2 มี.ค. เวลา 19:26 • หนังสือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

"เกษตรมูลค่าสูง" แนวคิด ความหมาย และนโยบาย

ในเวทีเสวนาประชุมเชิงปฏิบัติการ "การสังเคราะห์บทเรียนสู่การสร้างองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนการเกษตรสร้างมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน" วันที่ 26 เมษายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
จัดโดยโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ระยะที่ 3 ร่วมกับ โครงการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูง ของกลุ่มเกษตรกร ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม และตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร สนับสนุนการวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
การประชุมครั้งนี้คณะนักวิจัย ได้ค้นหาคำนิยามความหมาย "เกษตรมูลค่าสูง" ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
ในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย มีการใช้อยู่หลายคำที่มีความหมายเพื่อการสื่อสารในลักษณะเดียวกัน ดังเช่น เกษตรมูลค่าสูง เกษตรสร้างมูลค่า หรือ เกษตรแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
หากกล่าวโดยสรุป ก็คือ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเดิมมักจะขายในรูปแบบวัตถุดิบทำให้ได้รับราคาที่ต่ำ เป็นการนำผลิตผลทางการเกษตรมาแปรสภาพจากลักษณะเดิม ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน โดยอาจเกิดจากการแปรสภาพตามธรรมชาติให้ต่างจากเดิมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค มีทั้งสินค้าเกษตรด้านที่ไม่ใช่อาหารและด้านอาหาร (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, 2561) หรืออีกนัยยะหนึ่ง เป็นการทำให้สินค้าจากภาคการเกษตรมีราคาที่สูงหรือ “ทำน้อย ได้ราคาที่มากขึ้น” นั่นเอง
ในระดับนโยบายนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้กับผู้ผลิต สำหรับมาตรการต่าง ๆ ในประเด็นการเกษตรภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีการนำมาใช้มีหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อการสร้างมูลค่าและคุณค่าให้มากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น smart farmer หรือการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) เพื่อรองรับการนำไปสู่การทำการเกษตรแบบสร้างมูลค่า
ดังนั้นการเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันและในอนาคต มูลค่าจะเพิ่มหรือสร้างให้เกิดมูลค่าได้นั้น จะต้องคิดและดำเนินการให้ครบกระบวนการ ตั้งแต่การผลิตถึงการตลาด จึงจะเกิดผลดีแก่เกษตรกรเอง (ที่มา https://www.naewna.com/local/505254 สืบค้นเมื่อ 12 มี.ค. 2566)
ขณะที่ในระดับแผนงานย่อย ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเกษตร (พ.ศ.2561–2580) นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตทางการเกษตรให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย การใช้ประโยชน์จากความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของสินค้าเกษตร
รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่ การพัฒนาสินค้าเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าเกษตร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิต รวมถึงการจัดการฟาร์มที่เหมาะสม (ที่มา https://www.senate.go.th สืบค้นเมื่อ 17 มี.ค. 66)
พร้อมกันนี้ จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อสร้างความยั่งยืน ตามแนวคิด Bio- Circular-Green economy หรือ BCG Model นั้น มีเป้าหมาย พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4+1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ
1.เกษตรและอาหาร
2.สุขภาพและการแพทย์
3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ
4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ
1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน (ที่มา https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/140018 สืบค้นเมื่อ 14 มี.ค. 66)
สำหรับแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ได้ดำเนินการอยู่ ในปัจจุบันนั้น มีหลายวิธีแตกต่างกันออกไป สามารถสรุปได้ ดังนี้
1) การสร้างแบรนด์ (Branding) คือ มีตราสินค้าหรือเครื่องหมายของสินค้า ทำให้มีความภาคภูมิใจในสินค้า และเกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้า ทำให้ผู้ซื้อจดจำสินค้าได้ดี มีความเป็นเอกลักษณ์และลดการเลียนแบบสินค้า
2) หาทางเลือกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การลดภาวะโลกร้อน ด้วยกระบวนการผลิตที่ช่วยลดก๊าซเรือน กระจกหรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำ รวมถึงเป็นแนวทางในการเลือกซื้อสินค้า อีกทั้งยังเป็นการเตรียม ความพร้อมและตั้งรับให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตในการส่งออกสินค้า ไปยังตลาดต่างประเทศที่มีมาตรการด้านการ กีดกันทางการค้า พร้อมพัฒนาการออกแบบที่มีความโดดเด่น แปลกใหม่ เหมาะกับผู้ใช้ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ สินค้านั้นก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดได้
3) บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบโดยอาศัยเทคโนโลยีและแนวคิดสร้างสรรค์ซึ่ง ตอบสนองทั้งต่อประโยชน์ของการใช้งาน และการให้ความรู้สึกถึงอารมณ์ผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยเพื่อทดแทน บรรจุภัณฑ์แบบเดิมที่ใช้โฟม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (งานพัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SME (Knowledge Center) ปีงบประมาณ 2561)
4) การใช้ภูมิปัญญา ที่อยู่ในท้องถิ่นที่สั่งสมมา จะสามารถสร้างความแตกต่างและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ สินค้า
5) การสร้างเรื่องราว (Story) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับสินค้า จะสามารถสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้าและธุรกิจได้ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการจะหยิบยกเรื่องราวใด มาบอกเล่าแก่ผู้บริโภคจนซึมซับเรื่องราวของ ธุรกิจและสินค้าและยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าด้วยความเต็มใจ
6) การพัฒนานวัตกรรม ด้วยการพัฒนาสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วย ยกระดับสินค้าและเพิ่มมูลค่าสินค้า (ที่มา: https://www.fourfarm.com/4- สืบค้น 17 มี.ค. 66)
จากนโยบายและการดำเนินการในหน่วยงานระดับปฏิบัติต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นว่า เกษตรมูลค่าสูง เป็นแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตร ควรมุ่งเน้นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
ระดับต้นน้ำเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ต่อหน่วย ผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ระดับกลางน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม ที่มีความ เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการผลิตนั้น ๆ
ระดับปลายน้ำ มีการใช้แนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ ในการ แปรรูปที่หลากหลายและการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น รวมทั้งการหาตลาดหลายระดับเพื่อให้เข้าถึง ผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายและครอบคลุม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือน เกษตรกรในที่สุด
เอกสารประกอบการประชุม --ดาวน์โหลด--https://drive.google.com/drive/folders/1YNGcHtqKYqbr2yPIL0xVFD3o5IvvQxrf
ภาพกิจกรรมใน Facebook --เข้าชม-- https://www.facebook.com/100077847647058/posts/3609535235946599/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา