12 ก.พ. เวลา 09:15 • การเมือง

ถึงเวลาเกาหลีใต้ “พร้อมมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง” เพื่อต่อกรกับเกาหลีเหนือ

เป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน?
ความสัมพันธ์ระหว่าง “โซล” และ “เปียงยาง” ไม่ค่อยดีนักในช่วงนี้ และในอนาคตอันใกล้นี้ความสัมพันธ์อาจจะซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เหตุผลก็คือคำแถลงของประธานาธิบดี “ยุน ซอกยอล” แห่งเกาหลีใต้ ที่ว่าประเทศของเขาซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนกำลังก้าวไปสู่ “ขั้นตอนของการวางแผนร่วมกันและการใช้กำลังนิวเคลียร์” ตามที่เขาพูด นี่คือ “ทางเลือกที่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นสำหรับโซลที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง”
ทางฝั่งเกาหลีเหนือก็ใช่ย่อย “คิม จองอึน” ประกาศกร้าวเช่นกันว่าพร้อมจะยึดเกาหลีใต้ หากถูกโจมตีก่อน
เครดิตภาพ: BBC
ผู้นำเกาหลีใต้ซึ่งมีแนวคิดดังกล่าวกล่าวว่า พันธมิตรทางการทหารระหว่าง “เกาหลีใต้” และ “สหรัฐอเมริกา” ได้ยกระดับขึ้นสู่ระดับ “อาวุธนิวเคลียร์” แล้ว และต่อจากนี้ไปประเทศในกลุ่มพันธมิตรต่างๆ จะหารือและมีส่วนร่วมในการวางแผนโดยละเอียดมากขึ้น รวมถึงการดำเนินการตามแผนการจัดการกองกำลังอาวุธนิวเคลียร์
ในเวลาเดียวกัน “ยุน ซอกยอล” ระบุว่าเมื่อพิจารณาจากระดับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคแล้ว เกาหลีใต้ยังสามารถได้รับถ่ายโอนองค์ความรู้ด้านอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็วหากต้องการ แต่จะไม่ทำเช่นนั้นเนื่องจากความมุ่งมั่นต่อข้อตกลงไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของกลุ่มตะวันตก ตลอดจนผลกระทบด้านการจัดการกับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ การคว่ำบาตรระหว่างประเทศในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง
1
ยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เครดิตภาพ: South Korea Presidential Office via AP
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมารองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย “อังเดร รูเดนโก” ได้ไปเยือนกรุงโซล โดยมาประชุมกับผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ “คิม กอน” ได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีและแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างมอสโกและโซล นอกจากนี้คณะผู้แทนรัสเซียยังเสนอข้อเรียกร้องเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในภูมิภาคผ่านการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย – อ้างอิง: RIA Novosti
ผู้แทนทั้งสองประเทศแสดงความสนใจในการรักษาสถานะในประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ “คิม กอน” แจ้งไปว่าความร่วมมือทางทหารระหว่าง “รัสเซีย” และ “เกาหลีเหนือ” อาจคุกคามความมั่นคงไม่เพียงแต่ในคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยุโรปด้วย ดังนั้นตัวแทนของเกาหลีใต้จึงเรียกร้องรัสเซียให้ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ
ดูเหมือนว่ารูเดนโกจะรับฟังและมีความคิดเห็นเชิงบวกเพื่อความพยายามในการคลี่คลายความตึงเครียด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีวิวาทะจากฝั่งรัสเซีย โดยกล่าวหา ปธน.เกาหลีใต้ว่าลำเอียงเรื่องคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เมื่อเทียบกับพันธมิตรฝ่ายตะวันตกของตน
เครดิตภาพ: The Nuclear Threat Initiative
ในตอนนี้รัสเซียและจีนยังไม่ได้แสดงท่าทีเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในคาบสมุทรเกาหลี แต่ก็พอเดาได้ไม่ยาก หากโซลและวอชิงตันจับมือกันโดย “เริ่มขั้นตอนการวางแผนร่วมกันเพื่อใช้อาวุธนิวเคลียร์” จริงๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความมั่นคงอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิภาคที่กว้างออกไปอีก
แต่เชื่อว่าโซลคงยังไม่ดำเนินการไปถึงขั้นนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) ซึ่งไม่เพียงแต่ห้ามไม่ให้มีการเกิดขึ้นของนิวเคลียร์แหล่งใหม่เท่านั้น แต่ยังบังคับผู้เข้าร่วมข้อตกลงนี้ทั้งหมด (รวมถึงสหรัฐอเมริกา) รับรองว่าจะไม่ถ่ายโอนอาวุธนิวเคลียร์ไปยังประเทศอื่นและไม่ช่วยในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่ากรณีใด
1
เรียบเรียงโดย Right Style
12th Feb 2024
  • แหล่งข่าวและข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Sky News>
โฆษณา