20 ก.พ. เวลา 05:45 • สุขภาพ

วิจัยเผยยิ่งอายุมากขึ้นการนอนหลับยิ่งสั้นลง ปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ

นอนไม่หลับมักพบได้บ่อยและเรื้อรังในวัยผู้สูงอายุ และอาจเกี่ยวข้องกับ ปัจจัย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ นิสัยการนอน โรคประจำตัว ความผิดปกติของพฤติกรรมขณะนอนหลับ และโรคทางจิตเวช รวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิต ส่งผลให้มีเวลานอนที่ลดลงและคุณภาพการนอนหลับแย่ลง
การเปลี่ยนแปลงการนอน ปกติร่างกายคนเราจะมีวงจรการนอน แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
  • ช่วงการนอนหลับธรรมดาโดยที่ไม่มีการกลอกตา เป็นส่วนของการนอนหลับลึก เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ได้ฟื้นฟู ซ่อมแซมตัวเอง
นอนไม่หลับ
  • ช่วงการนอนหลับที่กลอกตาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงที่สมองจะทำการจัดเก็บข้อมูลที่เราเรียนรู้มาให้เป็นระเบียบ สร้างความจำระยะยาว และทำให้เกิดการฝัน โดยวงจรการนอนหลับทั้ง 2 ส่วนนี้ จะเกิดสลับกันไป 5-6 ครั้งทุกๆ คืน แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายเริ่มสร้างสารเมลาโทนิน (melatonin) และโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ลดลง
ส่งผลให้ผู้สูงอายุนอนหลับตามช่วงการนอนปกติได้ยากขึ้น ต้องใช้เวลามากกว่า 30 นาทีเพื่อนอนให้หลับ ระยะเวลาของการนอนหลับช่วงกลางคืนลดลง มักตื่นกลางดึกบ่อยๆ และตื่นเช้ากว่าปกติ
สาเหตุการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
  • ปัญหาสุขภาพ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาการขาอยู่ไม่สุข มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวแขนขาเป็นระยะ ความผิดปกติของพฤติกรรมการนอนหลับในช่วง REM Sleep ส่งผลรบกวนการนอนทำให้ระยะการนอนหลับลดลง และขาดคุณภาพ
  • โรคประจำตัวที่มีผลต่อการนอนในผู้สูงอายุ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคที่ส่งผลให้ปวด เช่น โรคข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดบวม โรคเบาหวาน โรคกรดไหลย้อน อาการท้องผูก/ท้องร่วง โรคทางเดินปัสสาวะ ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
  • โรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ จิตเภท
  • พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การงีบหลับช่วงกลางวัน เข้านอนเร็วเกินไป ใช้เตียงสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ เล่นสมาร์ทโฟน
  • สิ่งแวดล้อม มีเสียงรบกวน แสงสว่างมากเกินไป อุณหภูมิเย็น/ร้อน ความชื้น ผ้าปูที่นอนที่ไม่สบาย
  • รับประทานยาบางชนิด ยากระตุ้นประสาท ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิตบางตัว ยาขยายหลอดลม ยาแก้แพ้
วิจัยปัญหานอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่าทั้งชายและหญิงจำนวน 5,407 คน ที่มีอายุ 45-99 ปี พบว่าอายุที่มากขึ้นสัมพันธ์กับระยะเวลาการนอนหลับที่สั้นลง ประสิทธิภาพการนอนหลับที่ลดลง และความตื่นตัวช่วงกลางคืนที่เพิ่มขึ้นในผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงมักมีปัญหากับการตื่นกลางดึกและตื่นเช้าเกินไป
ปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุหากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงการทำงานทางกายภาพที่แย่ลง เช่น แรงยึดจับของมือที่ลดลง และเดินช้าลง ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักมากขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยจากการสำรวจปัจจัยเสี่ยงของการหกล้มในสตรีที่อาศัยอยู่ในชุมชนอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 2,978 คน พบว่าระยะเวลาการนอนหลับตอนกลางคืนที่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง มีความเสี่ยงของการหกล้มเพิ่มขึ้นถึง 95%
วิธีแก้อาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
  • เข้านอนเมื่อง่วงเท่านั้น หากนอนไม่หลับเป็นเวลา 20 นาที ควรลุกไปทำอย่างอื่นที่ห้องอื่น แล้วกลับเข้าห้องนอนเมื่อง่วง
  • ควรตื่นนอนเวลาเดิมทุกเช้า ไม่ว่าจะเข้านอนเวลาใดในตอนกลางคืน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • สร้างสภาพแวดล้อมในห้องนอน ทำให้ห้องนอนมืดและเงียบสงบ เสียงและแสง สามารถรบกวนการนอนหลับได้ รักษาอุณหภูมิห้องนอนให้สบายตามความชอบของแต่ละคน
  • รับประทานอาหารปกติ 3 ครั้งต่อวัน เมื่อรู้สึกหิว ให้รับประทานของว่างเบาๆ และหลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนนอน
  • จำกัดการดื่มน้ำก่อนนอน และจำกัดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชาเขียว ชา กาแฟ และช็อกโกแลต) ไม่เกิน 3 ถ้วยต่อวัน และไม่ควรดื่มในช่วงเย็น หรือก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในตอนเย็น เนื่องจากรบกวนการนอนหลับ
  • ไม่ใช้ยานอนหลับทุกประเภทที่ซื้อมารับประทานเอง หรือยาแก้แพ้ แก้เมา ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง เพราะอาจทำให้เกิดอาการสับสน มึนงง ระหว่างวัน ความจำถดถอย และเดินเซ ล้มได้
  • ควบคุมสิ่งเร้าต่างๆ เช่น หนังสือ หรือภาพยนตร์ที่ตื่นเต้นมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวัน
หากพบปัญหาเรื้อรังควรพบแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา