3 มี.ค. 2024 เวลา 02:33 • สัตว์เลี้ยง

ฮีลใจชาวสูงวัยด้วย Animal – Assisted Therapy

ในยุคที่เด็กรุ่นหนุ่มสาวออกตามหาความฝัน วัยทำงานวุ่นวายกับธุระประจำวันจนแทบไม่มีเวลาใส่ใจตัวเอง ในขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกันกับอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอกจากการจัดการด้านสาธารณสุข และสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณผู้สูงอายุแล้ว การดูแลสภาพจิตใจของเหล่าผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้พวกท่านมีกำลังใจ และมีความสุข ไม่รู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว
แน่นอนว่าอะไรก็คงสู้การอยู่พร้อมหน้ากันของคนในครอบครัวไม่ได้ แต่ "Animal – Assisted Therapy" ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจในการคลายเหงาให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัว หากเอาชนะกำแพงเตี้ยๆอย่างคำว่า "ไม่เลี้ยงหรอก เกะกะ" "เอามาให้เป็นภาระทำไม" ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะพูดทำไม เพราะก็เห็นโดนน้องๆสัตว์เลี้ยงที่น่ารักตกจนกลายเป็นทาสวัยเก่ากันทุกคน
มีงานวิจัยในต่างประเทศมากมายเกี่ยวกับเรื่องสัตว์เลี้ยงบำบัด เช่น สุนัข แมว และปลาตู้ ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุและผู้ป่วยในทางที่ดี การนำสัตว์มาช่วยเยียวยา บรรเทาอาการให้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือมะเร็ง รวมถึงในเด็กออทิสติกและผู้สูงอายุ
สองงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นตรงกันถึงเรื่องนี้คือ The Effects of Animal-Assisted Therapy on Loneliness in an Elderly Population in Long-Term Care Facilities ของ Marian R. Banks และ William A. Banks และอีกหนึ่งงานวิจัยเรื่อง The Benefit of Pets and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals ของ E. Paul Cherniak และ Ariella R. Cherniack ผลการศึกษาบอกว่า สัตว์เลี้ยงมีอิทธิพลเชิงบวกในด้านของพฤติกรรมผู้เลี้ยงวัยสูงอายุ ช่วยบรรเทาอาการทางจิตเวชอย่างได้
"สุนัขคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์" คำกล่าวนี้อาจไม่เกินจริงนัก จากงานวิจัยของ Deborah L. Wells จาก Queen’s University ได้แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงช่วยสร้างการดึงดูดในการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี โดยได้ศึกษาพฤติกรรมจากคน 1,800 คน โดยสร้างเงื่อนไข 6 แบบ
คนกลุ่มหนึ่งมากับลูกสุนัขลาบราดอร์ กลุ่มหนึ่งมากับสุนัขลาบราดอร์โตเต็มวัย กลุ่มหนึ่งมากับสุนัขร็อตไวเลอร์โตเต็มวัย กลุ่มหนึ่งมากกับตุ๊กตา กลุ่มหนึ่งถือกระถางต้นไม้ และอีกกลุ่มมาตัวเปล่า พบว่ากลุ่มที่มาพร้อมสุนัขจะได้รับกว่าสนใจจากผู้คนมากกว่า และคนเหล่านั้นจะได้รับรอยยิ้มและคำทักทายพูดคุยมากกวาคนกลุ่มอื่นๆ
น้องแมวแห่งเหล่าทาสเองก็มีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยมีการศึกษาที่พบว่าเสียงของน้องแมวมีความถี่ 25 Hz-100 Hz ซึ่งพบว่าช่วยให้มนุษย์อย่างเราผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เหมาะมากหากผู้สูงอายุท่านใดมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย น้องจากนี้ยังพบอีกว่าการมีกิจวัตรในการเลี้ยงน้องแมวของผู้สูงอายุสามารถลดอุบัติการและความรุนแรงของโรคเรื้อรังได้
1
ในขณะที่บทความเรื่อง Animal-assisted therapy and nutrition in Alzheimer's disease ได้ทำการทดสอบการเลี้ยงปลาสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักหรือเพิ่มการเจริญอาหารให้กับผู้สูงอายุได้ โดยพวกเขาได้ทำการทดสอบกับผู้สูงอายุ 62 คนในสถานพยาบาลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม
โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เปรียบเทียบระหว่างติดตั้งตู้ปลาในห้องอาหารกับการติดรูปภาพปลาใต้ท้องทะเลที่ผนัง ผลการทดลองพบว่าผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารในห้องที่มีตู้ปลา 4 เดือนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.65 ปอนด์ ส่วนกลุ่มที่ห้องรับประทานอาหารมีเพียงรูปภาพนั้นไม่มีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นปลาสวยงาม เช่น ปลาทอง ปลาคาร์ฟ ยังสามารถช่วยในเรื่องการผ่อนคลายความเครียดในผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ทุกคนหรือเลี้ยงได้ทุกชนิด การเลือกสัตว์เลี้ยงควรพิจารณาจากบริบทว่าเกิดประโยชน์ต่อท่านหรือไม่ ขนาดตัวของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข ต้องไม่ดุร้าย หรืออาจเลือกเป็นเป็นแมว กระต่ายตัวน้อย นกที่พูดเจื้อยแจ้ว ปลาหลากสี ก็ช่วยคลายเครียดได้เช่นกัน นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวของสัตว์เลี้ยงก็สำคัญครับ เราควรศึกษานิสัยเฉพาะตัว รวมถึงธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด
นอกจากนี้ต้องพิจารณาข้อจับกัดของผู้เลี้ยง เช่น หากมีภาวะบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
ทั้งจากการเจ็บป่วยและการใช้ยาบางชนิด การมีโรคติดเชื้อ หรือปัจจัยอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้เราได้รับประโยชน์จริงๆโดยไม่เกิดอันตรายขึ้นภายหลังนั่นเอง
อ้างอิง
โฆษณา