20 ก.พ. เวลา 15:05 • ประวัติศาสตร์

"จรัญ" สนิทกับ "วงศ์" ได้อย่างไร

คุณรู้หรือไม่ว่าถนนสายหนึ่งในฝั่งธนบุรีที่ชื่อว่า "จรัญสนิทวงศ์" ตั้งขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งขึ้นเพราะคนชื่อจรัญกับวงศ์ เป็นเพื่อนสนิทกัน จึงมีการสร้างถนนเส้นนี้เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของทั้งสองคน ผ่ามพ้ามมมมมม
มา เข้าสาระกันเลยดีกว่า
จรัญสนิทวงศ์ เป็นอีกหนึ่งย่านที่มีชุมชนเก่าแก่อยู่อาศัยมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใกล้ริมคลองต่าง ๆ ของย่านนี้ เช่น คลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย ฯลฯ รวมถึง พื้นที่ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี หรือเดิมเรียกว่า สถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีความสำคัญในฐานะเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายใต้ และสายตะวันตก เป็นสถานีที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และจัดเป็นสถานีที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังใกล้กับโรงพยาบาลศิริราชด้วย
แต่เดิมถนนเส้นนี้ใช้ชื่อ “จรัลสนิทวงศ์” มาก่อน โดยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของ จรัล (จะ-รัน) แปลว่า เดิน แต่ชื่อถนนที่ถูกต้องคือ จรัญสนิทวงศ์ ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงจรัญสนิทวงศ์ (ม.ล.จรัญ สนิทวงศ์) อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ก่อนที่กรุงเทพมหานคร จะได้แก้ไขเป็น “จรัญสนิทวงศ์” ตามนามของหลวงจรัญสนิทวงศ์ในภายหลัง
สำหรับประวัติคร่าวๆ ของท่านคือ ม.ล.จรัญ สนิทวงศ์ เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี) เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2456 จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศอังกฤษ แล้วรับราชการ จนตำแหน่งสุดท้ายเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466 ท่านได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น หลวงจรัญสนิทวงศ์
ถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นถนนในฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากถนนเพชรเกษม ที่สี่แยกท่าพระในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนพาณิชยการธนบุรี (จรัญสนิทวงศ์ 13) ที่สามแยกพาณิชยการธนบุรีจากนั้นข้ามคลองมอญ เข้าสู่พื้นที่แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย ตรงไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนพรานนกที่สามแยกไฟฉาย จากนั้นโค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับทางรถไฟสายใต้ (จากสถานีรถไฟธนบุรี) เข้าแขวงบางขุนนนท์ ตัดกับถนนบางขุนนนท์ที่สามแยกบางขุนนนท์
จากนั้นข้ามคลองบางกอกน้อยเข้าสู่แขวงอรุณอมรินทร์ ตัดกับถนนบรมราชชนนีที่สี่แยกบรมราชชนนีเข้าสู่พื้นที่เขตบางพลัด โดยเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงบางบำหรุกับแขวงบางยี่ขันไปจนตัดกับถนนสิรินธรและถนนราชวิถีที่สี่แยกบางพลัด จากนั้นจึงเข้าสู่แขวงบางพลัด มุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางพลัดเข้าสู่พื้นที่แขวงบางอ้อ และไปสิ้นสุดที่เชิงสะพานพระราม 7 ในพื้นที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ปัจจุบันถนนจรัญสนิทวงศ์ตลอดทั้งสายได้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายสัญญาที่ 3 ช่วงสถานีเตาปูนถึงสี่แยกท่าพระ เป็นลักษณะรถไฟฟ้าแบบลอยฟ้าเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (เชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรมที่สถานีเตาปูน) เริ่มดำเนินการก่อสร้างใน พ.ศ. 2555 จากกำหนดเวลาเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2554 แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตมหาอุทกภัย ทำให้ต้องเลื่อนการก่อสร้างออกไป จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการใน พ.ศ. 2563
ถนนจรัญสนิทวงศ์เคยเป็นแหล่งรวมของสำนักงานวงดนตรีลูกทุ่งในช่วง พ.ศ. 2510–2520 ซึ่งเป็นช่วงที่ดนตรีลูกทุ่งกำลังเบ่งบานมากที่สุด เกิดนักร้องลูกทุ่งมากหน้าหลายตาที่ซอยบุปผาสวรรค์ (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 27) เช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์, เพลิน พรหมแดน, สังข์ทอง สีใส เป็นต้น และในอดีตบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ล้อต๊อก, สายัณห์ สัญญา เป็นต้น มักนิยมซื้อบ้านบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์
โฆษณา