15 ก.พ. เวลา 16:03 • ประวัติศาสตร์

พระทูลกระหม่อมอาจารย์ ของชาวรั้วแดงกำแพงเหลือง

พล.อ.หญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงรับราชการในตำแหน่ง อาจารย์ส่วนการศึกษา รร.จปร. เมื่อ พ.ศ. 2529 โดยทรงสอนวิชาต่างๆ ณ กองวิชากฏหมาย และวิชาสังคมศาสตร์ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ไทย และวิชาสังคมวิทยา
ต่อมา พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้น จึงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองวิชา ในฐานะข้าราชการประจำและ "ทูลกระหม่อมอาจารย์" ท่านเสด็จมาทรงงาน ณ รร.จปร. เป็นประจำสัปดาห์ละ 2 วัน เนื่องจากอีก 5 วันที่เหลือทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อราษฎรทั้งประเทศ ท่านทรงงานการเป็นครูจนกระทั่งทรงเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2558 และตำแหน่งล่าสุดคือ ศาสตราจารย์ส่วนการศึกษา และผู้บัญชาการพิเศษ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
“ผู้พันเบิร์ด”- พ.อ.วันชนะ สวัสดี ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นอดีตลูกศิษย์ของทูลกระหม่อมอาจารย์รุ่นที่ 17 ยังคงจดจำภาพอันสง่างามของทูลกระหม่อมอาจารย์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อนักเรียนนายร้อย และโรงเรียนนายร้อยได้อย่างไม่มีวันลืม พร้อมถ่ายทอดพระราชจริยวัตรอันงดงามของทูลกระหม่อมอาจารย์ให้ฟังว่า
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2523 กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ของโรงเรียนนายร้อยนั้น จะเสด็จมาทรงสอนนักเรียนเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด โดยทรงสอนวิชาประประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก ให้แก่นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 2 และวิชาประวัติศาสตร์เลือกเสรีให้แก่นักเรียนนายร้อยชั้นปี 3
หนึ่งเทอมจะทรงสอนเป็นเวลา 3 เดือน และในหนึ่งสัปดาห์จะเสด็จมาสอนนักเรียนนายร้อยเป็นเวลา 2 วัน โดยปีนี้กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาทรงสอนนักเรียนในวันพฤหัสฯ และวันศุกร์ ของทุกสัปดาห์จนปิดภาคเรียน
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 ถือเป็นการสอนครั้งสุดท้ายในอายุราชการของทูลกระหม่อมอาจารย์ โดยเสด็จไปสอนวิชาประวัติศาสตร์ หัวข้อภูมิศาสตร์กับโอลิมปิกวิชาการ ยังความปลื้มปีติแก่นักเรียนนายร้อย และ ชาว จปร.ทุกนาย
“พระองค์ท่านตรัสกับอาจารย์ท่านอื่นในโรงเรียนนายร้อยเสมอว่า “นักเรียนนายร้อยก็คือเยาวชน ฉะนั้น งานที่สร้างเยาวชนให้เป็นคนดีคนเก่งของประเทศชาติ คืองานของพระองค์ และการได้มาสอนนักเรียนนายร้อย ก็ถือว่าเป็นการสร้างเยาวชนของชาติได้เหมือนกัน”
แม้กรมสมเด็จพระเทพฯ จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในแต่ละวัน แต่ในฐานะ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” นั้น พระองค์ไม่เคยทรงหยุดสอนเลย แม้ต้องเสด็จไปต่างประเทศก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงกลับมาสอนชดเชยเสมอ และทรงให้ความสนพระทัยในการสอนมาก เพื่อให้ลูกศิษย์ได้รับรู้เรื่องราวที่ทันสมัยอยู่เสมอ
ทุกครั้งที่เสด็จมาสอนนักเรียน พระองค์จะทรงเตรียมการสอนใหม่ ๆ มาทุกสัปดาห์ เพราะว่าประวัติศาสตร์ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา บางส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เพื่อให้ลูกศิษย์มีความรู้เท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง บ่อยครั้งที่พระองค์จะทรงเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มาบรรยายพิเศษแก่คณะลูกศิษย์
ผู้พันเบิร์ด เล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาว่า “บางครั้งในยามที่เสด็จไปทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจยังต่างประเทศ เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าประเทศที่เสด็จไปนั้น เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ท่านก็จะคิดถึงลูกศิษย์และทรงพาคณะนักเรียนไปศึกษาดูงานที่ประเทศนั้นอีกครั้ง โดยมีทูลกระหม่อมอาจารย์เสด็จไปด้วยทุกครั้ง แม้พระองค์จะเพิ่งเสด็จกลับจากประเทศนั้นก็ตาม”
ขณะเดียวกัน หลังจากที่ทรงพานักเรียนกลับมาจากศึกษาดูงานที่ต่างประเทศแล้ว ผู้พันเบิร์ด เล่าว่า ทูลกระหม่อมอาจารย์ จะโปรดให้นักเรียนทำรายงานส่งในรูปแบบของหนังสือทำมือทุกครั้งด้วย และทรงสนพระทัยตรวจงานของลูกศิษย์ทุกคนด้วยพระองค์เองอีกด้วย
อีกภาพที่นักเรียนนายร้อยทุกนายจำจนชินตาคือ ทุกครั้งที่ทูลกระหม่อมอาจารย์เสด็จไปต่างประเทศนั้น เมื่อเสด็จกลับมาสอนที่โรงเรียนนายร้อย พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างจะทรงถือถุงผ้า ซึ่งภายในนั้นบรรจุของฝากจากหลากหลายประเทศที่ได้เสด็จไปเยือนมาแล้ว ทรงนำมาพระราชทานเป็นของฝากแก่นักเรียนนายร้อยทุกนาย
พระมหากรุณาธิคุณของทูลกระหม่อมอาจารย์นี้ มิได้มีแค่เพียงนักเรียนนายร้อยเท่านั้น หากแต่น้ำพระราชหฤทัยยังแผ่ไพศาลถึงโรงเรียนนายร้อยฯ อีกด้วย เพราะทูลกระหม่อมอาจารย์เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวนายร้อยห้อยกระบี่ทุกนาย
“สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาในวันสำคัญของโรงเรียนนายร้อยเป็นประจำทุกปี อาทิ เสด็จมาเป็นองค์ประธานวันไหว้ครู เสด็จมารับแถวนักเรียนนายร้อยทุกเทอม และทุกๆ วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี อันเป็นวันที่นักเรียนนายร้อยฝึกภาคเสร็จแล้ว ประกอบกับวันที่ 2 เม.ย. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ ฉะนั้นในวันนั้นท่านจะเสด็จมาเป่าเค้กวันเกิด พร้อมพระราชทานเค้กวันเกิดให้แก่คณะผู้บริหารของโรงเรียน และนักเรียนนายร้อยทุกนาย”
ถึงแม้ว่าวันเวลาจะล่วงมาถึง 20 ปี หากแต่ ผู้พันเบิร์ด ในฐานะลูกศิษย์ของทูลกระหม่อมอาจารย์รุ่นที่ 17 ยังคงจดจำภาพบรรยากาศในห้องเรียนได้อย่างไม่ลืมเลือน ซึ่งเจ้าตัวเล่าบรรยากาศภายในห้องเรียนสมัยนั้นให้ฟังว่า บรรยากาศแรกๆ ของการเรียนนักเรียนทุกคนจะเกร็ง เพราะเราไม่เคยเรียนกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน พอเกร็งมากๆ ก็จะง่วง ยอมรับเลยว่าชั่วโมงแรกเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ด้วยความเป็นกันเองของทูลกระหม่อมอาจารย์ ผ่านไปสักพักหนึ่งนักเรียนนายร้อยก็เริ่มปรับตัวได้ไม่เกร็งอีกต่อไป
นายทหารหนุ่มแห่งโรงเรียยนายร้อยยังเล่าต่อว่า เมื่อสมัย 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทูลกระหม่อมอาจารย์ทรงเน้นย้ำกับลูกศิษย์อยู่เสมอนั่นก็คือ ต้องการให้ลูกศิษย์ทุกคนรับหน้าที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ไปสู่คนรุ่นหลัง ทรงไม่อยากให้ประวัติศาสตร์หายไปพร้อมกับอดีต
มาจนถึงวันนี้ ถึงแม้ทูลกระหม่อมอาจารย์จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม แต่บทบาทของการเป็นเรือจ้างของ พล.อ.หญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หาได้สิ้นสุดลงไปแต่อย่างใด ด้วยเพราะทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นอาจารย์ผู้เป็นเสมือนเรือจ้าง เพื่อนำพาลูกศิษย์ทุกนายไปถึงยังฝั่งฝัน
ดังนั้น กรมสมเด็จพระเทพฯ จึงรับสั่งกับคณะอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยฯ เสมอว่า พระองค์ไม่เคยรู้สึกว่าเป็นวันสุดท้ายของการสอน ถึงแม้ว่าเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็จะทรงกลับมาเป็นพระอาจารย์พิเศษให้กับนักเรียนนายร้อยทุกรุ่นเสมอ
โฆษณา