28 ก.พ. เวลา 02:00 • สุขภาพ

แอบงีบวันละนิดช่วยให้สุขภาพดีขึ้นจริงหรือ?

ในวันที่เราต้องตื่นเช้ามากหรือมีความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการนอนไม่พอ เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีอาการอ่อนเพลียและง่วง จนบางครั้งต้องทำงานหรือทำกิจกรรมอย่างฝืนใจ แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีวิธีที่ช่วยให้เราสามารถฟื้นฟูสุขภาพจากความง่วงให้สดชื่นแจ่มใสได้ง่าย ๆ นั่นคือ ‘การงีบหลับระหว่างวัน’
การงีบหลับเป็นการนอนหลับในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ร่างกายเหมือนได้กดสวิตซ์ชดเชยเวลานอนที่ไม่เพียงพอ การงีบนั้นจะช่วยให้สมองและร่างกายได้พัก ลดความตึงเครียดระหว่างวัน ที่สำคัญยังทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในทางการแพทย์ได้มีการเปรียบเทียบการงีบหลับสั้น ๆ ว่า การนอนเพียง 10 นาที จะทำให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมที่จะทำงานต่อไปได้อีก 3 ชั่วโมง แถมยังพบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการนอนหลับนาน 30 นาที – 1 ชั่วโมงอีกต่างหาก
💤 ข้อดีของการงีบหลับระหว่างวัน
นอกจากจะทำให้เราได้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว การงีบหลับยังส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนี้
✅ การนอนช่วงสั้น ๆ ช่วยให้เกิดการตื่นตัวของสมองและร่างกายในการทำงาน ส่งผลให้อาการเหนื่อยล้าหายไป และเกิดความกระตือรือร้นแทน
✅ การงีบมีผลในการลดความเครียด ลดความหงุดหงิด เพราะในช่วงที่หลับร่างกายจะลดฮอร์โมนความเครียดลงไปด้วย
✅ ช่วยให้สมองมีประสิทธิภาพ ความจำดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
✅ หลังจากงีบ การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม 40% เพราะได้รับการฟื้นฟูอย่างพอดี
✅ ในการงีบหลับระหว่างวันจะทำให้สุขภาพโดยรวมเราดีขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการปรับสมดุลฮอร์โมนและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ
⏰ เวลาที่เหมาะสมกับการงีบระหว่างวัน
แม้ว่าการได้นอนหลับวันละนิดจะช่วยทำให้สุขภาพร่างกายและสมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะนอนด้วยระยะเวลาเท่าไหร่ก็ได้ตามใจ เพราะช่วงเวลาในการนอนนั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน มีทั้งผลดีและผลเสีย หากเราไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อน
🔘 นอนหลับ 10-20 นาที : การนอนในระยะเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยเพิ่มพลังงานแก่สมองและร่างกาย สามารถคืนความสดชื่นได้ เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง เพราะอยู่ในช่วง Non–Rapid Eye Movement ที่เป็นช่วงหลับธรรมดา (ไม่ใช่หลับฝัน) ทำให้การงีบ 10-20 นาที มีชื่อเล่นอีกอย่างว่า ‘Power Nap’ หรือ ‘การงีบเพิ่มพลัง’
🔘 นอนหลับ 30 นาที : การนอนด้วยเวลา 30 นาทีนั้นไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย เพราะเราจะยังคงรู้สึกง่วง มึนงง ราวกับว่านอนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการให้อยู่ตัวหรือทำให้อาการหายไปอีกครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว
🔘 นอนหลับ 60 นาที : เมื่อเราได้นอนครบชั่วโมง จะเป็นระยะที่ดีต่อความทรงจำของเรา ซึ่งอยู่ในช่วงที่เรียกว่า Slow-Wave Sleep ซึ่งเป็นการหลับลึกที่อาจจะยังคงรู้สึกง่วงเมื่อตื่น แต่สมองจะมีความสามารถในการเสริมความจำได้ดี
🔘 นอนหลับ 90 นาที : ระยะเวลานี้จะอยู่ในลูปการนอนที่ครบรอบ กล่าวคือ มีการหลับลึกและไม่ลึก พร้อมกับเกิดการฝัน ที่ช่วยให้เวลาตื่นอารมณ์ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่ทำให้เกิดอาการงัวเงียเหมือนอย่างการนอน 30-60 นาที
การนอนหลับระหว่างวันอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่แย่เสมอไปหากเรารู้สึกอ่อนล้า เพราะนอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ทำงานได้อย่างเต็มที่ ก็ยังมีผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นการพักสมองและร่างกายไม่ให้หักโหมเกินไป …ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องดีหากวันนี้เราลองงีบหลับกันสักนิด ชีวิตเราจะได้แจ่มใสขึ้น 😀
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา