29 ก.พ. เวลา 13:21 • นิยาย เรื่องสั้น

ชมรมไขคดีฆาตกรรมวันพฤหัสฯ (The Thursday Murder Club)

หนังสือที่บอกเราว่า อย่าได้ประมาทพลังของคนแก่เป็นอันขาด
เรื่องราวเกี่ยวกับแก๊งคนแก่วัยหลังเกษียณกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่สร้างขึ้นสำหรับคนในวัยหลังเกษียณมาอยู่รวมกัน ได้มีการจับกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ และหนึ่งในนั้นก็คือ ชมรมไขคดีฆาตกรรมวันพฤหัสฯ (The Thursday Murder Club) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของชายหญิง 4 คน เพื่อมานั่นพูดคุย ขบคิดกันถึงคดีฆาตกรรมที่เกิดในอดีต
ด้วยความที่สมาชิกคนหนึ่งในชมรมเป็นอดีตสารวัตรสืบสวนทำให้มีแฟ้มคดีเก่าที่ปิดไม่ลงของตำรวจเก็บไว้อยู่มากมาย นี่เป็นเหมือนกิจกรรมสำหรับคนที่มีเวลาว่างเหลือเฟืออย่างกลุ่มคนแก่เหล่านี้ เป็นโอกาสที่แต่ละคนจะได้ใช้ความสามารถ ทักษะ รวมถึงเส้นสายที่พวกเขามีและเคยได้ใช้ในสมัยที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ด้วยศักยภาพและ Connection ของแต่ละคนต้องขอบอกไว้เลยว่า อย่าได้ดูถูก ดูเบา คนแก่เหล่านี้เป็นอันขาด
อ่อ ... แล้วที่ต้องเป็น วันพฤหัสฯ นั่นเป็นเพราะห้องส่วนกลางที่พวกเขาใช้ในการนัดพบกันที่มีชื่อเรียกว่า “ห้องจิ๊กซอ” นั่นจะว่างเฉพาะวันพฤหัสฯ
ทุกอย่างคงดำเนินแบบนี้ไปเรื่อยๆ หากไม่เกิดคดีฆาตกรรมขึ้นมาจริงๆ ในหมู่บ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ เป็นเหตุฆาตกรรมที่มีคนตายมากกว่า 1 คน จากที่เพียงจับกลุ่มพูดคุยวิเคราะห์เงื่อนงำของคดีเก่าที่อยู่ไกลตัวกลับต้องมาพบเจอกับความตายของเหยื่อที่เป็นบุคคลที่รู้จัก ชมรมไขคดีฆาตกรรมวันพฤหัสฯ จึงไม่รอช้าที่จะกระโดดเข้าไปสืบคดีฆาตกรรมเหล่านั้นอย่างกระตือรือร้น
แต่เบาะแสที่ได้จากการสืบคดีกลับพาพวกเขาย้อนไปยังคดีฆาตกรรมที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้กว่า 50 ปี ทำให้เกิดคำถามที่ว่า “ใครกันที่เป็นผู้เคราะห์ร้าย รายนี้” , “ใครเป็นคนทำ” และ “มันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้หรือไม่” หรือ “เป็นไปได้หรือไม่ว่าฆาตกรจะเป็นใครในหมู่พวกเรา” มีคำถามผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ให้สมาชิกในชมรมต้องขบคิด
นอกจากเนื้อเรื่องและการใช้ภาษาที่ลื่นไหล การจัดแบ่งบท (Chapter) นั้นมีส่วนช่วยอย่างมาก โดยที่แต่ละ Chapter จะแบ่งเล่าเหตุการณ์ได้กระชับไม่ยืดเยื้อจนเกินไปกินเนื้อที่ 4 – 5 หน้า ต่อ 1 Chapter เล่าผ่านมุมมองของนักเล่าเรื่องผู้สังเกตการณ์ หรือมุมมองของคนอ่านที่ไม่ได้มีส่วนในเรื่องราวด้วย ตัดสลับกับมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ผ่านการจดบันทึกของ จอยซ์ สมาชิกคนหนึ่งของชมรมที่จะคอยมาจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในสมุด Diary ของเธอ
ข้อติดขัด (ใจ) เล็กน้อยที่ได้หลังจากอ่านจบคือ แม้ว่าชื่อชมรมจะเกี่ยวกับวันพฤหัสฯ แต่หลังจากช่วงแรกมาแล้วการประชุมกันของสมาชิกในชมรมไม่ค่อยได้กล่าวถึงว่าต้องเป็นวันพฤหัสฯ เท่าใดนัก เป็นว่าถ้ามีเบาะแสใหม่ๆ ก็จะนัดประชุมที่ห้องของจอยซ์แทนโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันพฤหัสฯ
อีกประเด็นหนึ่ง คือ ความเชื่อมโยงเรื่องราวของสุนัขจิ้งจอกที่ถูกนำว่าใส่เป็นภาพหน้าปกของหนังสือกลับถูกพูดถึงประกอบเรื่องราวเพียงเล็กน้อย หรือไม่ก็เราอาจคาดหวังว่าจะพูดถึงมากกว่านี้ หรือเราอาจต้องกลับไปอ่านซ้ำอีกสักรอบเผื่อว่าเราจะพลาดประเด็นไหนไป
ประเด็นทางสังคมที่เราได้จากการอ่านแม้จะไม่ถูกเน้นหรือพูดออกมาตรงๆ มีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง คือเรื่องของการพัฒนาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน ที่มีส่วนในการเบียดเบียนและอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมอย่างที่ตัวละคร เอียน เวนแธม ได้ถ่ายทอดออกมา
ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของการให้ความสำคัญกับคนแก่วัยหลังเกษียณที่มีเวลาว่างเหลือเฟือและแน่นอนว่าอาจมีเงินมากด้วย แต่หนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดบางแง่มุมให้เราเห็นว่ามันอาจไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิด ซึ่งมันสะท้อนออกมาให้กิจวัตรประจำวันของพวกเขาที่ตื่นนอนกันแต่เช้าตรู่
สำหรับคนวัยทำงานอย่างเราอาจตอบได้ว่าต้องรีบตื่นมาทำงานและสิ่งที่ต้องทำมากมายแต่มีเวลาเหลือแค่ไม่กี่ชั่วโมงในแต่ละวัน ทว่าพวกเขา (เหล่าคนแก่เหล่านั้น) ตื่นเช้าเพราะมีงานต้องทำมากมาย แต่มีเวลาเหลือแค่ไม่กี่วันในชีวิต (หน้า 73)
หากว่าจะพูดถึงการอ่านเพื่อความบันเทิงก็ถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกเพลิดเพลินเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องชวนติดตามและต้องลุ้นตลอดทั้งเรื่องว่าใครเป็นฆาตกรกันแน่ จะมีใครถูกฆ่าอีกมั๊ย แม้จะเหลือแค่ 50 หน้าสุดท้ายก็ยังต้องมาลุ้นอยู่เลย
สำหรับการคลี่คลายคดีและตอนจบของเรื่องนั้น...สำหรับเราเองไม่ค่อยได้อ่านนิยายสืบสวนที่จบแบบนี้ซะเท่าไหร่ ตอนอ่านก็ “ฮะ จบแบบนี้เหรอ”
แต่อาจเป็นเพราะผู้เขียนอยากบอกเราว่า บางทีชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ
#TheThursdayMurderClub ชมรมไขคดีฆาตกรรมวันพฤหัสฯ
ผู้เขียน: ริชาร์ด ออสแมน (Richard Osman)
สำนักพิมพ์: Beat (บีท)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา