17 ม.ค. 2024 เวลา 18:27 • ประวัติศาสตร์

คำว่า ชโย ไชโย มีที่มาจากพิธีบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี

เจดีย์ยุทธหัตถี เป็นเจดีย์ที่ถือกันว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำยุทธหัตถีชนะมังสามเกียด พระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ที่ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี
เวลาผ่านไป มีข้อสันนิษฐาน ข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถี ยังคงเป็นประเด็นมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
มีเกร็ดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถี สุพรรณบุรี หลังจากที่มีการค้นพบมาใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2456 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสืบค้นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา และทรงสร้างเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ตามที่ปรากฎในพระราชพงศาวดาร นั่นก็คือที่ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี
เมื่อความทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) แล้ว พระองค์จึงเสด็จพร้อมด้วยกองเสือป่าไปที่เจดีย์ยุทธหัตถีดังกล่าว และทรงนำกองเสือป่าทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ สถานที่แห่งนั้น
คำว่า ชโย ไชโย มีที่มาจากคำว่า ชัยชนะ หรือ ชัย เป็นคำที่เราคนไทยรู้จักเป็นอย่างดี แต่เดิมคนไทยใช้วิธี “โห่” โดยมีต้นเสียงเป็นผู้นำร้องโห่ และผู้ร่วมชุมนุมแสดงความยินดีร้องรับ “ฮิ้ว” พร้อมเพรียงกัน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ยังได้ทรงใช้คำว่า ชโย ลงไปในเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี แทนคำว่า ฉะนี้ ซึ่งที่มาก็มาจากวันบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถีเช่นกัน
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ทรงพระราชดำริคำว่า "ชโย" ขึ้นนั้น เริ่มขึ้นเมื่อประทับแรมที่กำแพงแสนในคืนวันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2456 ซึ่งเป็นคืนที่ 2 นับแต่เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระราชวังสนามจันทร์ ทรงเรียกเสือป่าและลูกเสือมาประชุมพร้อมกันที่หน้าพลับพลาที่ประทับ แล้วเสด็จลงทรงจุดธูปเทียนบูชาระแล้วทรงนำสวดมนต์ เริ่มด้วย อรหํ สมฺมา ฯลฯ แล้วสวดอิติปิโสกับคำนมัสการคุณานุคุณคำไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
เมื่อสวดมนต์จบแล้ว เสือป่าร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเป่าแตรยาวคำนับเป็นจบการนมัสการ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือแยกย้ายกันไปพักผ่อน
คงจะเป็นเพราะเสือป่าและลูกเสือต่างก็มีบทร้องต่างกันตามเหล่าของตน เมื่อมาร้องพร้อมๆ กันจึงเกิดลักลั่นกันจนฟังไม่ได้ศัพท์ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องสรรเสริญพระบารมีขึ้นใหม่ ดังที่ได้ใช้กันสืบมาจนถึงทุกวันนี้ เฉพาะอย่างยิ่งในวรรคท้ายของบทร้องสรรเสริญพระบารมีที่เดิมร้องกันว่า "ดจถวายไชย ฉะนี้" แต่ฟังไปฟังมากลับกลายเป็น "ดุจถวายไชย ชะนี" แทนนั้น ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์แก้เป็น "ดุจถวายไชย ชโย" คำว่า "ชโย"
และได้โปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือที่ตามเสด็จไปในคราวนั้นร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีบทที่ที่ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2456 จึงกล่าวได้ว่า คำว่า "ชโย" ได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในวันเดียวกันนั้น
1
อนึ่งเมื่อทรงนำเสือป่าและลูกเสือกระทำพิธีบวงสรวงสังเวยพระเจดีย์ยุทธหัตถีในวันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2456 เสร็จแล้ว ได้เสด็จขึ้นประทับบนเกยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือ กับทหารและตำรวจภูธรที่ได้ร่วมในพิธีบวงสรวงสังเวย เดินสวนสนามผ่านหน้าที่ประทับ รับพระราชทานน้ำมนต์ที่ได้จากน้ำทรงสรงพระไชยนวโลหะ ทรงประพระราชทานแล้ว เสือป่า ลูกเสือ ทหารและตำรวจภูธรต่างร้อง “ไชโย” เป็นคำอวยไชยแทนการโห่และรับฮิ้ว 3 ลาอย่างแบบเดิม
ต่อจากนั้นได้ทรงนำคำ "ชโย" นั้นมาใช้กับการแสดงโขน ซึ่งแต่เดิมมานั้นเวลายกทัพออกมานั้น เมื่อขึ้นเพลงกราวรำ แล้วทั้งทั้งสองฝ่ายจะโห่แล้วรับฮิ้วฝ่ายละสามลานั้น ได้ทรงแก้ไขใหม่เป็นว่า เมื่อต้นเสียงฝ่ายพระรามโห่ขึ้นแล้ว ให้พลลิงรับว่า "ชโย" แทน ส่วนฝ่ายทศกัณฑ์ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรมนั้น คงโห่ แล้วรับฮิ้ว 3 ลาตามเดิม คำว่า "ชโย โห่ฮิ้ว" จึงมีที่มาฉะนี้
แหล่งที่มาและเรียบเรียง https://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal29.htm
โฆษณา