10 ม.ค. เวลา 21:24 • ครอบครัว & เด็ก
บ้านนาสีนวล

สามเณรฝึกตน สร้างปิติในหมู่ญาติ

ถึงเป็นแค่สามเณร ก็มีอานิสงส์มากนะ แม้แต่ในอดีตพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ประกาศศาสนาพุทธ เริ่มศรัทธาจากการที่ได้เห็น “สามเณรนิโครธ” คือผู้ฝึกตนมาดีจนทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จารึกคำสอนของพุทธะบนเสาอโศก 84,000 ต้น เผยแพร่ไปทั่วโลก
ผมว่า “บารมี” อาจไม่ไช่การบวชบำเพ็ญนานเสมอไป แต่การฝึกตนให้เลื่อมใส สำคัญมากในการสร้างความศรัทธาให้กับ อุบาสก อุบาสิกา อย่างเช่นสามเณรเจมส์ ผู้แสดงให้คุณย่าและผมได้อนุโมทนา ในช่วงมาเยี่ยมย่ามะลิ 9-10ม.ค.67
ได้พูดคุยกับสามเณรน้องเจมส์ ลูกของพี่ชายผมเองครับ (เป็นโยมน้าโม) เริ่มต้นคำถามแรกคือบวชอยู่ไหนได้กี่พรรษาแล้ว “บวชอยู่ศูนย์ปฏิบัติธรรมลำดวนสวรรค์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้วครับ” เณรตอบ
เณร กับ พ่อ
สามเณรได้สอนผมว่า “เณรใช้หน่วยนับเวลาบวชเป็น ปี ไม่ใช่พรรษาเหมือนพระครับ” ผมก็พึ่งรู้ “ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ ป.4 จะขึ้น ป.5 ครับ”
ผมถามเณรต่อว่า “อยากลาสิกขาไหม”
เณรหยุดคิด เหมือนไม่เข้าใจความหมาย ส่งยิ้มพร้อมกับบอกว่า “ไม่รู้” ฮาาา…
ผมว่าเป็นคำตอบที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นความอัศจรรย์ต่างจากเด็กทั่วไป แท้จริงแล้ว สามเณร แปลว่า เหล่ากอของสมณะ หน่อเนื้อของสมณะ
.
คิดย้อนกลับเหมือนมี “อายตนะ” ดึงดูด ให้น้องเณรมาพบครูดีอย่างสำนักวัดพระธรรมกาย เหมือนกับที่น้าโมมีโอกาสได้ฝึกมา
แต่มีอีกคนปลื้มมากคือ ”คุณย่ามะลิ“ บอกกับผมว่า “น้ำตาแม่แทบไหล มีความปิติทุกครั้งที่ได้เห็นสามเณร โดยเฉพาะตอนครองจีวร สง่างามมาก”
วันนี้คือศีลใหญ่ (วันพระ) นิมนต์เณรไปฉันข้าวเช้าที่วัด ยิ่งทำให้ย่าลิยิ้มไม่หุบ บอกกับผมว่า “มีความสุขที่สุด ตายตาหลับ แม่มักพอใจคัก” หลังจากผู้ที่มาทำบุญเลื่อมใส เห็นอิริยาบถสงบ เป็นผู้ฝึกฝนตนเองมาดี
คงไม่มีใครรู้สึก ”ซาบซึ้ง“ ในบุญนี้ เท่ากับพ่อและแม่ เป็นผู้กำเนิดสามเณรให้ได้รับโอกาสทางธรรม
ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่เยาว์วัย ต้องเป็นผู้สั่งสมบุญเก่ามาในอดีตไว้ดีแล้ว จึงได้มีโอกาสมาบวชฝึกฝนตนเอง ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โยมน้าโม อยากบอกว่า ”ขอให้มีบุญบวชวันต่อวันนะ ไม่มีเมื่อวานและไม่มีพรุ่งนี้ เหมือนคำตอบไม่รู้ว่าจะสิกวันไหน“
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ผมเข้าใจเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น รู้สึกซาบซึ้งกับคำที่ว่า ”ถ้าไม่ฝึกตน จะเป็นคนได้อย่างไร“
ขอให้มีโอกาสได้อุปัฏฐากอีกครั้ง…
โฆษณา