Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โรงพยาบาลเอกชัย
•
ติดตาม
11 ม.ค. เวลา 09:45 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเอกชัย
โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกกันว่า ปอดบวม
เป็นการอักเสบของเนื้อปอดที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะปอดอักเสบจากการติดเชื้อในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ บางครั้งการติดเชื้ออาจรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
🌷 สาเหตุของโรคปอดอักเสบมีอะไรบ้าง ?
เกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่
1. ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อจากที่ชุมชนทั่วไป หรือจากภายในโรงพยาบาล
2. ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิด ก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้
🍂 การติดต่อของโรคปอดอักเสบ เช่น
👉 การไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง
👉 การสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร กรณีนี้พบได้ในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
👉 การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อที่อวัยวะอื่นนำมาก่อน เช่น ผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ หรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานานๆ
👉 การลุกลามจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด
👉 การทำหัตถการบางอย่างในโรงพยาบาล เช่น การส่องกล้องหลอดลม (bronchoscopy) การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือทดสอบสมรรถภาพปอด หรืออุปกรณ์ให้ความชื้นในรูปฝอยละออง (nebulizer) ที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือแม้แต่การได้รับเชื้อผ่านทางมือของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดก็ทำให้เกิดปอดอักเสบได้
🌟 การป้องกันโรคปอดอักเสบ 🌟
ฉีดวัคซีนป้องกันโรค แพทย์แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งหมายถึง เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ฉีดวัคซีนที่ให้ผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อซึ่งได้แก่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine)
สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส โดยวัคซีนนี้ มี 2 ชนิด คือ
- วัคซีนแบบโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) สำหรับฉีดในผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้สูงอายุ โดยควรฉีดซ้ำหลังจากเข็มแรก 5 ปี
- วัคซีนแบบคอนจูเกต (Conjugate) แบ่งออกเป็นชนิดป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 7 สายพันธุ์ (PCV7), 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ 13 สายพันธุ์ (PCV13) ทั้งสามชนิดได้รับการรับรองให้ฉีดป้องกันเชื้อในเด็กตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ – 5 ปี ยกเว้นวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองให้ฉีดในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอายุ 50 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบพร้อมกันในวันเดียวได้ โดยฉีดคนละแขนและเป็นการฉีดแบบผู้ป่วยนอก หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดเล็กน้อยแต่จะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน
🏥 ข้อปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคปอดอักเสบ 🏥
💬 ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด
💬 ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น
💬 หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
💬 เมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หายขาดแต่เนิ่นๆ
💬 สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
💬 ไม่ดื่มสุรามากจนมึนเมาเพราะอาจสำลักเอาเชื้อโรคจากปากเข้าปอด
สุขภาพ
ความรู้รอบตัว
ไลฟ์สไตล์
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย