6 ก.พ. เวลา 19:01 • ประวัติศาสตร์

กรมหลวงชุมพรฯ กับมวยไทย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อย่างที่เราทราบกันดีว่าพระองค์ท่านทรงเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย" ทรงปฏิรูปราชนาวีให้ทันสมัย ทรงมีพระจริยาวัตรหลากหลายบทบาทที่ดุดัน ใจนักเลง ทรงเป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ
อีกทั้งพระองค์ทรงเป็น "ครูมวยไทย" อีกด้วย
เรื่องทำนองนี้น่าจะเป็นความสนพระทัยส่วนพระองค์ของเสด็จในกรมฯ มานานแล้ว เริ่มตั้งแต่กระบี่กระบองและโขน เช่นที่หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ทรงเล่าว่า
“…เสด็จพ่อทรงสนพระทัยในกีฬามวย ที่วังเคยเป็นที่ซ้อมมวย มีลูกศิษย์ลูกหามาสมัครเป็นจำนวนมาก การดนตรีดีดสีตีเป่าร่ายรำกระบี่กระบองทรงเป็นทุกอย่าง มีครูชื่อพระยาพรหมาฯ มาสอนรำ ทรงเป็นตัวทศกัณฐ์ เล่นกันระหว่างเจ้านายหลายพระองค์ มีเสด็จอา กรมหมื่นไชยาฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรฯ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธฯ เป็นต้น…”
1
เขตร ศรียาภัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมวยไทยเคยเล่าไว้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงรับอุปการะนักมวยฝีมือดีจากจังหวัดต่างๆ ให้หลับนอนที่วังเปรมประชากร (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล)
บรรดานักมวยที่มาอยู่ที่วังนั้นมาจากหลากหลายที่มาเป็นนักมวยฝีมือดีแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โปรดเกล้าฯ ให้พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียรเสวี) แม่กองเสือป่าจัดแข่งมวยที่สนามหญ้าหน้าสามัคยาจารย์สมาคม ในพื้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
การจัดแข่งครั้งเป็นไปเพื่อหารายได้สมทบเพื่อซื้อปืนให้กองเสือป่า การแข่งขันครั้งนี้เองทำให้มีนักมวยฝีมือดีจากทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาในพระนคร พวกนี้เป็นนักมวยจากการเลือกโดยสมุหเทศาภิบาลและข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เมื่อเข้ามาแล้วพวกเขาก็กระจายพักอาศัยตามบ้านผู้อาสาอุปการะและสโมสร ส่วนหนึ่งก็สมัครใจพักที่สโมสรเสือป่า ที่เรียกกันว่าสวนดุสิต สมัยนั้นร่มรื่นมีต้นไม้หลากหลายชนิด ในพื้นที่แถบนั้นยังใช้เป็นจุดเปรียบคู่และใช้ถ่ายภาพโฆษณากันที่แถวสนามเสือป่า ริมลานพระบรมรูปทรงม้าเบ็ดเสร็จ
ช่วง พ.ศ. 2464 มีนักมวยที่ถูกส่งมาจากเมืองมวย (นครราชสีมา) อย่างทับ จำเกาะ และยัง หาญทะเล นายทับ จำเกาะ นี้เองพักที่วังเปรมประชากรจากการบอกเล่าของผู้รู้เรื่องหมัดมวยโบราณอย่างเขตร ศรียาภัย ซึ่งเขตร ยังเล่าต่อว่า มีเสียงลือว่า ยุคนั้นไม่ค่อยมีใครอยากจับคู่กับ “มวยในกรม” เนื่องจากนักมวยที่พักในวังเปรมประชากรเป็นพวกที่แพ้ยาก เพราะเสด็จในกรมฯ จะรับสั่งให้โบย 30 ที
เสียงเล่าลือนี้ถูกปฏิเสธจากปากคำผู้คลุกคลีใกล้ชิดมวยไชยา พุมเรียง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีโอกาสกินอยู่หลับนอนในวังเปรมประชากร ซึ่งเขตร ยืนยันว่า เขาไม่พบเห็นพฤติกรรมดังที่เล่าเลือกันมาแต่อย่างใด แม้ว่าเสด็จในกรมฯ มักมีชื่อเสียงในเรื่องลักษณะ “ความเป็นนักเลง” แต่พระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงมีน้ำพระทัย ไม่ได้เป็นประเภท “นักเลงโต”
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเชี่ยวชาญการชกต่อยตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และยังเคยถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ด้วยแขนแก่พระโอรส ม.จ. สมรบำเทอง แน่นอนว่า เสด็จในกรมฯ ทรงทราบเหตุผลการแพ้ชนะของนักมวยอย่างดี และยังทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง โดยมี น.ท. พระชลัมพิสัยเสนี ร.น. เป็นผู้ช่วย
ว่ากันว่า พระองค์มิได้ตั้งค่ายหรือคณะมวยเพื่อเหตุอย่างค่ายมวยในสมัยใหม่ เพียงแต่ท่านมีน้ำพระทัยโปรด “ลูกผู้ชาย” ที่มีฝีมือและเป็นนักสู้ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนของประเทศ นอกจากนี้ เสด็จในกรมฯ ยังทรงเห็นการณ์ไกล ควบคุมนักชกเมื่อออกนอกวังด้วย ขอร้องให้ตำรวจจับกุมนักมวยในอุปการะของพระองค์ที่อาจดื่มเหล้าเมามายประพฤติเสื่อมเสียส่งเข้ามาในวังเปรมประชากรพร้อมข้อหา เพราะไม่ต้องการให้คนไม่รู้จักชีวิตในเมืองต้องเสียงกับคดีด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เขตร อธิบายเสริมด้วยว่า เมื่อฝึกซ้อม พระองค์ยังให้นักมวยคาดเชือกแทนนวม และมีปี่กลองให้สมจริงและเพื่อให้คึกคะนองจริงจังขึ้น เมื่อทรงประทับก็มักทรงร้องเตือนให้นักมวยคอยระวัง “ช่องว่าง” และยังโปรดให้รวมกลุ่มเจรจาหารือติชมการฝึกซ้อมเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องกัน แล้วจึงโปรดให้ลงว่ายน้ำในสระภายในบริเวณวัง (ภายหลังถมพื้นที่ไปแล้ว) ขณะที่อาหารการกินก็ให้ถึงขนาด เป็นอาหารจากน้ำมือของหม่อมสองพี่น้อง ซึ่งโปรดให้ดูแลนักมวยเป็นพิเศษ
เราจะมาเล่าต่ออย่างคร่าวๆ ถึงสองนักมวยฝีมือดีจากเมืองโคราช ตัวท็อปในสังกัดของเสด็จเตี่ย อย่างทับ จำเกาะ และยัง หาญทะเล
ทับ จำเกาะ เป็นนักมวยไทยฝีมือดีจากจังหวัดนครราชสีมา ถูกส่งตัวเข้ามาชกในกรุงเทพฯในยุคสนามมวยสวนกุหลาบเมื่อ พ.ศ. 2464 เพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า การเดินทางเข้ามาชกมวยของนายทับครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขวัญในวงการมวยยุคนั้นว่า "หมัดนายจีน ตีนนายทับ"
เมื่อเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ กรมหลวงชุมพรฯรับอุปการะให้เข้าพักในวังเปรมประชากร นายทับขึ้นชกครั้งแรกกับนักมวยจากจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งปรากฏว่านายทับเตะเป็นชุด จนนักมวยจากมหาสารคามลุกไม่ขึ้น ยอมแพ้แค่ยกแรก
จากชัยชนะในครั้งแรก ฝ่ายผู้จัดการแข่งขันได้คัดเลือกนักมวยขึ้นสู้กับนายทับ ครั้งแรก ม.ร.ว. มานพฯ เสนอบังสะเล็บ ศรไขว้ แต่นายทับไม่สู้ ดังนั้นจึงประกบคู่ให้นายทับพบกับประสิทธิ์ บุณยารมณ์ ครูพลศึกษาซึ่งนายทับตอบตกลง
ต่อมาเมื่อนายทับรู้ภายหลังว่าได้คู่กับนายประสิทธิ์ซึ่งเป็นมวยนักเรียนพลศึกษา และมีชื่อในทางชนะนักมวยหัวเมืองด้วยอิทธิพล นายทับถอดใจไม่ยอมซ้อมจนกรมหลวงชุมพรรับสั่งให้หา เมื่อทราบว่านายทับกลัวอิทธิพลจึงปลอบใจให้สู้และเชิญหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่ามาประกอบพิธีแต่งตัวให้นายทับเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจ หลังจากนั้นขวัญกำลังใจของนายทับจึงดีขึ้น ซ้อมมวยได้ตามปกติ เมื่อถึงวันชกที่สนามมวยสวนกุหลาบ โดยมีพระยานนทิเสนสุรภักดี แม่กองเสือป่า เป็นคนนำเป่าปี่บรรเลง
การแข่งขันปรากฏว่านายทับใช้ชั้นเชิงในจังหวะที่ประสิทธิ์ต่อยพลาด เข้าเตะประสิทธิ์เป็นชุดแบบเดียวกับที่ใช้ในการชกครั้งแรก จนนายประสิทธิ์หมดสติ ถูกจับแพ้ไป
ส่วน ยัง หาญทะเล เป็นเพื่อนของทับ จำเกาะ ซึ่งเป็นนักมวยไทยคาดเชือกร่วมวงการ ที่ได้รับการอุปการะจากกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ไปฝึกมวยที่วังเปรมประชากรจนมีชื่อเสียงเช่นเดียวกัน
ครั้งหนึ่ง เมื่อทับ จำเกาะ เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมของตน ได้มีการเรียกร้องให้ยัง หาญทะเล แข่งมวยไทย โดยพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดีได้ทำการปรึกษากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเพื่อนที่เป็นพ่อค้าในสังกัดกรมท่าซ้าย
กระทั่งยัง หาญทะเล มีโอกาสประลองมวยกับจอมยุทธชาวจีน นามว่า จิ๊ฉ่าง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนักมวยจีนชาวฮ่องกงที่มีฝีมือเก่งกาจ (บางแห่งกล่าวว่าเขาเป็นชาวจีนกวางตุ้งในประเทศไทย) โดยเป็นครูมวยจีนอยู่แถวสำเพ็ง ซึ่งทั้งคู่แข่งขันกันใน วันมังกรสู้เสือ โดยในการแข่งขันครั้งนี้ มีวงปี่กลองของหมื่นสมัครเสียงประจิต ทำหน้าที่บรรเลงดนตรี และยัง หาญทะเล เป็นฝ่ายชนะ
ส่วนการแข่งขันระหว่าง ยัง หาญทะเล กับนิยม ทองชิตร ที่กระทรวงธรรมการ (หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ที่ได้จัดขึ้น ผลปรากฏว่ายัง หาญทะเล เป็นฝ่ายแพ้ นอกจากนี้ เขายังเคยแข่งกับนักมวยจีน ชื่อ ไล่ หู ที่สนามโรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ. 2465
อนึ่ง มีตำนานกล่าวถึงเหตุการณ์ที่กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ได้นำผ้าเจียดจากอาจารย์ศุข วัดมะขามเฒ่า มาแจกให้แก่ทหารเรือ และทรงให้ทำการทดลองอาคมในการลงไปแหวกว่ายน้ำทะเลท่ามกลางฝูงปลาฉลาม แต่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง ยกเว้นยัง หาญทะเล ที่รับอาสาทดลอง เขากระโดดจากเรือลงสู่ทะเล และสามารถยืนบนผิวน้ำทะเลท่ามกลางฝูงปลาฉลาม ได้โดยมิได้รับอันตรายใด ๆ ท่ามกลางสายตาของเหล่าทหารเรือมาแล้วครั้งหนึ่ง
โฆษณา