28 ก.พ. เวลา 05:45 • สุขภาพ

เสี่ยงไตวาย! “กาแฟลดน้ำหนัก” เช็กผลข้างเคียง-วิธีตรวจความปลอดภัย

“กาแฟลดน้ำหนัก” อันตรายกว่าที่คิด หลังสาวดื่มติดต่อกัน 2 ปี แม้ลดอ้วนได้ แต่กลับเจอเรื่องช็อกไตวายรุนแรง เช็กผลข้างเคียง-วิธีตรวจความปลอดภัย ที่นี่!
หลังมีเรื่องราวสุดสะพรึงเผยให้เห็นถึงอันตรายของกาแฟลดน้ำหนัก เมื่อหญิงสาววัย 30 ปีคนหนึ่งต้องเข้ารักษาตัวด้วยภาวะไตวายรุนแรงจากการกินกาแฟลดน้ำหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
โดยรายงานเปิดเผยว่า หญิงสาวคนนี้ได้ดื่มกาแฟที่เคลมว่าสามารถลดความอ้วนได้ ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และพบว่าสามารถลดน้ำหนักได้เกือบ 20 กิโลกรัม แต่พอผ่านไป 2 ปีกลับเริ่มมีปัญหาทางกาย แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก
กาแฟ
จนถูกหามเข้าห้องฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นลมและแพทย์ตรวจพบอัตรากรองไตเหลือเพียง 3ML ต่อนาที และหลังจากนี้เธอจะต้องฟอกไตเพื่อความอยู่รอดในอนาคต
เรื่องราวนี้กลายเป็นอุทาหรณ์เตือนใจของคนอยากผอมหลายคน วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟลดน้ำหนักมาฝากกันว่า ดื่มแล้วสามารถลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่ มีผลข้างเคียงอย่างไร แล้วจะมีวิธีเช็กอย่างไรว่ากาแฟที่เรากินอยู่นี้ปลอดภัย
กาแฟลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้จริงหรือไม่
ดร. Erdie Fadreguilan แพทย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจฟิลิปปินส์ ให้ข้อมูลว่า กาแฟลดน้ำหนักช่วยลดน้ำหนักได้จริง แต่ก็มีส่วนผสมอันตรายที่ซ่อนอยู่ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วมักพบสาร “ไซบูทรามีน” ที่ส่งผลให้มีอาการดังต่อไปนี้
  • ใจสั่น
  • คลื่นไส้
  • ปากแห้ง
  • ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ
  • ท้องผูก
  • ความดันโลหิตสูง
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต
นอกจากนี้ ข้อมูลจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ (HSA) ยังค้นพบอีกว่า หากกินกาแฟที่มีสารไซบูทรามีนติดต่อเป็นเวลานานนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น โรคจิต และอาการประสาทหลอน
อย่างไรก็ตามสำหรับหญิงรายนี้ แม้จะไม่มั่นใจว่าภายในกาแฟลดน้ำหนักนี้มีสารอันตรายใด แต่ที่แน่ๆ ตามรายงานจะพบว่าหากกินติดต่อเป็นเวลานานจะเสี่ยงไตวายรุนแรง
วิธีเช็กกาแฟนี้ปลอดภัยหรือไม่
สิ่งแรกที่อยากให้ทำกันคือการเช็ก “ฉลาก อย.” ว่าผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังจะเลือกดื่มนี้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วหรือยัง เพราะโดยส่วนมากแล้วกาแฟลดน้ำหนักที่พบโฆษณาอยู่ในโซเชียลมักจะไม่มีเลขเหล่านี้ และค้นพบสารอันตรายอย่างไซบูทรามีนอยู่บ่อยๆ ซึ่งความจริงแล้ว อย.ไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณลดความอ้วนแบบดังกล่าวอยู่แล้วด้วย
ดังนั้นแล้วถ้าใครไม่มั่นใจ สามารถเช็กได้ผ่านเว็บไซต์ของ อย. หากไม่พบข้อมูลขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านี่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่กินแล้วดีต่อสุขภาพเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะสรุปได้ว่ากาแฟลดน้ำหนักจะช่วยลดน้ำหนักได้จริง และผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักหลายชนิดจะได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากกระทรวงสาธารณสุขแล้วก็ตาม แต่ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน ดังนั้นในตอนนี้หากใครอยากผอม การออกกำลังกายและการควบคุมอาหารอย่างเหมาะสมยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : Mirrormedia, CNA, Gamenetwork, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา