ลูนา ยานลำแรกบนดวงจันทร์

ในวันที่ 20 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา (ตามเวลาญี่ปุ่น หรือ 19 มกราคม เวลาสากล UTC) องค์การสำรวจอวกาศ JAXA ของญี่ปุ่นได้ส่งยานอวกาศ SLIM หรือ Moon Sniper ไปลงจอดบนดวงจันทร์ ได้เป็นชาติที่ 5 ของโลก แต่สิ่งที่มักเข้าใจผิดกันก็คือ ชาติแรกที่นำยานลงจอดบนผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จนั้นไม่ใช่สหรัฐอเมริกา
ขั้นตอนการลงจอดบนดวงจันทร์แบบแม่นยำ ของยาน Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) ของญี่ปุ่น
แม้จะทราบกันทั่วไปว่า ยานอพอลโล 11 ขององค์การนาซา นำนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1969 แต่ก่อนหน้านั้นสามปี ยานอวกาศไร้ผู้โดยสาร ลำแรกของมนุษย์ชาติ ที่ลงจอดอย่างนิ่มนวล และส่งภาพถ่ายบนพื้นผิวดวงจันทร์กลับมายังโลกได้ กลับเป็นยานลูนา 9 ของสหภาพโซเวียต ซึ่งออกแบบโดยวิศวกรชาวยูเครน
การแข่งขันสู่ห้วงอวกาศหรือ space race ในยุคสงครามเย็น เริ่มขึ้นไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตล้วนอาศัยประสบการณ์จากอดีตวิศวกรเยอรมันที่เคยสร้างจรวด V2 ให้กับนาซีมาแล้ว โดยสหรัฐได้ตัวแวร์เนอร์ ฟอน บราวน์ หัวหน้าโครงการจรวดนาซีไปร่วมงาน
ส่วนทางโซเวียตก็ได้ผู้ร่วมงานของฟอนบราวน์ไปหลายคนเช่นกัน แต่มีข้อได้เปรียบตรงที่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียได้ศึกษาการส่งจรวดมานานแล้วก่อนการปฏิวัติในปี 1917 เสียอีก ปรมาจารย์ทางวิศวกรรมอวกาศหลายคนเป็นชาวรัสเซีย เช่นชอลคอฟสกี และจูคอฟสกี มีวิศวกรอากาศยานเก่งๆหลายคนแม้จะติดขัดไปบ้างจากการเมืองภายใน
โดยเฉพาะเซอร์เก โคโรเลฟ (1907-1966) จากยูเครน ผู้ที่มาจากครอบครัวแตกแยกในวัยเด็ก และเคยติดคุกสมัยสตาลินอยู่เกือบหกปี แต่สิ่งเหล่านั้นไม่อาจหยุดยั้งความสามารถของเขาให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโครงการอวกาศของโซเวียตในที่สุด
น้อยคนที่จะถูกยกย่องทั้งในรัสเซียและยูเครน อนุสรณ์รำลึกเซอร์เก โคโรเลฟ ชิ้นนี้อยู่ที่สถาบันโพลีเทคนิค อิกอร์ ซิกอร์สกี กรุงเคียฟ
โคโรเลฟ ซึ่งจบจากเคียฟโพลีเทคนิค ที่เดียวกับอิกอร์ ซิกอร์สกี มีส่วนร่วมกับทั้งโครงการ Sputnik 1 ดาวเทียมดวงแรกของโลก เมื่อปี 1957 และภารกิจส่งยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรกขึ้นสู่วงโคจรในปี 1961 มาแล้ว ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีเคนเนดีจะประกาศโครงการส่งคนไปดวงจันทร์ สหภาพโซเวียตได้แซงหน้าอเมริกาในการขับเคี่ยวสู่อวกาศไปแล้วนิดๆ
โซเวียตก็มีโครงการ Soyuz ที่มีเป้าหมายส่งคนไปดวงจันทร์เช่นกัน และได้ชิงตัดหน้าข่มคู่แข่งไปก่อน โดยการส่ง ยานลูนา 2 ไปยังดวงจันทร์ เมื่อเดือนกันยายน 1959 (พ.ศ. 2502) แต่เรียกว่า "ลงจอด" คงไม่ได้ เพราะเป็นการพุ่งชน โดยที่ยานไม่ได้ออกแบบอุปกรณ์การจอดใดๆเอาไว้ กลายเป็นขยะอวกาศชิ้นแรกบนดวงจันทร์
Luna 2 กับลูกบอลอวกาศที่นำขึ้นไปด้วย สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกจากโลก ที่ไปอยู่บนดวงจันทร์
เท่านั้นก็คุยได้แล้วว่า วัตถุชิ้นแรกจากโลกมนุษย์ที่ไปอยู่บนดาวดวงอื่นมีตราค้อนเคียวติดไว้ แต่ด้วยความเร็วกว่า 11,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของการเข้าปะทะกับดวงจันทร์ไม่น่าจะมีชิ้นส่วนใดๆของยานหลงเหลือให้เห็น
เมื่อนิกิตา ครุสชอฟ ไปเยือนอเมริกา สองวันหลังจากปฏิบัติการปาของใส่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ ก็ได้นำแบบจำลอง ลูกบอลโลหะกลมเล็กๆ ที่บรรทุกไปกับยานลูนา 2 ไปมอบให้ (เย้ย) กับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ด้วย
ไอเซนฮาวร์กับลูกบอลอวกาศจำลอง "เพื่อ?" ครุสชอฟ "ก็เอามาฝาก" ทางซ้ายคือรองประธานาธิบดีนิกสัน
ส่วนยานอวกาศซึ่งลงจอดบนพื้นดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อเกือบหกสิบปีที่แล้ว ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1966 (พ.ศ. 2509) คือยานลูนา 9 (Луна-9) ผลงานการออกแบบของโคโรเลฟเช่นกัน แต่เมื่อถึงวันปล่อยจรวดมอลนิยา เพื่อส่งยานจากคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1966 นั้นโคโรเลฟ ได้ด่วนกลับดาวเก่าอย่างกะทันหัน ไม่ทันเห็นความสำเร็จของตัวเอง
ยานลูนา 9 ในเอกสารของโซเวียต
ยานลูนา 9 ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 วันครึ่ง เมื่อเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้แล้ว ก็ค่อยๆหมุนปรับมุมของตัวยานให้ตั้งตรง โดยจัดแคปซูลลงจอดไว้ด้านบน และจรวดขับดัน (thruster) หันลงด้านล่าง
ที่ระดับความสูง 75 กิโลเมตรจากผิวดวงจันทร์ จรวดขับดันที่ใช้ปฏิกิริยาระหว่างเชื้อเพลิงเอมีน (อนุพันธ์ของแอมโมเนีย) กับกรดไนตริก จะทำงาน เพื่อควบคุมตัวยานให้ลดระดับลงช้าๆ จนถึงระยะประมาณ 5 เมตร ถุงลม (airbag) ของยานลงจอดจะพองออก ปลดล็อคแคปซูลลงจอดออกจากตัวยานหลัก
ขั้นตอนการลงจอดของยานลูนา 9
แคปซูลลงจอดทรงดอกบัวจะหลุดออกจากยานหลัก จากด้านบน เด้งไปเด้งมาเหนือพื้นผิวสักพัก จนหยุดนิ่ง เปลือก 4 กลีบของแคปซูลก็จะอ้าออก จากบัวตูมกลายเป็นยานอวกาศทรงดอกบัวบาน โดยใช้กลีบทั้ง 4 เป็นแผ่นฐานพยุงเพื่อให้ยานมีเสถียรภาพ และหันเสาอากาศขึ้นด้านบน
ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านั้นเกรงว่าพื้นผิวดวงจันทร์จะเต็มไปด้วยฝุ่นละอองที่อ่อนนุ่ม จนยานจอดจะจมลงไปข้างล่าง ซึ่งตอนนี้ก็ทราบแล้วว่าผิวดวงจันทร์แน่นหนาพอที่จะรับน้ำหนักยาน ซึ่งเบากว่าบนโลกได้
จากนั้นยานสำรวจก็เริ่มทำการเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ และส่งสัญญาณกลับมายังสถานีภาคพื้นดินในโซเวียต อยู่อีกสามวัน จนพลังงานหมด ปัจจุบันนี้ตัวยานลูนา 9 ก็ยังคงถูกทิ้งไว้ ณ ตำแหน่งเดิมบนดวงจันทร์
ภาพจำลองของแคปซูลลงจอดทรงบัวบาน ของลูนา 9
ปฏิบัติการอวกาศของโซเวียตมักจะถูกปิดเป็นความลับไว้ก่อน จนถึงเวลาที่เหมาะสมค่อยเปิดเผย แต่การลงจอดของลูนา 9 นี้ ทั่วโลกรู้ข่าวก่อนการแถลงอย่างเป็นทางการเสียอีก เมื่อหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งติดตามการส่งยานอวกาศของโซเวียตมาตั้งแต่การส่งดาวเทียมสปุตนิกได้ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นสัญญาณที่ส่งมายังโลก รูปแบบของสัญญาณเหมือนกับมาตรฐานนานาชาติที่ใช้ส่งภาพข่าว เมื่อนำมาถอดรหัสก็พบว่าเป็นภาพถ่ายของผิวดวงจันทร์โดยยานลูนา 9 นั่นเอง
ถึงแม้โซเวียตจะแซงหน้าอเมริกาส่งยานไปดวงจันทร์ได้ก่อน แต่หนังสือพิมพ์ Daily Express ของอังกฤษ ได้ตัดหน้ารัฐบาลโซเวียต ในการนำภาพถ่ายจากยานอวกาศที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลกภาพนี้ ออกมาเผยแพร่ได้ก่อน
สำนักข่าว บีบีซี ได้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ออกแบบยาน จงใจให้สัญญาณภาพถูกดักจับได้ เพื่อให้รู้ว่าผลงานของพวกเขามีตัวตนจริง
หนังสือพิมพ์ Daily Express ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1966 ประกาศความสำเร็จของลูนา 9 ได้ก่อนมอสโก
ในขณะที่เซอร์เก โคโรเลฟมีชีวิตอยู่นั้น โลกภายนอกแทบไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร ตำแหน่งของเขาในโซเวียตถูกระบุเพียงว่าเป็นหัวหน้าวิศวกรออกแบบ เพื่อไม่ให้จารชนอเมริกันเข้าถึงตัว ทั้งที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการอวกาศเกือบทั้งหมดของประเทศ
เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายแล้วเขาจึงกลายเป็นวีรบุรุษทั้งในรัสเซียและยูเครน ส่วนในปัจจุบัน สถานะของเขาในรัสเซียถูกลดความสำคัญลง ด้วยเหตุที่มีชาติกำเนิดจากยูเครน
ภาพแรกในประวัติศาสตร์ของพื้นผิวดวงจันทร์ ถ่ายโดยยานอัตโนมัติลูนา 9
การพิชิตดวงจันทร์ของยานลูนา 9 เกิดขึ้น 3 เดือนก่อนยาน Surveyor 1 ของสหรัฐจะลงจอดบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก และ 3 ปีก่อนความสำเร็จของยานอพอลโล 11 ถึงตอนนั้นโซเวียตก็ทำคะแนนนำหน้าอเมริกาไปแล้ว ทั้งผลงานของยาน สปุตนิก,วอสตอค,โซยุส,ลูนา 2 และลูนา 9 ฯลฯ
แต่อเมริกาก็มาแซงกลับม้วนเดียวจบ ด้วยผลงานส่งคนไปดวงจันทร์และกลับถึงโลกโดยสวัสดิภาพของยานอพอลโล เป็นผลสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทำเอาผลงานของโซเวียตที่ทำได้ก่อนหน้านั้นทุกชิ้น กลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย
จรวด molniya ที่ใช้ส่งยานลูนาไปดวงจันทร์ ระหว่างการติดตั้ง ที่ท่าอวกาศยานไบโคนูร์ ในคาซัคสถาน
ทำไมการส่งคนไปดวงจันทร์ถึงยากกว่าส่งยานอัตโนมัติหลายเท่า ?
ประเด็นสำคัญอยู่ที่น้ำหนักยานที่จะส่งคนไปลงและนำกลับมาโดยสวัสดิภาพนั้นมากกว่าหลายเท่าตัว กำลังขับดันของจรวดส่งยานที่มีขนาดใหญ่กว่าก็ต้องมากตามไปด้วยเป็นทวีคูณ ยานลูนา 9 นั้นมีน้ำหนักตัวตอนส่งขึ้นสู่อวกาศ (launch mass) ไม่ถึง 1.6 ตัน (ยานแคปซูลที่ลงจอดหนักเพียง 99 กิโลกรัม) ขณะที่ยานอพอลโล 11 อยู่ที่เกือบ 50 ตัน
สหภาพโซเวียตยังพัฒนาจรวดใหญ่โตขนาดนั้นไม่สำเร็จ หลายฝ่ายเห็นว่าการสูญเสียผู้นำที่มีความสามารถเช่นเซอร์เก โคโรเลฟ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โซเวียตถูกอเมริกาพลิกกลับมาแซง
ยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ กับโคโรเลฟ (หันหลัง)
หลังจากยุคของโคโรเลฟแล้ว โครงการส่งคนไปดวงจันทร์อยู่ในมือของวาเลนติน กลุชโก ซึ่งมาจากยูเครนเช่นกัน และเคยร่วมงานกันมาก่อน แต่กลุชโกไม่ถูกกับโคโรเลฟ เขาได้ปรับแก้การออกแบบเดิมของโคโรเลฟหลายอย่าง แต่จรวดยักษ์ N1 ก็ยังระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่เคยขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ
จากการเสียหน้าที่ถูกอเมริกาส่งคนไปดวงจันทร์ได้ก่อน และเกิดอุบัติเหตุทางอวกาศหลายครั้ง หมดเงินไปมหาศาล โครงการอวกาศของโซเวียตไม่ได้รับความไว้วางใจเหมือนเดิม และถูกลดการสนับสนุนจากรัฐบาล
จรวด Starship ของ SpaceX นั้นมีท่อขับดันจำนวนมากคล้ายกับจรวด N1 สมัยโซเวียต (ทั้งสองแบบนี้ยังไม่เคยส่งขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ)
อเมริกาใช้เงินไปกับโครงการอพอลโลทั้งหมด กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในมูลค่าปัจจุบัน คิดเป็นราวๆ 15% ของรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลสหรัฐ แต่สำหรับสหภาพโซเวียตยุคนั้นไม่เหลืองบประมาณมากพอให้ทำตามได้
ลีโอนิด เบรสเนฟ ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำแทนครุสเชฟในปี 1964 หันไปเน้นการช่วยเหลือทางทหารในต่างประเทศ ได้ยกเลิกโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ของสหภาพโซเวียตไปอย่างถาวรในปี 1976 เลยไม่มีนักท่องอวกาศ (cosmonaut) ชาวโซเวียตไปลงบนดวงจันทร์ได้เลยแม้แต่คนเดียว
(มีข้อสังเกตว่า ผู้นำโซเวียตในยุคนั้นล้วนมีความผูกพันกับยูเครน ลีโอนิด เบรสเนฟเกิดในยูเครน เช่นเดียวกับโคโรเลฟ และกลุชโก ส่วนครุสเชฟ ถึงแม้ไม่ใช่ชาวยูเครน แต่บ้านเกิดเขา ก็อยู่ติดชายแดนรัสเซีย-ยูเครน และสร้างชื่อจากการบริหารยูเครน จนได้มาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์)
มนุษย์เพียง 12 คนจากโลกที่เคยไปเหยียบดวงจันทร์ จึงล้วนเป็นคนอเมริกันทั้งหมด จากยานอพอลโล 11 ในปี 1969 จนถึงอพอลโล 17 ในปี 1972 รวม 6 เที่ยวเท่านั้น
ยานสำรวจที่ได้ไปดวงจันทร์มาแล้ว นับตั้งแต่ลูนา 2 (แบบรุนแรง) และลูนา 9 (แบบนุ่มนวล)
