1 มี.ค. เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

ก๋วยเตี๋ยวหำหด ข่าวลือและความหวาดกลัวภัยญวนของคนไทยในสงครามเย็น

ในปี พ.ศ. 2518 สงครามเวียดนามจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกัมพูชาและลาวได้เกิดการปฏิวัติตามไปด้วย
ความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยถึงขีดสุด ว่าไทยอาจล้มเป็นโดมิโน่ตาม กระแสเกลียดชังชาวญวนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และข่าวลือเกี่ยวกับญวนคอมมิวนิสต์มากมายแพร่สะพัดไปทั่วประเทศ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เกิดการประท้วงขับไล่ชาวญวนอพยพ ถึงขนาดมีการรุมทำร้ายและทำลายทรัพย์สินขึ้น
กลุ่มผู้ประท้วงเข้าทำลายโรงเรียนของชาวญวน ในจังหวัดหนองคาย (ภาพจาก หนังสือพิมพ์ บางกอก เดลี่ไทม์ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518)
ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2521 เกิดข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนว่า
" ชาวญวนอพยพเข้ามาโจมตีประเทศไทยโดยการใส่ยาพิษลงในก๋วยเตี๋ยว หากทานเข้าไปแล้วองคชาติจะหดเข้าไปในท้อง และเสียชีวิตในที่สุด"
จนเรียกกันว่า "ก๋วยเตี๋ยวหำหด" นอกจากก๋วยเตี๋ยวแล้ว ยังมีแตงโมหำหด ไข่หำหด และอาหารอื่น ๆ
มีผู้เชื่อข่าวลือนี้เป็นจำนวนมาก และสื่อหนังสือพิมพ์นำไปตีข่าวอยู่นาน จนเกิดอุปทานหมู่ทำให้มีผู้เข้าโรงพยาบาลอย่างน้อย 200 ราย ที่เชื่อว่าตนเองได้รับสารพิษดังกล่าว
โรคหำหด หรือโรคจู๋ (Penis Panic หรือ Koro) เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ชายมีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรง ว่าอวัยวะเพศของตนกำลังหดลงเรื่อย ๆ
สาเหตุของโรคเชื่อว่าเกิดจากความจมปลักอยู่กับความรู้สึกผิด (gulit) และความวิตกกังวลอย่างรุนแรง (panic) ประกอบกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น เรียกกลุ่มอาการป่วยทางจิตนี้ว่ากลุ่มโรคจิตเวชเฉพาะท้องถิ่น (Culture-Bound Syndrome)
พบมากในชาวจีนซึ่งมีความเชื่อว่าขนาดอวัยวะเพศที่หดลงส่งผลถึงพลังชีวิต มักเกิดอาการหลังจากร่วมเพศหรือสำเร็จความไคร่ด้วยตนเองมากเกินไป
โรคจู๋ยังพบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาเลเซียและสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังพบการระบาดที่คล้าย ๆ กันในอินเดีย และแอฟริกาอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย คาดว่าความหวาดกลัวต่อข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ญวน การปลุกระดมทางการเมืองและการประโคมข่าวของสื่อเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดในช่วงเวลาดังกล่าว
ป้ายต่อต้านเวียดนามโดยผู้ประท้วง ในอำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร 2 สิงหาคม พ.ศ. 2519 (ภาพจาก คลิปวีดีโอ SYND 5 8 76 ANTIVIETNAMESE REFUGEE DEMONSTRATION บนยูทูป AP Achive)
อ้างอิง :
ศริญญา สุขรี. (2558). ชาวเวียดนามอพยพ: นายทุนยุค "ไทยใหม่" และการกลายเป็นชนชั้นนำเมืองชายแดน. วิทยาลัยนานาชาติ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: เชียงใหม่.
วีรภัทร ผิวผ่อง. (2564). จากผู้พลัดถิ่น สู่ “ญวนอพยพ”: ชีวิตของชาวเวียดนามในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ค.ศ. 1945 - 1976. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
W Jilek และ L Jilek-Aall. (2520). Mass-hysteria with Koro-symptoms in Thailand. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
ส.สีมา. (2565). อะนอเร็กเซีย-อะม้อก โรคจิตเชิงวัฒนธรรม ที่อันตรายถึงชีวิต. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
ส.สีมา. (2565). กลุ่มอาการโรคจิตเชิงวัฒนธรรม (อีกครั้ง) ว่าด้วยพฤติกรรม “แล่นทุ่ง” ถึง “โรคหำหด”. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2548). Cultural factor in psychiatry. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567,
โฆษณา