16 มี.ค. เวลา 05:12 • การศึกษา

นำเสนอ Data อย่างมืออาชีพ ด้วย 6 ขั้นตอน

การนำเสนอข้อมูล กราฟ สถิติ นำเสนอทาง Power point หรืออื่นๆ ต่างๆ นานา เป็นสิ่งที่คนทำงานส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาต้องพบเจอ หลายๆ ครั้ง พอเรามองภาพการนำเสนอของตัวเอง ช่างแตกต่างกับการนำเสนอระดับเทพ แท้จริงแล้ว มีเทคนิคที่จะยกระดับการนำเสนอให้ดูสวยงาม น่าสนใจ และสื่อตามที่เราต้องการจะสื่อได้
Cole Nussbaumer Knaflic ผู้เชี่ยวชาญการแสดงข้อมูลเชิงปริมาณด้วยภาพและแผนภูมิ ในฐานะผู้จัดการทีมวิเคราะห์ข้อมูลบุคลากรของ google ได้เสนอเทคนิคการนำเสนอข้อมูลขั้นเทพไว้ดังนี้ครับ
1. เข้าใจบริบท
ต้องชัดเจนว่าเรากำลังสื่อสารกับใคร ต้องการให้เขารับรู้หรือทำอะไร และใช้ข้อมูลใดมาสนับสนุนประเด็น
2. เลือกสื่อภาพที่เหมาะสม
(1) ข้อความ - ใช้นำเสนอตัวเลขหนึ่งหรือสองตัว
(2) ตาราง - เน้นข้อมูลในตารางเป็นหลัก อย่าให้เส้นตารางเด่นกว่า ควรตัดออกหรือทำให้กลืนกับพื้นหลังที่สุด
(3) ฮีตแมป - ใช้สีเพื่อแสดงระดับความสำคัญของตัวเลข ควรลดเส้นตารางเช่นกัน
(4) แผนภูมิกระจาย (scatterplot) - ใช้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างของสองอย่าง
(5) กราฟเส้น - ใช้นำเสนอข้อมูลที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งมักอยู่ในหน่วยเวลา
(6) กราฟความชัน - ใช้นำเสนอความสัมพันธ์ของการเพิ่ม-ลด ข้อมูลสองอย่าง หรือสองช่วงเวลา
(7) แผนภูมิแท่งแนวตั้ง - ใช้เปรียบเทียบข้อมูลมากกว่าหนึ่งชุด
(8) แผนภูมิแท่งแนวตั้งแบบเรียงซ้อน - ใช้เปรียบเทียบข้อมูลมากกว่าหนึ่งชุด พร้อมทั้งแสดงองค์ประกอบย่อยของข้อมูล ที่สำคัญคือควรเปรียบเทียบโดยเริ่มจากค่า 0 ให้เหมือนกันทุกชุดข้อมูล
(9) แผนภูมิน้ำตก - ใช้นำเสนอข้อมูล ที่ดึงออกจากแผนภูมิแท่งแบเรียงซ้อนออกมาทีละส่วน เพื่อแสดงข้อมูลเป็นลำดับขั้นตอน ตั้งแต่เริ่ม มีการเพิ่ม-ลด จนมาถึงผลสุดท้าย
(10) แผนภูมิแท่งแนวนอน
(11) แผนภูมิแท่งแนวนอนแบบเรียงซ้อน
แผนภูมิแท่งแนวนอนทั้งสองประเภทใช้ได้เช่นเดียวกับแผนภูมิแท่งแบบแนวตั้ง แต่จะเหมาะกันสายตาเรามากกว่า เพราะธรรมชาติคนเรามักจากมองจากซ้ายไปขวา
(12) แผนภูมิพื้นที่ - ใช้นำเสนอข้อมูลที่มีค่าแตกต่างกันอย่างมาก
สื่อที่ใช้นำเสนอข้อมูล
🚩ควรหลีกเลี่ยง แผนภูมิวงกลม แผนภูมิโดนัท หรือแผนภูมิสามมิติทุกชนิด เพราะทำให้อ่านข้อมูลได้ไม่ชัดเจน
3. ตัดน้ำให้เหลือแต่เนื้อ
ขยายความด้วย 2 คำพูดนี้ครับ
"การมองหาเหยี่ยวบนท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยฝูงนกพิราบเป็นเรื่องง่าย แต่หากมีนกหลายชนิดขึ้น การมองหาว่านกตัวไหนคือเหยี่ยวคงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป"
และ
"คุณจะรู้ว่าคุณไปถึงความสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ใช่เพราะไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรแล้ว แต่เพราะคุณไม่มีอะไรต้องตัดทิ้งแล้วต่างหาก"
4. เน้นจุดที่ต้องการ
เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้รับสารรู้ว่าส่วนใดสำคัญ โดยใช้สิ่งดึงดูดความสนใจ เช่น สี ขนาด ตำแหน่ง
5. คิดอย่างนักออกแบบ
(1) ข้อบ่งชี้การใช้งาน
ต้องชี้ให้เห็นว่าผู้รับสารควรมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่นำเสนออย่างไร โดยทำให้ส่วนนั้นโดดเด่นกว่าข้อมูลส่วนอื่น เช่นปรับสี ปรับขนาด ทำตัวหนา ซึ่งผู้เขียนชอบใช้สีโทนน้ำเงิน ในส่วนที่เน้น และใช้สีเทาอื่นสำหรับข้อมูลส่วนอื่น
(2) การเข้าถึงได้
ต้องไม่ซับซ้อน และใช้ข้อความที่เป็นมิตรกับผู้รับสาร
(3) สุนทรียศาสตร์
คือให้เลือกใช้สีสันอย่างรอบคอบ ไม่ฉูดฉาดเกินไป จากนั้นจัดเรียงองค์ประกอบต่างๆ อย่างเหมาะสม ส่วนบริเวณที่ว่างสีขาว (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผู้เขียนแนะนำให้ใข้พื้นหลังสีขาว) ปล่อยว่างได้ เพื่อช่วยขับให้จุดที่เสนอข้อมูลเด่นขึ้น ไม่ต้องหาอะไรมาเติมตรงที่ว่างนั้น
(4) การยอมรับ
ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ เปรียบเทียบให้เห็นเป็นข้อๆ นำเสนอตัวเลือกที่หลากหลาย และหาผู้ที่เป็นกระบอกเสียงในกลุ่มผู้รับสารที่เห็นด้วย
6. ถ่ายทอดเรื่องราว
เช่นการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ คือมีจุดเริ่มต้น(โครงเรื่อง) จุดกึ่งกลาง(จุดพลิกผัน) และจุดสิ้นสุด(กระตุ้นในลงมือปฏิบัติ)
นอกจากนี้สามารถหาดูตัวอย่างขั้นเทพ เพื่อไปลองปรับใช้กันได้ตามลิ้งค์ครับ
หนังสือ Storytelling with data
สรุปจากจากหนังสือ Storytelling with data เขียนโดย Cole Nussbaumer Knaflic แปลไทยโดย ฐานันดร วงศ์กิตติธร
ภาพปกโดย StockSnap จาก Pixabay
โฆษณา