24 ม.ค. 2024 เวลา 07:54 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[ Movie Review : The Boy and the Heron ]

ต้องบอกว่าเราไม่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรของเรื่องนี้เลยนอกจากว่านี่ (อาจจะ) เป็นเรื่องสุดท้ายของฮายาโอะ มิยาซากิ (เพราะปู่ประกาศแบบนั้นก่อนที่ตอนนี้จะบอกว่าอยากทำหนังอีก.... ครับ) และเห็นแค่โปสเตอร์ นอกนั้นเราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้เรื่องย่อ ไม่ดูทีเซอร์เทรลเลอร์ ไม่ดูการโปรโมท ไม่อ่านรีวิวใดๆ มารู้อีกทีก็คือแอนิเมชันเรื่องนี้ไปคว้ารางวัลใน Golden Globes แล้ว
ก่อนไปดูก็เห็นหลายๆ คนที่ไปดูมาบ่นว่าดูไม่เห็นรู้เรื่องเลย เผลอหลับคาโรง ซึ่งใจก็มีแอบหวั่นๆ เพราะจริงๆ แม้จะมีแอนิเมชันของจิบลิที่เราชอบมากกกกกกอยู่หลายเรื่อง แต่อีกหลายเรื่องก็ไม่โดนเส้นมากนักและคิดว่ามันดูแบบ “เอาเรื่อง” ยากจริงๆ นั่นแหละ (สารภาพว่า spirited away คือเราดูเอารสอย่างเดียว 555555555 อะไรไม่รู้แหละแต่ฮาคุหล่อ...)
แต่ปรากฏว่าเรากลับชอบ The Boy and the Heron มากกว่าที่คิด แต่จะว่าแบบนั้นก็ไม่ถูกนัก คือปกติมักจะถูกเส้นกับงานของผู้กำกับรุ่นเก๋าที่ทำแบบปล่อยจอย ปล่อยจอยในที่นี้คือไม่ใช่ว่าทำแบบชุ่ยๆ แต่หมายถึงทำแบบใส่สิ่งที่อยากจะใส่มาเต็มที่ ทำเหมือนมันเป็นหนังเรื่องสุดท้าย เช่น the Fabelmans ของสปีลเบิร์ก หรือ Killers of the Flower Moon ของสกอร์เซซี (ซึ่งให้ตายเหอะ ต้องมาแพ้ให้ Oppenheimer จริงๆ เหรอ งือ) ในความกลัวว่าจะดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่อง มันเลยมีความแบบ เอ๊ะ หรือเราจะถูกเส้นกับมันวะ
แล้วก็ปรากฏว่าถูกเส้นกับมันมากจริงๆ ด้วย
The Boy and the Heron เล่าเรื่องของมาฮิโตะ วัย 12 ปี ที่ต้องย้ายบ้านจากโตเกียวมาอยู่ชนบทหลังจากที่แม่เสียชีวิตในเปลวเพลิงที่เผาไหม้โรงพยาบาลและพ่อก็แต่งงานใหม่กับน้องสาวของแม่อย่างคุณน้านัตสึโกะที่กำลังตั้งท้อง
แล้วเขาก็ได้เจอกับนกกระสานวลที่ตามวอแวเขาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แถมยังอ้างว่าแม่ของมาฮิโตะยังมีชีวิตอยู่ มาฮิโตะเลยอยากไปเห็นด้วยตัวเอง ประกอบกับที่น้านัตสึโกะก็เดินหายเข้าไปในหอคอยปริศนาที่ว่ากันว่าทวดของเขาเป็นคนสร้างและหายตัวไปอีก ทั้งอยากพิสูจน์เรื่องแม่ ทั้งอยากตามหาน้า นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยไปยังอีกโลกของเขา
*ต่อไปคือสปอยล์*
ในความสูญเสียและในการเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย มันยากมากๆ สำหรับมาฮิโตะที่จะยอมรับ ทั้งเรื่องที่ว่าไม่มีแม่อยู่แล้ว ทั้งเรื่องที่ต่อไปคุณน้าจะกลายเป็นแม่ของเขา ทั้งเรื่องที่ไม่สามารถเข้ากับผู้คนในชนบทได้ สำหรับเรามันมีฉากหนึ่งที่สะเทือนใจมากอยู่ต้นๆ เรื่องเลย และมันเป็นฉากที่ทำให้เห็นสภาวะจิตใจอันเปราะบางของเด็กที่ต้องก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิต
แต่ในการผจญภัยไปในโลก “ข้างใต้” นอกจากภาพที่สวยตามแบบฉบับจิบลิแล้ว หนังยังพามาฮิโตะไปเรียนรู้การข้ามผ่านบางอย่างและพาเราเติบโตไปพร้อมกับมาฮิโตะ ทั้งการต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าแม่ไม่อยู่แล้วในตอนที่แม้จะรู้ทั้งรู้ว่านกกระสาหลอกเรื่องแม่ แต่ก็ยังอยากไปเห็นด้วยตัวเอง
การเรียนรู้ที่จะให้ความไว้ใจแม้แต่กับคนที่ไม่น่าไว้ใจอย่างเจ้านกกระสา ชะตากรรมของคนที่เลือกชีวิตไม่ได้อย่างนกกระทุงที่ตอนแรกเราอาจจะโกรธที่มันบังอาจกินวาราวาราที่น่าจะเป็น (กลุ่ม) ตัวละครที่น่าร้ากกกกกที่สุดในเรื่อง ซึ่งอาจทำให้เขาพอจะเข้าใจคนในชนบทที่ต้องปากกัดตีนถีบได้บ้าง หรือพวกนกแก้วที่เห็นได้ชัดว่าเป็นภาพแทนของมนุษย์ในด้านแย่ๆ เช่น การหลงใหลในอำนาจ การฆ่าแกงสัตว์อื่นเพื่ออาหาร หรือการที่ในที่สุดมาฮิโตะก็ยอมรับน้าในฐานะแม่อีกคนได้
แล้วหนังยังทำให้เห็นว่าในความ struggle นั้นน่ะ มันไม่ได้มีแค่มาฮิโตะหรอกนะที่ struggle น้าเองก็เหมือนกัน
นอกจากนั้นในโลกแห่งความฝัน ความตาย ข้างใต้ หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกนั้น คนที่คอยช่วยมาฮิโตะให้ได้เจอน้า ก็คือคุณแม่ของเขาเองที่ในโลกนี้เธอกลายเป็นเด็กหญิงที่มีพลังของไฟ พลังของไฟที่คร่าชีวิตแม่เขาในโลกความจริงนั่นแหละที่คอยช่วยเหลือผู้คนในโลกนี้ ซึ่งเราเข้าใจว่ามันคงไม่ต่างอะไรกับ mother nature
ที่ชอบที่สุดคือการที่สุดท้ายแล้วคุณทวดของมาฮิโตะก็ต้องปล่อยวางจากโลกที่เขาเฝ้าดูแลมาหลายปี และเมื่อกลับออกมาในโลกปัจจุบัน นกกระสาก็ยังบอกมาฮิโตะว่าสักวันมาฮิโตะก็จะลืมความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ไป พอมาย้อนคิดดูมันก็เหมือนทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตเราเนอะ เรารู้สึกว่าเราจะสุขที่สุดในตอนที่มันเกิดขึ้น ทุกข์ที่สุดในตอนที่มันเกิดขึ้น สัมผัสรับรู้มันได้มากที่สุดในตอนที่มันเกิดขึ้น
พอนานไป บางเรื่องบางราวที่มันเคยใหญ่โตมากมันก็เป็นแค่เรื่องเล็กๆ บางเรื่องที่เราคิดว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม ก็กลายเป็นแค่ความทรงจำที่ไม่กล้าฟันธงด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้นจริงหรือฝันไป
*ปลอดสปอยล์*
แม้จะฉาบด้วยความแฟนซีมหัศจรรย์แค่ไหน แต่สำหรับเรามันก็คือหนัง slice of life และ coming of age ดีๆ นี่เอง
วัย 12 ปีของมาฮิโตะอาจเป็นภาพชีวิตทั้งชีวิตของคนคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง สูญเสีย การเรียนรู้ที่จะรักคนที่เคยไม่รัก เรียนรู้ที่จะก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ เคยเกลียดตัวเองและเกลียดโลก แต่ก็เรียนรู้ที่จะวางใจในโลกนี้อีกครั้ง และเรียนรู้ที่จะปล่อยวางในบางสิ่งบางอย่าง
สารนั้นถูกตอกย้ำอีกรอบด้วยเพลงปิดอย่าง Spinning Globe ที่เมโลดี้เรียบง่ายแต่เนื้อหาจับใจมาก
เช่นเดียวกันกับ the fabelmans คือมันเป็นหนังที่คิดว่าปู่ฮายาโอะ มิยาซากิตอนหนุ่มๆ หรือไม่ได้อยู่ในวัยบั้นปลายก็คงทำไม่ได้ เพราะมันต้องอาศัยการข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตมาแล้ว ต้องผ่านการมองเห็นคนที่เรารักล้มตาย และการวางใจความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
การมองเข้าไปในบาดแผลของตัวเองแล้วไม่ได้พยายามเลเซอร์ให้มันหายไปหรือไม่ได้พยายามไปงัดแงะแกะเก่าให้มันเปิด แต่บอกว่า เออ มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ และนี่ก็คือชีวิต ชีวิตมันก็ดำเนินของมันไปแบบนี้ เหมือน spinning globe คือโลกมันก็หมุนไปแบบนี้ เราก็ใช้ชีวิตไปแบบนี้ แล้วสุดท้าย ทุกอย่างมันก็กลายเป็นความทรงจำ ที่ยังไงก็คงจะถูกลืมหรือหายไปสักวัน
สุดท้ายมันก็ไม่ได้มีอะไรสำคัญในชีวิตมากกว่าการที่ถึงจุดหนึ่งเราจะมองย้อนไปด้วยคำถามที่ว่า how do you live? แล้วคำตอบมันน่าพอใจสำหรับเราแล้ว
โฆษณา