11 ม.ค. เวลา 17:30 • ประวัติศาสตร์

แบบเรียนภาษาไทยในตำนาน มานะ มานี ปิติ ชูใจ

ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติของประเทศไทย ที่กำลังจะเวียนมาบรรจบในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม หลังปีใหม่ผ่านไปกว่าสองสัปดาห์
เราจะมาย้อนวัยเด็กประถม ด้วยแบบเรียนภาษาไทยสุดคลาสสิก ที่เด็กๆ ในยุคปลายทศวรรษ 1970s จะคุ้นเคยกันดี แต่ถ้ายุคหลังๆ จะเป็นแก้วกับกล้า ต่อด้วยภาษาพาที วรรณคดีลำนำ
ก็คือแบบเรียนชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ นั่นเอง
หนังสือเรียนในตำนาน มานะ มานี ปิติ ชูใจ นี้ ถือเป็นหนังสือเรียนเล่มแรกที่ทำให้เราได้เรียนรู้ภาษาไทย เริ่มจากการใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจความในการเรียนภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ การอ่านออกเสียง บวกกับเรื่องราวที่สนุกสนานของ มานะ มานี ปิติ ชูใจ
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ บทเรียนก็มีการพัฒนาเนื้อหามากขึ้น ถึงแม้หนังสือเรียนบทนี้จะหายไปแล้ว แต่หลายคนก็ยังคงจดจำเรื่องราวน่ารัก ความรู้ของบทเรียนในตำนานนี้ได้ขึ้นใจอยู่ดี บางที่ได้นำรูปภาพ มานะ มานี ปิติ ชูใจ มาทำใหม่ เพิ่มข้อความสอนใจ ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้กัน เป็นต้น
มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1–6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 เขียนเรื่องโดย อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ และมีรูปภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล
จุดมุ่งหมายสำคัญของการเขียนหลักสูตรแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้ เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขว่า "ต้องให้เด็กๆ อ่านแล้วรู้สึกสนุก ติดใจ อยากเรียนภาษาไทย ภาษาเขียนต้องสุภาพ เป็นเรื่องที่ดี บริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัย ในแต่ละชั้นเรียนจะได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ เพิ่มขึ้นในแต่ละปีการศึกษา”
ที่มาของแบบเรียน เริ่มจากที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าแบบเรียนภาษาไทย ชุดที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย จึงต้องการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยวางวัตถุประสงค์ให้นักเรียนอ่านแล้ว มีความรู้สึกสนุกสนาน เพื่อกระตุ้นให้อยากเรียนภาษาไทย แบบเรียนชุดนี้ ใช้เวลาเขียนอยู่นานกว่า 4 ปี มุ่งให้ความรู้ทางภาษาไทย ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน หลังจากนั้นจึงนำมาปรับปรุง และทดลองใช้เรียนจนแน่ใจว่า เนื้อหาที่นักเรียนประถมทั้งประเทศ ต้องอ่านเพื่อใช้ศึกษา เป็นเรื่องราวอันบริสุทธิ์ดีงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย
โดยกำหนดจำนวนคำ ให้เรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ทั้งนี้ เมื่อแรกเผยแพร่ยังไม่มีชื่อ แต่ อ.รัชนี ซึ่งผู้เขียนเล่าว่า มีผู้เรียกอย่างลำลองว่า ตำนานเด็กดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกแบบเรียนชุดนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย
การคิดเนื้อหา อ.รัชนีเห็นว่า เด็กชอบสัตว์เลี้ยง จึงเป็นที่มาของตัวละครที่มีสัตว์เลี้ยง มานะ มานี เป็นพี่น้องกันที่มีเจ้าโต (สุนัข) และต่อมามีนกแก้ว ชูใจมีแมว วีระมีเจ้าจ๋อ (ลิง) ปิติมีเจ้าแก่ (ม้า) และอ.รัชนี เคยให้สัมภาษณ์กับ วราภรณ์ สมพงษ์ ผู้สื่อข่าวของไอทีวีว่าฉากทั้งหมดที่เกิดในเนื้อเรื่องนั้น จำลองมาจากสถานที่ ๆ มีอยู่จริง คือ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เนื่องจาก อ.รัชนี ชื่นชอบบรรยายกาศของสถานที่นั้น
มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น
สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ
ตัวละครหลายๆ ตัว ที่อยู่ในแบบเรียนชุดนี้ ล้วนมีนามสกุลปรากฏในเรื่องด้วย เช่น มานะ และมานี รักเผ่าไทย, ปิติ พิทักษ์ถิ่น, วีระ ประสงค์สุข, ดวงแก้ว ใจหวัง และชูใจ เลิศล้ำ เป็นต้น
"มานะ" เป็นเด็กเรียนดี และเป็นคนเดียวในเรื่องที่ได้ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่กรุงเทพฯ ส่วน "มานี" ตอนที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานนักเรียนของโรงเรียน
ครั้งหนึ่ง "ปิติ" เคยถูกสลากออมสินเป็นเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ซึ่งเงินส่วนนี้เขาได้นำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่และตั้งชื่อให้ว่าเจ้านิล ซึ่งทดแทนเจ้าแก่ที่ตายไป
"ชูใจ" อยู่กับย่าและอามาตั้งแต่เล็ก โดยที่เธอไม่รู้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับพ่อและแม่แท้ๆ ของเธอเลย ความจริงก็คือ พ่อของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ชูใจอายุ 1 ขวบ ส่วนแม่ก็อาศัยอยู่ต่างประเทศ ในตอนท้ายของแบบเรียน แม่ของชูใจบินกลับมารับให้ชูใจไปอยู่ด้วยกัน แต่ชูใจเลือกที่จะอยู่กับย่า ซึ่งเลี้ยงตนมาตลอดตั้งเด็ก
"วีระ" จัดเป็นเด็กที่ค่อนข้างอาภัพ พ่อของเขาเป็นทหารและตายในสนามรบตั้งแต่ วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ของเขาก็ตรอมใจตายตามพ่อเขาไปหลังจากที่คลอดวีระได้ 15 วัน ชีวิตทั้งหมดของวีระจึงอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด
"เพชร" มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนบ้านเกิดของ "ดวงแก้ว" อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
บทบาทของ "จันทร" ที่คนส่วนใหญ่จำได้คือ เด็กหญิงที่มีขาพิการ แต่น้อยคนจะทราบว่าตอนท้ายของเรื่อง เธอได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลง"ความฝันอันสูงสุด" และยังอ่านทำนองเสนาะหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้แพทย์หลวงรับตัวไปรับการผ่าตัดขาที่กรุงเทพฯ จนหายเป็นปกติ
ถึงแม้ว่าแบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ ที่เป็นหลักสูตรใช้กันในห้องเรียน ถูกยกเลิกไปถึง 30 ปีเต็มๆ (ยกเลิก พ.ศ. 2537)
ตำนานของแบบเรียนชุดนี้ ก็ยังไม่ได้เลือนหายไปไหน มีการนำมาสร้างสรรค์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ ที่ร่วมสมัย เช่น วรรณกรรม บทเพลง การ์ตูนล้อเลียน จนกระทั่งราวๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กระทรวงศึกษาธิการได้นำแบบเรียนชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ มาจัดพิมพ์ใหม่สำหรับอ่านเพิ่มเติมนอกเวลาเรียนอีกด้วย
โฆษณา