อย่างไรก็ตาม ความล้าหลังทางอวกาศของโซเวียตนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่มากกว่าตัวบุคคล แม้จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ก่อน แต่เมื่อภารกิจซับซ้อนขึ้น เทคโนโลจีที่เกี่ยวข้องพัฒนาตามไม่ทัน เช่น ทางด้านคอมพิวเตอร์ควบคุมยาน เมื่ออเมริกาเริ่มมีไมโครชิพใช้แล้ว คอมพิวเตอร์ของโซเวียตยังคงเป็นระบบไฟฟ้า-เครื่องกล ซึ่งทำให้มวลรวมของระบบสูงกว่า ต้องใช้จรวดส่งยานพลังสูงกว่าตามไปด้วย
โคโรเลฟ เองก็ถูกวิจารณ์ในภายหลังด้วยว่าเขาเร่งรีบสร้างผลงาน โดยข้ามขั้นตอนเก็บเกี่ยวความรู้ ถ้าดีก็ดีเลย แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดก็ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขารู้ตัวเองว่าเจ็บป่วยอาจทำได้ไม่นาน)
ขณะที่ฝั่งอเมริกานั้น ถึงแม้จะเร่งรีบเช่นกัน แต่นาซาจะมีแผนงานการพัฒนายานอวกาศชัดเจนกว่า ที่จะศึกษาสิ่งที่ไม่รู้ไปทีละขั้น จนเกิดความมั่นใจแล้วจึงนำมาออกแบบใช้งานจริง
นอกจากนั้นการทำงานอย่างเปิดเผยมากกว่า ทำให้คนร่วมงานมีจำนวนมาก เกิดนวัตกรรมใหม่ๆได้เร็วกว่า จากความคิดหลากหลายที่แลกเปลี่ยนกัน แม้จะยอมให้ความลับรั่วไหลไปยังคู่แข่งได้บ้างก็ตาม ก็ยังถือว่าคุ้มค่า
แบบจำลองของ luna 9 สูงประมาณ 3 เมตร จัดแสดงอยู่ที่มอสโคว์
จากภายนอก โครงการอวกาศหลังม่านเหล็กดูเหมือนจะมีเอกภาพ มีความเป็นปึกแผ่นและรวดเร็วฉับไวจากการรวมศูนย์อำนาจ แต่ความจริงแล้ว วิศวกรซึ่งมีที่มาจากทั่วทุกสารทิศ ต่างคนต่างทนงว่าตัวเองเก่ง และขัดขากันเองเงียบๆ วัฒนธรรมการปิดบังอำพราง และต้องรายงานตามลำดับขั้นอย่างเคร่งครัด ทำให้บุคลากรชั้นผู้น้อยไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรแตกต่าง หรือคัดค้านสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ปล่อยให้อัจฉริยะบุคคลผู้มีอำนาจไปฟาดฟันกัน หรือจนกว่าหายนะจะเกิดขึ้นเอง
เซอร์เก ครุสเชฟ วิศวกรอวกาศคนหนึ่งบุตรของอดีตผู้นำโซเวียต เคยกล่าวว่า คนพวกนี้เขาจะยินดีมากหากอเมริกาส่งคนไปดวงจันทร์ ได้ก่อนคู่แข่งคนอื่นของเขาในโซเวียตเองเสียอีก
ผลการแข่งขัน space race 1.0 USA จึงเป็นผู้ชนะน็อคเอาท์ USSR ไปได้ หลังจากแพ้คะแนนมาก่อนทุกยก
ตำแหน่งของยานอวกาศต่างๆ ที่เคยไปดวงจันทร์ เกือบทั้งหมดยังอยู่บนนั้น ลองส่องดูได้ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ
ดังนั้นญี่ปุ่นจึงไม่ใช่ประเทศที่ 5 ของโลกที่สามารถนำยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ "ต่อจากสหรัฐฯ สหภาพโซเวียต จีนและอินเดีย" ตามลำดับที่ถูกแล้ว คือ "ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ จีนและอินเดีย"
และยาน SLIM ที่ลงจอดในปี 2024 นี้ ก็มิใช่ยานลำแรกของญี่ปุ่น ที่ไปถึงดวงจันทร์ ต้องถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ฝีมือญี่ปุ่นลำดับที่ 2
ก่อนหน้านี้ในปี 1993 ยานอวกาศฮิเทน (ひてん ชื่อนี้มาจากชื่อเทพฮิเทน หรือนางอัปสร ในตำนานทางพุทธญี่ปุ่นที่มาจากอินเดีย) ในยุคของสถาบันศึกษาอวกาศหรือ ISAS ได้ขึ้นไปสถิตบนนั้นก่อนแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากตามแผนเดิม คือไปโคจรเป็นดาวเทียมเก็บภาพรอบดวงจันทร์เท่านั้น
ยานฮิเทน และยานลูกฮาโกโรโม ที่แยกตัวออกจากส่วนบนได้
