28 ก.พ. เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Insurance 2030 – AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยอย่างมหาศาลภายในปี 2030

บทความนี้ยึดตามรายงาน “Insurance 2030—The impact of AI on the future of insurance” ของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey ที่ได้ออกมาทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมธุรกิจประกันภัยจากการเข้ามาของเทคโนโลยีปัจจุบันและที่สำคัญคือ AI ที่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่การดำเนินการเรียกเงินประกันนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยบทความนี้จะมาสรุปใจความสำคัญให้สำหรับทุกท่านที่สนใจได้อ่านกันครับ
4 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจประกัน
1. ข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากเครือข่ายอุปกรณ์อัจฉริยะ
ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นอุปกรณ์อัจฉริยะมากมายที่มาพร้อมเซนเซอร์ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะเชื่อมต่อกันมากขึ้น ผู้คนทั่วไปจะเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้มากยิ่งขึ้น และจะมีอุปกรณ์อัจฉริยะใหม่ ๆ ออกวางขายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ
ได้แก่ รถยนต์อัจฉริยะ ผู้ช่วยบ้านอัจฉริยะ (home assistants) ตัวช่วยออกกำลังกาย (fitness tracker) สมาร์ตโฟน, และ สมาร์ตวอทช์ เป็นต้น เราจะได้เห็นอุปกรณ์ใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าอัจฉริยะ แว่นตาอัจฉริยะ เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ (home appliances) เครื่องมือการแพทย์อัจฉริยะ และรองเท้าอัจฉริยะ
การถาโถมเข้ามาของอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะทำให้เกิดข้อมูลมหาศาล โดยที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินตัวเลขของการเชื่อมต่อกันระหว่างอุปกรณ์เหล่านี้จะสูงขึ้นไปแตะเลขหนึ่งล้านล้านการเชื่อมต่อภายในปี 2025 ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้บริษัทประกันต่าง ๆ เข้าใจลูกค้าของตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การนำเสนอประกันในรูปแบบใหม่ ๆ การเสนอราคาที่เฉพาะกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และการเคลมประกันที่รวดเร็วในระดับนาที (real-time service delivery)
ตัวอย่างเช่น บริษัททำการคำนวณความเสี่ยงของลูกค้าจากข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เครื่องสวมใส่ที่ลูกค้าได้ใส่ตลอด โดยที่บริษัทจะมีฐานข้อมูลของอุปกรณ์เครื่องสวมใส่เหล่านี้ของลูกค้าคนอื่นอยู่แล้วจึงสามารถคำนวณราคาที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่บริษัทต้องรับของลูกค้าคนนี้
2. การใช้งานหุ่นยนต์จักรกลที่แพร่หลายมากขึ้น
ในช่วงไม่นานมานี้เราได้เห็นวงการหุ่นยนต์ได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย และนวัตกรรมเหล่านั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญคือเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) โดยที่ภายในปี 2025 การสร้างตึกด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น
และนี่จะเป็นโอกาสของบริษัทประกันที่จะมาช่วยประเมินความเสี่ยงของตึกที่ถูกสร้างแบบนี้ได้ นอกจากเครื่องพิมพ์สามมิติแล้วน เรายังจะได้เห็นหุ่นยนต์ประเภทใหม่ ๆ เช่น โดรนขับเคลื่อนตนเอง หุ่นยนต์ทำสวนด้วยตนเอง และหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือในการผ่าตัด นอกจากนี้ภายในปี 2030 ยานพาหนะส่วนใหญ่ที่มีตัวเลือกในการขับเคลื่อนตัวเอง เพราะฉะนั้นบริษัทประกันภัยจำเป็นต้องเข้าใจการใช้งานหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายนี้ ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ และโอกาสในการนำเสนอประกันในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ในท้ายที่สุด
3. ระบบนิเวศของการใช้ข้อมูลและซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส
เราได้เห็นแล้วว่าข้อมูลจะเกิดขึ้นมหาศาล เพราะฉะนั้นทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนจะต้องหาทางออกรวมกันในการสร้างกฎระเบียบในการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์สวมใส่อาจส่งข้อมูลโดยตรงไปให้กับบริษัทประกันภัย หรือบริษัทข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าว
4. ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการรับรู้ขั้นสูง (Advances in Cognitive Technologies) Convolution Neuron Network และเทคนิค Deep Learning แบบอื่น ๆ ที่ใช้ในการประมวลผลภาพเสียงและข้อความต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ มิติด้วยกัน เทคโนโลยีการรับรู้เหล่านี้ที่คล้ายกับจำลองการเรียนรู้ของสมองจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการประมวลผลข้อมูลที่ถาโถมกันเข้ามาจากกิจกรรมจากลูกค้าที่ตรวจจับได้จากอุปกรณ์อัจฉริยะ ด้วยความสามารถนี้เอง บริษัทประกันสามารถนำเสนอประกันในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับ Real-time ได้
การประกันในปี 2030 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ยิ่งใหญ่สู่อุตสาหกรรมประกันภัย ตั้งแต่การนำเสนอขายประกันไปจนถึงการพิจารณารับประกัน (underwriting) และจากการตั้งราคากรมธรรม์ไปสู่การเคลมประกัน เรามาดูให้ลึกกว่านี้ว่าแต่ละส่วนของธุรกิจประกันจะถูกกระทบอย่างไรบ้าง
การนำเสนอขายประกัน
ในอนาคต การซื้อขายประกันจะเกิดขึ้นไวกว่าเดิมมาก และปราศจากการเจอหน้ากันระหว่างผู้ขายประกันและผู้ซื้อประกัน เมื่อบริษัทประกันมีข้อมูลของลูกค้ามากเพียงพอในการสร้างรูปแบบความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคน การคำนวณความเสี่ยงเพื่อที่จะยื่นข้อเสนอของการทำประกันต่าง ๆ ก็จะใช้เวลาสั้นลงในระดับนาที หรือแม้กระทั่งวินาที ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบัน บริษัทประกันรถยนต์และประกันภัยบ้านสามารถประเมินราคาของประกันให้ลูกค้าได้โดยทันทีเมื่อร้องขอได้แล้ว
แต่บริษัทประกันยังต้องปรับจูนโมเดลปัญญาประดิษฐ์อีกพอสมควรก่อนที่จะขยายขอบเขตการประกันภัยไปสู่ลูกค้าในวงกว้างได้ และเมื่อ AI ก้าวไปสู่ธุรกิจประกันชีวิตและบริษัทประกันสามารถระบุความเสี่ยงได้อย่างละเอียดขึ้น เราคงได้เห็นการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ได้
นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นบล็อกเชนก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายได้ ยกตัวอย่างเช่น การยืนยันการโอนเงิน การสืบประวัติ สิ่งเหล่านี้จะหมดไปและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการได้ลูกค้ามา (Customer Acquisition Cost: CAC) เทคโนโลยีเช่น โดรน Internet of Things (IoT) และข้อมูลสำหรับโมเดลปัญญาประดิษฐ์จะเป็นตัวส่งเสริมให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ไวขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ในอนาคต เราจะได้เห็นประกันขนาดย่อยตามใช้จริง (Usage-Based Insurance: UBI) ที่สามารถยืดหยุ่นตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกัน จากประกันภัยที่ “ซื้อมาแล้วต่ออายุเมื่อครบปี” ในปัจจุบันจะกลายเป็นโมเดล “ซื้อไปเรื่อย ๆ ตามที่ใช้งานจริง” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แตกต่างในแต่ละวันของผู้บริโภค
นอกเหนือจากนี้ จากกรมธรรม์ประกันภัยที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมไปเสียทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็น กรมธรรม์ขนาดย่อย เช่น ประกันภัยแบตเตอรี่โทรศัพท์ ประกันไฟลท์ดีเลย์ ประกันอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าแต่ละตัวก่อนที่จะใช้งาน โดยที่จะมีบริษัทประกันมากมายมานำเสนอกรมธรรม์หลากหลายราคาเพื่อจูงใจผู้บริโภค กลายเป็นว่าผู้บริโภคก็จะมีตะกร้าของกรมธรรม์ประกันขนาดย่อยต่าง ๆ ที่ผู้โภคบริโภคเป็นคนเลือกเอง และในอนาคตที่ธรรมชาติของการท่องเที่ยวและการเดินทางที่เปลี่ยนไป การนำเสนอประกันภัยในรูปแบบใหม่ ๆ ก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน
เช่น ประกันตามระยะทางที่เดินทาง (pay-by-mile) หรือ ประกันตามการเดินทางครั้งนั้น (pay-by-ride) สำหรับการเดินทางแบบรถเช่าระยะสั้น (car-sharing) และ ประกันตามการอยู่อาศัย (pay-by-stay) สำหรับที่การเช่าที่พักอาศัยระยะสั้น เช่น Airbnb เป็นต้น
อีกหนึ่งสิ่งที่จะได้รับผลกระทบคือ ตัวแทนจำหน่ายประกันจะเปลี่ยนบทบาทจากคนที่ทำหน้าที่ขายประกันโดยตรงเป็นผู้สอนการใช้งานประกันรูปแบบใหม่และผู้ช่วยเหลือการซื้อขายประกันย่อย ๆ เหล่านี้แทนที่จะมาเป็นผู้ขายโดยตรง ตัวแทนจำหน่ายจะมีตัวช่วยอย่างเช่น ผู้ช่วยอัจฉริยะ (personal assistants) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขา และบอทปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยหาข้อเสนอพิเศษที่เหมาะสมที่สุดกับลูกค้าของเขา
การพิจารณารับประกันและการตั้งราคากรมธรรม์ (Underwriting and Pricing)
ในปี 2030 นี้ การพิจารณารับประกันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเหลืออยู่น้อยมากสำหรับประกันภัยส่วนบุคคลและประกันภัยของธุรกิจขนาดเล็ก กระบวนการพิจารณารับประกันจะเหล่านี้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที
และประกันจำนวนมากจะได้รับการคำนวณความเสี่ยงโดยอัตโนมัติด้วยโมเดล deep learning โมเดลเหล่านี้จะถูกเทรนโดยข้อมูลที่บริษัทประกันภัยเก็บไว้ และ API ของบริการขอข้อมูลชนิดอื่น ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถรับรู้ความเสี่ยงของผู้ขอประกันภัยและทำการคำนวณราคากรมธรรม์ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้น
ถึงแม้จะฟังดูง่าย แต่ว่าการที่อุตสาหกรรมจะไปถึงจุดนั้นได้จะต้องอาศัยการรับรองทางกฎหมายให้ได้ก่อน ซึ่งการจะอนุญาตให้ทำโมเดลมาขายอย่างนี้ได้บริษัทประกันผู้พัฒนาโมเดลจำเป็นต้องอธิบายอย่างชัดเจนให้กับทางผู้กำกับดูแลว่าตัวเลขคะแนนความน่าเชื่อถือ (หรือความเสี่ยง) ของลูกค้านั้นคำนวณมาได้อย่างไร (คล้าย ๆ กับการคำนวณ Credit Rating หรือความน่าเชื่อถือในการลงทุนของสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่าง ๆ)
อีกทั้งการใช้ข้อมูลเพื่อโฆษณาขายกรมธรรม์ หรือการพิจารณาประกันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ จำเป็นต้องได้รับตรวจสอบจากผู้กำกับดูแลผ่านสำรวจผลลัพธ์ที่ได้จากการจำลองข้อมูลผู้ใช้บริการ ผู้กำกับดูแลยังจำเป็นต้องออกแบบแนวทางการทดสอบประกันเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์ของโมเดลการคำนวณความเสี่ยงนี้จะอยู่ในช่วงที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน (เช่น ข้อมูลทางการแพทย์ หรือข้อมูลพันธุกรรม) ที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติสำหรับบางกลุ่มได้
อย่างไรก็ตาม ราคาของประกันก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จูงใจผู้บริโภคอยู่ แต่นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ของบริษัทประกันจะช่วยเปิดกว้างการแข่งขันทางด้านบริการมากขึ้น แพลตฟอร์มการซื้อขายประกันจะช่วยเชื่อมต่อบริษัทประกันและลูกค้าเข้ากันเพื่อมอบประสบการณ์ที่พิเศษให้กับลูกค้า (เสียจนกระทั้งลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายในการย้ายไปใช้บริการประกันของบริษัทอื่น) ในบางประกัน ราคาจะยังคงเป็นปัจจัยอยู่และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โดยประกันเหล่านี้จะสร้างกำไรที่ต่ำจนเป็นเรื่องปกติ แต่ในสินค้าประเภทอื่น ๆ การนำเสนอสินค้าประเภทพิเศษที่ฉีกออกจากสินค้าประเภทเดิมจะทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ในประเทศที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอสินค้าเหล่านี้ การแข่งขันทางราคาจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในระดับวินาที โดยที่บริษัทจะสามารถคำนวณราคาให้กับแต่ละคนได้ผ่านข้อมูลที่ไหลผ่านบริษัทอยู่เรื่อย ๆ
ทำให้บริษัทเหล่านั้นประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้ตลอดเวลา เพิ่มการควบคุมให้กับผู้บริโภคในการกระทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่จะส่งผลต่อความคุ้มครองของประกัน และราคาของประกันที่เขาจะต้องจ่าย
การเคลมประกัน
การเคลมประกันยังคงเป็นงานหลักของบริษัทประกันในปี 2030 แต่การเคลมเกินกว่าครึ่งจะถูกแปรเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยทำให้การนำทาง (ไปสู่ที่เกิดเหตุ) แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อุปกรณ์เซนเซอร์ IoT และอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บข้อมูลอย่างโดรนจะเริ่มเข้ามาแทนที่ระบบดั้งเดิมในการตรวจสอบที่เกิดเหตุ การจัดการเรื่องการเคลมและการซ่อมแซมความเสียหายจะเกิดขึ้นอัตโนมัติหลังจากอุบัติเหตุโดยทันที ตัวอย่างในกรณีของอุบัติเหตุยานยนต์ บริษัทประกันจะตรวจสอบความเสียหายจากวิดีโอที่บันทึกไว้ (จากกล้องวงจรปิดในสถานที่ หรือจากยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ) ระบบจะเปลี่ยนวิดีโอเหล่านี้เป็นลักษณะของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น
และจะถูกดำเนินการในการจัดการการเคลมประกันในลำดับถัดไป ในกรณีอุบัติเหตุเล็กน้อย ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนตัวเองได้ (autonomous vehicle) จะขับเคลื่อนตัวเองไปสู่ศูนย์ซ่อมแซมในขณะที่ผู้โดยสารยานพาหนะคันนั้นจะได้รับคันใหม่ในระหว่างการซ่อมแซมโดยทันที ในบ้าน ระบบ IoT จะช่วยวัดระดับน้ำของแทงค์น้ำในบ้าน อุณหภูมิ และปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ลูกบ้านและเจ้าของประกันได้รับทราบก่อนที่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้น
ผู้ขอประกันจะติดต่อเพื่อขอการเคลมกับบริษัทประกันภัยผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถพูดคุย หรือส่งข้อความหาได้โดยระบบอัตโนมัติที่ไม่มีคนมาเกี่ยวข้องเลย ระยะเวลาที่ใช้ในการเคลมประกันแบบนี้จะลดลงเหลือเพียงแค่ระดับนาทีเท่านั้น ไม่ใช่ระดับวัน หรือระดับสัปดาห์อย่างที่เคยเป็นมา ถึงกระนั้น ระบบก็ยังรองรับการเคลมแบบที่มีพนักงานบริษัทเข้ามาเกี่ยวข้องได้
แต่แค่เฉพาะกรณีที่ซับซ้อนและระบบไม่เคยเจอมาก่อน หรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้ขอประกันกับระบบอัตโนมัติโดยที่ผู้ร้องเรียนมีการทำการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการร้องเรียนมาด้วย นอกจากนี้ บริษัทจะทำการสุ่มการเคลมประกันโดยให้มนุษย์เข้ามาตรวจสอบเพิ่มเพื่อวัดมาตรฐานการทำงานของระบบ
การเคลมอัตโนมัติจำเป็นต้องใช้ระบบทางการเงินดิจิทัลพื้นฐาน เรียนรู้ว่าเงินในระบบดิจิทัลในโลกอนาคตเป็นอย่างไรได้ในบทความ CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 1
และด้วยกระบวนการเคลมที่จะถูกกลายเป็นอัตโนมัติ บริษัทประกันจะมุ่งเน้นไปในการป้องกันไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นแทน เช่น การลดความเสี่ยงและการป้องกันรวมถึงการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในการทำกิจกรรมของเจ้าของประกัน อุปกรณ์ IoT จะช่วยเข้ามาดูแลความเสี่ยงและจะแจ้งเตือนหากผู้ใช้งานมีความเสี่ยงเกินกว่าที่ระบบกำหนด
นอกจากนี้ มันยังแจ้งเตือนหากอุปกรณ์นั้นถึงรอบกำหนดในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุปกรณ์ที่ชำรุด สำหรับการเคลมประกันสำหรับภัยพิบัติขนาดใหญ่ บริษัทประกันจะมีข้อมูลจากบ้าน ยานพาหนะ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ในกรณีที่ยังมีไฟฟ้าใช้งานได้อยู่
แต่ถ้าไฟฟ้าดับลง บริษัทประกันก็จะหาข้อมูลจากสัญญานดาวเทียม เครือข่ายของโดรน ข้อมูลพยากรณ์อากาศ และข้อมูลจากหน่วยภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การเคลมลักษณะนี้ได้รับการทดสอบมาจากบริษัทประกันขนาดใหญ่แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการคำนวณความเสียหาย และมีความน่าเชื่อถือในการเคลมประกันที่ถูกต้อง แม่นยำ รายงานของความสูญเสียจากบริษัทประกันก็จะออกมาโดยทันทีหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เพื่อนำมาเป็นจุดขายของการขายประกันต่อ ๆ ไป
ผู้เขียนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างมหาศาล ในแง่หนึ่งมันจะส่งผลให้เรามีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้นเนื่องจากบริษัทประกันจะทำหน้าที่ในเชิงรุกเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเราก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม นั่นก็อาจทำให้อำนาจตกอยู่มือของบริษัทประกันมากขึ้นเช่นเดียวกันเพราะมันสามารถโน้มน้าวให้เรากระทำสิ่งใด ๆ ตามที่บริษัทต้องการ เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องการความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์ที่ดีขึ้น เพื่อให้เราสามารถออกกฎหมายบังคับใช้ได้ดีขึ้น
นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ของการสั่นสะเทือนในอุตสาหกรรมประกันเท่านั้น หากท่านใดที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจประกันอยู่และอยากจะรู้วิธีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจตนเองไปสู่ยุคใหม่ก็สามารถอ่านเพิ่มได้ในรายงานฉบับนี้ได้เลย
บทความนี้แปลมาจากรายงาน Insurance 2030—The impact of AI on the future of insurance จาก McKinsey & Company
แปลโดย อนันต์วัฒน์ ทิพย์ภาวัต
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์
โฆษณา