21 ก.พ. เวลา 02:39 • สุขภาพ

ความโกรธทำลายร่างกายเราอย่างไร

ความโกรธเป็นอารมณ์ในด้านลบที่ทุกคนต้องเคยเจอ ไม่ว่าจะแค่รู้สึกขุ่นเคืองเล็กน้อยหรือโกรธรุนแรงจนควบคุมได้ยาก ก็สามารถส่งผลกระทบได้ไม่แพ้กัน วันนี้เราจึงอยากพูดถึงผลกระทบของความโกรธที่มีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
บุคคลที่มีอารมณ์โกรธจะมีปฏิกิริยาทางสรีรวิทยา ที่ควบคุมด้วยสารสื่อประสาทและฮอร์โมน ซึ่งเป็นการเตรียมตัวที่จะต่อสู้หรือเดินหนี หากเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเป็นระยะเวลานาน จะกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีผลโดยตรง อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ความโกรธที่ทำลายอาจมีผลต่อสุขภาพจิต
เมื่อเราโกรธ ร่างกายจะเพิ่มการหลั่ง Cortisol ทำให้เพิ่มการผลิตน้ำตาล ป้อนน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด กระตุ้นการบีบของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูง
ยังยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
1
การหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มความเครียดเป็นปริมาณมาก จะส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากหัวใจโดนกระตุ้นให้บีบตัวเร็วและแรงขึ้นจากฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่ง รวมไปถึงมีการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้นในหลอดเลือดเพื่อเป็นที่เก็บพลังงาน ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดแข็งตัวกว่าปกติ เกิดการตีบตันหรือแคบเล็กลง อาจจะเกิดลิ่มเลือดไปเกาะที่ผนังเส้นเลือด จึงส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและเสี่ยงเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือดได้หลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง
งานวิจัยชี้ว่า ภายในสองชั่วโมงแรกของการระเบิดอารมณ์โกรธออกไปจะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดไปอุดตันสมองและเลือดออกในสมองมากถึง 3 เท่า และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 6 เท่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง นอกจากนี้ผู้ที่โกรธ โมโหบ่อย ๆ ยังมีแนวโน้มที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวหรือเกิดหัวใจวายได้ถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยโกรธ
3
นอกจากนี้ การทำงานของภูมิคุ้มกันต่ำลง เจ็บป่วยง่ายขึ้นงานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า การเอาแต่นั่งนึกถึงเรื่องเก่า ๆ ในอดีตที่ทำให้คุณโกรธเป็นฟืนเป็นไฟสามารถส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ทำงานได้ลดลงแม้ในกลุ่มคนที่ร่างกายแข็งแรง และยังพบว่าคนที่มีอารมณ์โกรธโมโหง่ายแสดงอาการเจ็บป่วยออกมาทางระบบย่อยอาหารและระบบหายใจมากขึ้น
แล้วเราจะจัดการความโกรธของเราอย่างไร?
สถานการณ์ที่เผชิญ พื้นเพครอบครัวและวัฒนธรรม เพศ หรือแม้แต่ระดับความเครียดในขณะนั้น ล้วนส่งผลให้คนแสดงปฏิกิริยาต่ออารมณ์โกรธได้หลากหลายรูปแบบ เช่น หงุดหงิด เดินหนี ไม่คุยด้วย ตะโกนโวยวาย ด่าทอ ขว้างปาข้าวของ ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย
การเลือกแสดงออกในทางที่เหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อร่างกายและความสัมพันธ์มากกว่า เรามีวิธีการระงับความโกรธง่าย ๆ ให้ฝึกทำกัน
1
  • 1.
    รู้ทันอารมณ์โกรธของตัวเอง โดยสังเกตอาการที่เป็นอยู่จากความรู้สึกและท่าทาง เช่น ใจเต้นแรง โมโห และหงุดหงิด
  • 2.
    ตั้งสติ สูดหายใจลึก ๆ ช้า ๆ นับ 1-10 ในใจ หรือเลือกถอยออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธสักระยะก่อนที่จะระเบิดอารมณ์ออกไป
  • 3.
    ทบทวนและวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ เพราะการเลือกพูดหรือระเบิดทุกอย่างออกไปตอนอารมณ์โกรธเดือดดาล อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
  • 4.
    ระบายความเครียดที่สะสมด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยอาจจะเป็นการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลงที่ชอบ
1
อย่างไรเสีย ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่ทุกคนมีได้ สิ่งสำคัญคือการรับมือกับความโกรธอย่างไรให้เหมาะสม ไม่กระทบต่อตนเองและผู้อื่น และหากรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอารมโกรธของตนเองได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษารูปแบบอื่นๆเช่น การใช้ยา การทำจิตบำบัด เป็นต้น
อ้างอิง
โฆษณา