แต่ยานฮิเทนเกิดขัดข้อง หลังจากโคจรอยู่สามปี ระหว่าง 1990-1993 สถานีภาคพื้นดินพบว่าวงโคจรไม่เสถียร หากปล่อยไว้อาจตกลงบนด้านมืดของดวงจันทร์ เลยตัดสินใจยุติภารกิจ ใช้เชื้อเพลิงสำรองที่ยังมีเหลืออยู่ นำยานพุ่งกระทบผิวดวงจันทร์ทางด้านสว่างแทน เพื่อจะได้ตามหาได้ง่ายกว่า บริเวณปลายหูกระต่าย แถบเดียวกับที่ยาน S.L.I.M. เพิ่งลงจอด ในเดือนเมษายน 1993
กลายเป็นชาติที่ 3 ที่นำวัตถุไปไว้บนดวงจันทร์ได้ ต่อจากโซเวียตและสหรัฐ แต่ไม่ใช่ moon landing เป็นเพียง impact แบบเดียวกับยาน luna 2 ของโซเวียต
ก่อนหน้านี้ยังมียานฮาโกโรโม ยานลูกขนาด 36 เซนติเมตรของยานฮิเทน ที่ได้ขาดการติดต่อหลังแยกตัวออกจากยานฮิเทนในปี 1990 โดยได้สูญหายไป ไม่ทราบว่าหลุดวงโคจรไปที่อื่น หรือตกลงบนดวงจันทร์ก่อนหน้ายานฮิเทนหรือไม่
หมายเลข 3 คือตำแหน่งลงจอดของยานมูน สไนเปอร์ (สลิม) ในปี 2024 ไม่ไกลนักจากหมายเลข 2 ที่ยานอพอลโล 11 เคยจอดในปี 1969 (ส่วนหมายเลข 4 คือยานของอินเดีย)
ยานสำรวจ SLIM ของญี่ปุ่น ในปี 2024 นี้ ได้รับการพัฒนาไปไกลจากเดิมมาก โดยเน้นที่การประหยัดพลังงานทำให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ไม่เน้นรีบ จะเห็นว่าใช้เวลาถึง 4 เดือนจึงจะไปถึงดวงจันทร์ เมื่อเทียบกับยานลูนา 9 เมื่อปี 1966 ใช้เวลาเพียง 4 วัน เนื่องจากเส้นทางโคจรถูกออกแบบอย่างแม่นยำให้ใช้พลังงานจากจรวดขับดันเพื่อการปรับตำแหน่งน้อยที่สุด น้ำหนักขณะปล่อยยานก็ลดลง ทำให้ลดขนาดของจรวดและค่าใช้จ่ายการปล่อยยานไปได้มาก
สำหรับการขับเคี่ยวทางอวกาศ หรือ space race 2.0 ที่รื้อฟื้นกันขึ้นมาใหม่ไม่นานมานี้ นอกจากมีจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ หรือ เพื่อสร้าง soft power ทางอวกาศแบบยุคสงครามเย็นแล้ว
จุดประสงค์อีกอย่างหนึ่งของผู้เล่นทั้งเก่าและใหม่ในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น ยุโรป โดยเฉพาะจากจีน คือการเข้าถึงทรัพยากรบนดวงจันทร์ที่พบว่าหลายอย่างมีอุดมสมบูรณ์มากกว่าโลก เช่นแร่ธาตุหายากหลายชนิด
สิ่งที่เป็นจุดสนใจไม่ใช่ลิเทียม แต่เป็นแหล่งของฮีเลียม-3 ซึ่งถูกพัดพามาจากดวงอาทิตย์
ต้นทุนของการปล่อยจรวดสู่อวกาศมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกิดชาติใหม่ๆเข้าร่วมการสำรวจอวกาศมากขึ้น
ฮีเลียม-3 พบได้ยากบนโลก แต่มีอยู่ล้นเหลือบนผิวดวงจันทร์เนื่องจากไม่มีชั้นบรรยากาศสกัดกั้น และสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันได้ ในทางปฏิบัติการนำ helium-3 กลับมาใช้บนโลกมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป คงเป็นการสกัดเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับนิคมอวกาศบนดวงจันทร์ บ้านหลังที่สองของมนุษย์นอกโลกมากกว่า
ตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ไม่มีชาติไหนสามารถถือกรรมสิทธิทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ได้ คล้ายกับขั้วโลกใต้ แม้จะเป็นจุดที่นำยานไปลงจอดได้เป็นคนแรกก็ตาม แต่การลงมือยึดพื้นที่ไว้ล่วงหน้าย่อมสร้างความได้เปรียบได้
โฆษณา