7 มี.ค. เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์

อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual influencer)

[#VirtualInfluencer]: ผู้บริโภค 40% เริ่มซื้อสินค้าตามที่อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงโฆษณา
คนทั่วโลกเริ่มรู้จักบทบาทและแนวคิดของการมีผู้มีอิทธิพลทางความคิดหรือผู้ทรงอิทธิพลในสังคมตั้งแต่ก่อนช่วงปี ค.ศ. 2000 ในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น บทบาทของนักข่าว นักวิชาการ นักปกครอง รวมไปถึง ศิลปิน ดารา นักแสดง เช่น โฆษณาน้ำอัดลมโคคา-โคล่าที่แสดงโดยมาริลิน มอนโร เป็นต้น
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา การเขียนเว็บบล็อก และยูทูปได้ทำให้ผู้คนสามารถติดตามคอนเทนต์ตามความสนใจของตนเองได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น จนมาถึง ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา คำว่าอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย
อาชีพอินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นอาชีพในฝันอันดับ 5 ของเยาวชนไทย สอดคล้องกับการเติบโตและจำนวนของช่องทางออนไลน์ที่มีมากขึ้น นักการตลาดได้นำอินฟลูเอนเซอร์หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือทางการตลาดและการจัดการแบรนด์อย่างจริงจัง โดยเน้นการทำงานด้วยข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อหวังผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual influencer) คือตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เช่น YouTube, Instagram TikTok, Facebook หรือแม้แต่ใน Spotify เป็นต้น อาจมีทั้งที่ลักษณะเสมือนมนุษย์จริง (Life-like CGI humans) คล้ายมนุษย์ (Animated humans) หรือไม่เป็นมนุษย์ (Non-humans) เลยก็ได้
ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงมากกว่า 200 ตัวละคร โดย Lu do Magalu เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามสูงสุดมากกว่า 31.2 ล้านจากทุกแพลตฟอร์ม (Instagram มีผู้ติดตาม 6.8 ล้านบัญชี และ TikTok มีผู้ติดตาม 7.2 ล้านบัญชีผู้ใช้งาน)
จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2022 พบว่า 58% ของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมีการติดตามอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงอย่างน้อยหนึ่งตัวละคร นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงจะเติบโตขึ้นจาก 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2023 เป็น 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตแบบสะสมปีละ 38.9% ในระยะคาดการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 2023 - 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอเมริกาเหนือซึ่งมีสัดส่วนในตลาดอยู่ถึง 44% เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงถูกมองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในแวดวงการตลาด เพราะผู้พัฒนาสามารถออกแบบตัวละครให้เหมาะสมกับความสนใจ ค่านิยม และวิถีชีวิตของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้แม้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงจะไม่ใช่บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง แต่กลับสามารถสร้างความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Authenticity) ที่สอดคล้องและใกล้ชิดกับผู้บริโภคเฉพาะแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
เช่น NARS ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลกได้เป็นพันธมิตรกับ Dimensions Studios ในการสร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง 3 ตัวละคร ได้แก่ Maxine, Chelsea, และ Sissi ซึ่งมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภคแบรนด์แต่ละกลุ่ม เป็นต้น
จากการรายงานโดย HypeAuditor พบว่า ในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จะได้รับอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement rate) จากผู้ติดตาม 2.89% ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนมักมีอัตราการมีส่วนร่วมเพียง 0.7% หรือต่างกันมากกว่า 4 เท่า นอกจากนี้ ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา 40% ปีค.ศ. 2022 เริ่มบริโภคสินค้าจากการโฆษณาของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชัน Z และ Y
ปัจจุบัน มีแหล่งข่าวรายงานว่ามีแบรนด์จำนวนมากสนใจพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ทั้งที่ต้องการประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มอื่น เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภค สามารถนำเสนอความสร้างสรรค์เหนือจริงได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและขจัดความยุ่งยากจากการทำสัญญาจ้างและจัดการดาราศิลปินในฐานะตัวแทนภาพลักษณ์แบรนด์ และเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นผู้นำแนวคิดเชิงนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์และแนวทางการบริหารจัดการแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อออกแบบและจัดการเทคโนโลยีของแต่ละแบรนด์ เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ โมเดลสามมิติ เป็นต้น และท่าทีตอบสนองของผู้บริโภคต่อความเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่คุ้นเคยมาก่อน
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแบรนด์สามารถบริหารจัดการแฟนการตลาดหลากหลายช่องทางให้ประสบความสำเร็จ ทั้งในโลกกายภาพและโลกเสมือนจริง
- การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในองค์กรของแบรนด์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ของเครื่องจักรกล เทคโนโลยีความจริงต่อขยาย (Extended reality) ทำให้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้อย่างไร้รอยต่อเสมือนพูดคุยกับคนจริงที่มีบุคลิกลักษณะพึงประสงค์และสามารถถ่ายทอดความเป็นแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การสร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงที่สามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้บริโภคและนำไปสู่พฤติกรรมที่สนับสนุนแบรนด์กลายเป็นความท้าทายใหม่ของนักการตลาดและแบรนด์
- อาชีพนักออกแบบตัวละครอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงกลายเป็นโอกาสงานใหม่ของผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยา พฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ศิลปะการสื่อสาร การบริหารจัดการแบรนด์ ร่วมกับการป้อนคำสั่งเทคโนโลยีและความรู้ผลิตภัณฑ์และบริการ
- อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงซึ่งจะมีลักษณะเป็นตัวละครที่ผู้เล่นไม่ได้ควบคุม (Non-player character: NPC) ในแพลตฟอร์มโลกเสมือนจริง อาจเป็นช่องว่างให้เกิดอาชญากรรมทางข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์จากการโจรกรรมข้อมูล
- สิทธิแรงงานและกฎหมายคุ้มครองหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงกลายเป็นประเด็นจริยธรรมที่สำคัญในอนาคต เพราะมนุษย์ต้องใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับเครื่องจักรกล
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FutureofPlay #FutureofWork #WellBeing #FuturePossible #MQDC
โฆษณา