สาย ใช้ในทางการแพทย์
ทั้งแอปเปิลและมาซิโม มีแผนการเข้าสู่ตลาดสมาร์ทวอทช์ ที่เน้นคุณสมบัติด้านสุขภาพ มาก่อนแล้ว ขณะที่แอปเปิลมี Apple Watch 9 ที่มีพัลส์ออกซิมิเตอร์ มาซิโมก็เปิดตัวสมาร์ทวอทช์ของตน Masimo W1 รุ่นแรกของตนเอง ในปี 2022 ที่มาพร้อมคุณสมบัติการวัดทางสุขภาพมากมายซึ่งเป็นจุดเด่นของตนอยู่แต่เดิม และยังใช้เป็นโทรศัพท์มือถือได้ด้วย
เซนเซอร์วัดออกซิเจนในเลือดทางข้อมือที่นำมาใช้บนสมาร์ทวอทช์ ยังคงเป็นพัลส์ออกซิมิเตอร์ ที่ใช้แสงอย่างน้อยสองความยาวคลื่น ที่ปล่อยจาก LED และมีตัววัดโฟโตไดโอดเช่นกัน แต่มีข้อแตกต่างกับแบบเดิมที่วัดทางปลายนิ้วคือ แสงไม่สามารถส่องทะลุผ่านข้อมือได้เหมือนผ่านปลายนิ้ว จึงต้องวัดแสงที่สะท้อนกลับ หลังจากแสงที่ส่องเข้าไปถูกดูดกลืนด้วยเลือดแดงในชั้นผิวหนังแล้ว
พัลส์ออกซิมิเตอร์ในสมาร์ทวอทช์ เป็นแบบวัดจากแสงสะท้อนที่ข้อมือ
นอกจากปัญหาที่ความเข้มของแสงสะท้อนจากข้อมือ (reflectance) น้อยกว่าแบบที่ส่องผ่านปลายนิ้ว (transmissive) แล้ว ยังเกิดปัญหาแสงลัดวงจร (light piping) สะท้อนกลับเข้าเซนเซอร์โดยไม่ส่องเข้าไปใต้ผิวหนังก่อน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการวัดได้
การลัดวงจรแสง (light piping) ที่สะท้อนผิวหนังแล้วเข้าเซนเซอร์เลย โดยไม่ผ่านเส้นเลือดก่อน
ทั้งแอปเปิลและมาซิโมมีวิธีแก้ปัญหานี้ที่คล้ายกัน สิ่งที่ผู้ใช้จะพบเห็นได้จากด้านหลัง Apple Watch 9 ที่สัมผัสกับข้อมือ คือช่องติดตั้งอีมิตเตอร์ LED 4 ช่อง แต่ละช่องมี LED ปล่อยแสง 3 ความยาวคลื่น ได้แก่ แสงสีเขียวที่ความยาวคลื่นราว 530 นาโนเมตร, แสงสีแดง 660 นาโนเมตร, และอินฟราเรด 850 นาโนเมตร และมีตัวรับแสงสะท้อน 4 จุด แทรกระหว่างอีมิตเตอร์ในแนวทแยงมุม
เนื่องจากเลือดที่มีออกซิเจนกับขาดออกซิเจน ไม่ได้ดูดกลืนแสงสีเขียวแตกต่างกันอย่างชัดเจน LED สีเขียวที่เพิ่มเข้ามานั้น จึงมีไว้เพื่อขจัดสัญญาณหลอกจากการเคลื่อนไหว และใช้วัดชีพจร นอกจากนี้ยังนำค่าการดูดกลืนแสงสีเขียวมาใช้วัดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดได้ด้วย
ไฟแอลอีดี แต่ละตัวนั้น ก็ไม่ได้เปล่งแสงออกมาพร้อมกัน แต่มีการกะพริบสลับกันตามจังหวะ เพื่อขจัดสัญญาณรบกวนจากแสงภายนอก
ค่าการดูดกลืนแสงของเม็ดเลือดแดงที่ความยาวคลื่นต่างๆ
ส่วนปัญหาแสงลัดวงจรนั้นก็ได้ทำให้ช่องอีมิตเตอร์นูนขึ้นเพื่อให้แนบติดผิวหนัง และยังกระจายอีมิตเตอร์และเซนเซอร์เป็น 4 จุด มี LED รวม 12 ตัวเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ผิวหนังของข้อมือได้กว้างขึ้น
มาซิโมเห็นว่าการติดตั้งพัลส์ออกซิมิเตอร์ในแอปเปิลวอทช์ละเมิดสิทธิบัตรของตนหลายฉบับ และยังฟ้องว่าแอปเปิลละเมิดความลับทางการค้า จากการซื้อตัววิศวกรของตนไป แอปเปิลก็กล่าวหาว่ามาซิโม W1 ละเมิดสิทธิบัตรสมาร์ทวอทช์ของตนเช่นกัน
ตำแหน่งของอีมิตเตอร์ และเซนเซอร์รับแสง ที่ด้านหลังของ Apple Watch
กรณีพิพาททางสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกานั้น มีช่องทางการต่อสู้รักษาสิทธิ หลายแบบคือ
1. การฟ้องศาล ซึ่งเป็นวิธีการที่เดิมพันสูง กว่าจะทราบผลขั้นสุดท้าย ก็ใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งแอปเปิลและมาซิโม ต่างก็มีสิทธิบัตรของตน และฟ้องกันไปมาอยู่ในศาลแล้วทั้งสองฝ่าย คดียังไม่ถึงที่สุด ผลออกมาเป็นไปได้หลายแบบ เช่น ถ้าละเมิดสิทธิบัตรจริงก็ถูกสั่งห้ามขาย และต้องค่าชดใช้เสียหาย หรือสิทธิบัตรที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนอาจถูกเพิกถอนเองก็ได้
2. วิธีที่มาซิโมใช้ คือให้บริษัทลูก Cercacor laboratories ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ กึ่งบริหาร กึ่งตุลาการ ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลสหรัฐ (ปัจจุบันมีกรรมาธิการ 4 คนจากที่มีได้ 6 คน) เกิดขึ้นมาร้อยกว่าปีแล้วเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ว่าผลิตภัณฑ์แอปเปิลวอทช์ละเมิดสิทธิบัตรหลายฉบับของตน
ซึ่งก็ได้ผล ITC เห็นว่าแอปเปิลละเมิดสิทธิบัตรฉบับหนึ่งของมาซิโม สั่งห้ามนำเข้าสินค้าแอปเปิล หลายคนเข้าใจผิดว่าห้ามขาย แต่ ITC ไม่มีอำนาจไปห้ามขายสินค้าที่มีอยู่ในคลังแล้ว เป็นการระงับของแอปเปิลเอง และต่อมาก็กลับมาขายตามเดิม หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ระงับคำสั่งห้ามของ ITC ไว้ก่อน
มาซิโมเลือกทำเช่นนี้ได้เพราะรู้ว่าสินค้าแอปเปิลผลิตในต่างประเทศ (แอปเปิลวอทช์ทำในเวียดนาม) ส่วนแอปเปิลใช้วิธีนี้ไม่ได้เพราะมาซิโมผลิตในสหรัฐ
คำตัดสินของ ITC สามารถถูกวีโตได้โดยอำนาจประธานาธิบดี ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2013 เมื่อบารัค โอบามา ยกเลิกคำสั่งของ ITC ในกรณีพิพาทระหว่างซัมซุง กับแอปเปิล แต่คราวนี้เป็นคดีระหว่างบริษัทอเมริกันด้วยกันเอง โจ ไบเดน จึงไม่ได้แทรกแซง และว่ากันว่าคิอานีนั้นบริจาคเงินให้กับโจ ไบเดนไม่น้อย
3. วิธีที่แอปเปิลเคยใช้ คือคัดค้านต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร หรือ PTAB (Patent Trial and Appeal Board) ซึ่งเป็นกลไกภายในของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐ (USPTO) ที่เพิ่งตั้งขึ้นในยุคโอบามา เพื่อให้ทบทวนการออกสิทธิบัตร แต่ค้านแล้วไม่ได้ผล PTAB ไม่เห็นด้วยกับแอปเปิล มาซิโมเองก็เคยค้านสิทธิบัตรของแอปเปิลต่อ PTAB ไม่ได้ผลเช่นกัน
Apple Watch ที่มี pulse oximeter สำหรับวัดค่า SpO2
จากข้อกล่าวหาต่อ ITC ที่ว่าแอปเปิลละเมิดสิทธิบัตรของมาซิโม หลายฉบับนั้น ITC ตัดสินมาว่า ละเมิดอยู่ฉบับเดียว คือสิทธิบัตรของมาซิโม หมายเลข US 10,945,648 B2
ถ้าลองดูสิทธิบัตรฉบับที่แอปเปิลถูก ITC ตัดสินว่าละเมิดนั้น หลายคนคงแปลกใจว่า แอปเปิลวอทช์ ไปละเมิดได้อย่างไร ประการแรก หน้าตาของแอปเปิลวอทช์ไม่เหมือนรูปในสิทธิบัตรเลย ซึ่งดูจะเป็นเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วแบบเดิมมากกว่าสมาร์ทวอทช์
สิทธิบัตรของมาซิโม หมายเลข US 10,945,648 B2
อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าสิทธิบัตรจะครอบคลุมอะไรบ้าง ต้องไปดูที่ข้อความในข้อถือสิทธิ (claim) ที่กำหนดขอบเขตเอาไว้เป็นหลัก ไม่ได้ดูจากรูปประกอบ ซึ่งสิทธิบัตรฉบับนี้ได้อธิบายลักษณะพิเศษเอาไว้แล้วเพียงว่า คือ “อุปกรณ์ที่สวมใส่โดยผู้ใช้” (user-worn device) ซึ่ง
- ใช้อีมิตเตอร์ LED อย่างน้อยสามความยาวคลื่น และ เซนเซอร์วัดแสง (photodiode) จำนวนอย่างน้อย 4 ชุด แบ่งเป็น 4 ส่วนย่อย (ควอดแรนท์) สำหรับการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดโดยไม่รุกล้ำร่างกาย
- มีการจัดตำแหน่งให้เซนเซอร์วัดแสงอยู่ข้างเดียวกับอีมิตเตอร์ ซึ่งหมายถึงใช้ระบบการสะท้อนแสง ไม่ใช่การส่องผ่านนั่นเอง
- มีส่วนนูนที่ลบคม เพื่อการแนบติดกับผิวหนัง ลดแสงลัดวงจร (light piping)
ITC พิจารณาเห็นว่า Apple Watch มีคุณสมบัติเหล่านี้ ที่เขียนไว้ในสิทธิบัตรแล้วครบหมด จึงถือเป็นการละเมิด จะเห็นว่าสิทธิบัตรไม่ระบุด้วยซ้ำว่าแสงสีอะไรบ้าง ไม่ได้บอกว่าผู้ใช้จะสวมใส่ที่นิ้วหรือข้อมือ หรือแม้แต่คำว่าพัลส์ออกซิมิเตอร์ก็ไม่มีบอกไว้
ส่วนสิทธิบัตรการประมวลผลสัญญาณ เพื่อลดสัญญาณหลอกจากการเคลื่อนไหว อันเป็นจุดเด่นของมาซิโมนั้น ITC ไม่ได้ตัดสินว่าละเมิด เพราะเป็นสิ่งที่บอกได้ยาก เช่นเดียวกับกรณีความลับทางการค้า ก็ไม่ได้ตัดสินว่าแอปเปิลมีความผิด
ปัญหาการละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิลวอทช์ จึงเป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ภายนอกล้วนๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการอัพเดทซอฟแวร์ หากจะไปลดจำนวนเซนเซอร์หรือไม่ให้มีออกซิมิเตอร์เลย ความสามารถที่เป็นจุดขายก็จะหายไป (แอปเปิลวอทช์รุ่นที่ไม่มีออกซิมิเตอร์นั้นมีอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหาอะไร) เพิ่มจำนวน LED ก็ไม่ได้เพราะสิทธิบัตรเขียนไว้ว่า อะไรที่ “อย่างน้อย 3 ความยาวคลื่น 4 ชุด” ถือว่าละเมิดหมด
ข้อสงสัยอีกอย่างคือ มาซิโม ยื่นคำขอสิทธิบัตรนี้ หลังการเปิดตัวของแอปเปิลหรือเปล่า
ข้อความในสิทธิบัตร US 10,945,648 ที่เป็นปัญหา ระบุว่าวันยื่นคำขอคือ 24 กันยายน 2020 หลังจากที่เปิดตัวแอปเปิล วอทช์ ซีรีส์ 6 แล้ว แต่กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐยังหลงเหลือเอกลักษณ์แปลกประหลาดไม่เหมือนที่ไหนอยู่อย่างหนึ่ง คือสามารถยื่นคำขอแบบ “Continuation” ได้ คือยื่นคำขอใหม่เพื่อแก้ไขความคุ้มครองตามรายละเอียดเดิมที่เคยยื่นเอาไว้ แต่ยังไม่ออกสิทธิบัตร โดยให้นับวันยื่นคำขอเดิมครั้งแรกเป็นวันเริ่มความคุ้มครองได้ด้วย
(กฎหมายไทยหรือที่อื่นๆในโลกไม่มีแบบนี้)
สิทธิบัตรของมาซิโม ฉบับนี้ ก็เป็นการยื่นแบบ “Continuation” ในวันที่ 24 กันยายน 2020 แต่อ้างสิทธิเดิมย้อนหลังไปถึงปี 2008 ดังนั้นจึงจะหมดอายุในปี 2028 ซึ่งก็เป็นข้อต่อสู้หนึ่งที่แอปเปิลจะต้องยกมาหักล้างว่าถูกต้องหรือไม่
คดีนี้ต้องดูผลการตัดสินคดีสิทธิบัตรในศาลกันต่อไปในปี 2024 นี้ ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีคล้ายกันเมื่อ ITC สั่งห้ามนำเข้าแอปเปิลวอทช์ 4/5/6 มาแล้ว จากการไปละเมิดสิทธิบัตรของ Alivecor ผู้ผลิตเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ระบบ AI แต่เมื่อแอปเปิลยื่นฟ้องไปยัง PTAB กลับตัดสินว่าให้เพิกถอนสิทธิบัตรของ Alivecor แทน คำสั่งของ ITC จึงต้องเป็นโมฆะไป จนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทกับมาซิโมขึ้นอีก
แอปเปิลก็คงจะต่อสู้คดีต่อไป ในแนวทางที่ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิบัตรที่เป็นปัญหาของมาซิโม เพราะกำหนดขอบเขตที่ครอบจักรวาลกว้างเกินไป และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ขั้นสูง หรือนวัตกรรมเพียงพอที่ควรได้รับสิทธิผูกขาด
ส่วนทางมาซิโม ที่ต้องการส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทวอทช์เช่นกัน โดยการไปซื้อกิจการ Sound United ผู้ผลิตหูฟัง และสินค้าไอทีมาไว้แล้ว แม้ว่าจะมีเซนเซอร์ทางการแพทย์ที่ครบครันเหนือชั้นกว่าแอปเปิลและผู้ผลิตอื่น แต่ตลาด consumer electronics คงต้องการสมาร์ทวอทช์ที่ทำหน้าที่อื่นได้ด้วย ความสามารถทางการตลาดในเวทีนี้ของมาซิโม ก็ยังเป็นรอง
มาซิโมคงจะใช้กลยุทธ์ สู้ไปต่อราคาไป เพื่อแสวงหาความร่วมมือกันในเงื่อนไขที่ได้เปรียบที่สุดมากกว่า ซึ่งโจ คิอานี ซีอีโอผู้ก่อตั้งมาซิโม ก็ประกาศแล้วว่ายินดีเจรจา แต่แอปเปิลไม่ติดต่อมาเอง
smart watch Masimo รุ่น W1
สงครามสิทธิบัตร เป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมายในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่นอกจากจะมีการสร้างนวัตกรรมมากที่สุดในโลกแล้วยังมีกรณีพิพาททางสิทธิบัตรมากที่สุดด้วย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ เครื่องเกี่ยวข้าว จักรเย็บผ้า ฟันปลอม รั้วลวดหนาม หรือเครื่องบิน ก็เคยเป็นประเด็นข้อพิพาทอันโด่งดังมาแล้วทั้งนั้น กฎหมายสิทธิบัตรในอเมริกานั้นมีมาก่อนการเลิกทาส และสิทธิบัตรฉบับแรกที่ออกในอเมริกา (โดยมลรัฐจอร์เจีย) ก็มีก่อนรัฐธรรมนูญของสหรัฐจะมีผลบังคับใช้ด้วยซ้ำ
โฆษณา