21 เม.ย. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

วุฒิภาวะของหัวหน้ากับการลาออกของลูกน้อง

เมื่อมีการรับเข้าทำงานก็ย่อมจะต้องมีการลาออกเป็นของคู่กัน
สาเหตุการลาออกก็หลากหลายตามแต่คนที่ลาออกจะบอกว่าเพราะอะไรไม่ว่าจะเป็นลาออกเพราะต้องการความก้าวหน้า, ศึกษาต่อ, ไม่พอใจหัวหน้า, อยากจะหาสิ่งใหม่ ๆ ทำ ฯลฯ จริงบ้างไม่จริงบ้างก็แล้วแต่คนลาออกจะระบุเหตุผล
เพราะลูกน้องที่ลาออกก็ไม่อยากจะจะให้เหตุผลที่ Real จนเกินไปเช่นทนพฤติกรรมบ้าอำนาจของหัวหน้าไม่ไหว
แต่ครั้นจะตอบอย่างนั้นไปใน Exit Interview เดี๋ยวเวลาบริษัทใหม่เช็คประวัติกลับมาจะได้คำตอบจากหัวหน้าเก่าไม่สวย ก็เลยใส่ไปว่าศึกษาต่อบ้าง, ต้องการความก้าวหน้าบ้างก็ว่ากันไป
ในเรื่องการลาออกนี้ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคนที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บริหารก็คือ....
การลาออกของลูกน้องจะเป็นตัววัดวุฒิภาวะผู้นำของหัวหน้าได้ด้วยนะครับ
หัวหน้าประเภทแรกเมื่อลูกน้องมายื่นใบลาออกก็จะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล มีความเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตคนทำงาน เข้าใจว่าลูกน้องก็อยากจะมีทางเดินใหม่ และอยากจะรู้สาเหตุการลาออกของลูกน้องอย่างจริงใจ
หัวหน้าประเภทนี้ต้องการจะทราบปัญหาเพื่อนำมาหาทางป้องกันแก้ไขสำหรับลูกน้องที่ยังอยู่เพื่อลดการลาออกลงถ้ายังอยู่ในวิสัยที่หัวหน้าจะแก้ไขได้
ยิ่งเป็นลูกน้องที่ทำงานดีมีฝีมือแล้วมายื่นใบลาออก หัวหน้าประเภทนี้จะพยายามพูดจาโอ้โลมปฏิโลมเพื่อดึงลูกน้องเอาไว้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วลูกน้องยังยืนยันเจตนาลาออกก็จะอวยชัยให้พรเลี้ยงส่งลูกน้องด้วยความเสียดายแถมมีน้ำตารื้นน้ำตารินว่าหัวหน้าและทีมงานเสียดายว่าลูกน้องคนนี้จะต้องลาออกไป
ถ้าเป็นการลาออกในแบบนี้มักจะพบว่าทั้งหัวหน้าและลูกน้องก็ยังมีการติดต่อสื่อสารกันต่อไปด้วยสัมพันธภาพที่ดีไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในกลุ่มไลน์หรือเฟซบุ๊ก หรือยังมีการนัดพบปะสังสรรค์กันช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกาลข้างหน้าต่อไป
หรือเผลอ ๆ ลูกน้องที่ลาออกไปก็อาจจะกลับมาเป็นลูกน้อง (หรือบางทีก็กลายเป็นหัวหน้า) ของหัวหน้าในอนาคตก็มีนะครับ
 
ถ้าใครได้หัวหน้าแบบนี้ก็ถือว่าทำบุญมาดีครับ เพราะได้หัวหน้าที่มีวุฒิภาวะที่ดีเข้าใจสัจธรรมและโลกธรรม 8
 
แต่....
ยังหัวหน้าอีกประเภทหนึ่งไม่ยักกะเป็นเหมือนกับประเภทแรกแต่กลับทำตรงกันข้าม !
เมื่อลูกน้องมายื่นใบลาออก แทนที่จะพูดคุยกับลูกน้องด้วยดีเพื่อให้รู้ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรกันแน่จะได้นำมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อรักษาคนที่ยังอยู่เอาไว้
กลับมองลูกน้องที่มายื่นใบลาออกในมุมที่ว่าลูกน้องเป็นคนที่ไม่จงรักภักดี, เราอุตส่าห์ประเมินผลงานให้ดี ขึ้นเงินเดือนให้ก็ตั้งเยอะ (ทั้ง ๆ ที่เงินที่ให้ก็เป็นเงินของบริษัทไม่ใช่เงินของหัวหน้าสักหน่อย) รู้อย่างงี้เอาเงินที่จะขึ้นให้เอาไปให้คนอื่นซะยังดีกว่าเอามาให้คนที่ไม่รู้จักบุญคุณหัวหน้า (ว่าไปโน่น)
หัวหน้าประเภทนี้มองลูกน้องที่มายื่นใบลาออกเป็นศัตรูไปเลยครับ !
พฤติกรรมของหัวหน้าประเภทนี้กับลูกน้องจะเปลี่ยนไปทันทีที่ลูกน้องมายื่นใบลาออก ยิ่งเป็นลูกน้องที่มีฝีมือมีศักยภาพหัวหน้าเคยไว้วางใจให้เทใจให้ยิ่งแค้นมาก
ผมเคยเจอหัวหน้าบางคนที่คอยจ้องจองเวรกับลูกน้องที่มายื่นใบลาออก (ล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบบริษัท) ถึงขนาดที่ว่านับจากวันที่ได้รับใบลาออกจากลูกน้อง หัวหน้าก็มาคอยนั่งเฝ้าดูพฤติกรรมของลูกน้องคนนี้ทุก ๆ วันเลยว่าวันนี้กลับบ้านกี่โมงแล้วก็อีเมล์รายงานไปที่ Regional Office ที่ต่างประเทศทุกวัน
เช่น วันที่ 1 พย.กลับบ้านเวลา 17.10 น. วันที่ 2 พย.กลับบ้านเวลา 17.05 น. ทั้ง ๆ ที่เวลาเลิกงานคือ 17.00 น.และงานที่ทำก็เคลียร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่หัวหน้าต้องการจะรายงานให้ Regional Office เข้าใจว่าลูกน้องไม่รับผิดชอบงานพอถึงเวลาเลิกงานก็จ้องแต่จะกลับบ้านเพื่อให้ลูกน้องเสียประวัติกับทาง Regional Office ไปจนถึงวันที่มีผลลาออกก็มีนะครับ
แถมเมื่ออีเมล์รายงานไปที่ Regional Office ที่ต่างประเทศแล้วยัง CC ให้ลูกน้องอ่านเพื่อกดดันให้ลูกน้องเครียดก่อนถึงวันลาออกอีกต่างหาก !
 
ผมถึงได้บอกว่าการลาออกของลูกน้องเป็นเครื่องวัดวุฒิภาวะผู้นำของหัวหน้าได้ตัวหนึ่งไงล่ะครับ
 
และบอกได้เลยว่าถ้าใครได้หัวหน้าที่ขาดวุฒิภาวะแบบนี้ก็คงทำบุญมาไม่ดีแล้วล่ะครับ ได้แต่เอาใจช่วยว่าถ้าลาออกจากหัวหน้าคนนี้ไปแล้วจะไม่ไปเจอหัวหน้าที่ขาดวุฒิภาวะในที่ใหม่อีก
หวังว่าท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้จะทำบุญมาดีได้พบหัวหน้าที่มีวุฒิภาวะที่ดี
และถ้าใครเป็นหัวหน้าผมก็หวังว่าเมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว ท่านจะได้ข้อคิดในการเป็นหัวหน้าที่มีวุฒิภาวะที่ดีสำหรับลูกน้องนะครับ
โฆษณา