7 มี.ค. เวลา 07:25 • การศึกษา

ประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี แบบฉบับวัยทำงาน

สวัสดีค่ะทุกคน จากที่ทุกคนเคยได้อ่านบทความผ่านทาง Blockdit ของกระทรวงการต่างประเทศ ไปบ้างแล้ว น่าจะพอมีภาพความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับภารกิจงานในรูปแบบต่าง ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาเชื่อมความสัมพันธ์ การจัดงานพิธี ฯลฯ แต่หลายคนก็อาจจะคิดไม่ถึงใช่ไหมคะ ว่าเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว เราจะยังได้มีโอกาสย้อนวัยทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอีก
ในวันนี้ ดิฉัน ปติญา ธัญธนพัต หรือจูน นักการทูตปฏิบัติการ กรมสารนิเทศ จะขอแบ่งปันประสบการณ์การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ระยะเวลา ๒ เดือน (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๖๖) ในรูปแบบวัยทำงาน และสิ่งที่ได้เรียนรู้ค่ะ
ผู้เขียนและผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ณ ป้อมฮวาซอง
โครงการ KF KASI Fellowship for Public Officers Program คืออะไร ?
ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่าโปรแกรมที่จูนได้เข้าร่วมชื่อว่า KF KASI Fellowship for Public Officers Program โดย KF ย่อมาจาก Korea Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มอบทุนฝึกอบรมและเป็นหน่วยงานการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) ของเกาหลีใต้ ส่วน KASI ย่อมาจาก Korea-ASEAN Solidarity Initiative
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจระหว่างทั้งสองฝ่าย และถูกดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย Soonchunhyang ซึ่งจัดการสอนภาษาเกาหลี และบรรยายเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ พร้อมกับการจัดทัศนศึกษาไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชาวเกาหลีใต้นอกเมืองหลวง อาทิ เมือง Jeonju Gyeongju และ Busan
นอกจากนี้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมทุกท่านอยู่ในวัยทำงานแล้ว จึงได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการศึกษาด้วยตนเองเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของเกาหลีใต้ และจัดทำ Action Plan ว่าจะนำสิ่งที่ได้ศึกษามาปรับใช้กับประเทศของตนได้อย่างไร
ผู้เขียนและผู้เข้าร่วมโครงการ ณ หอดูดาวชอมซองแด
แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทูตสาธารณะของไทยและเกาหลีใต้
ในฐานะสมาชิกกองประชาสัมพันธ์การทูตสาธารณะ กรมสารนิเทศ จูนจึงเลือกทำ Action Plan หัวข้อการทูตสาธารณะ หรือ Public Diplomacy หรือการดำเนินการทูตเพื่อโน้มน้าวจิตใจของประชาชนชาวต่างประเทศ ผ่านการใช้เครื่องมือ soft power
โดยการศึกษาครั้งนี้ จูนและสมาชิกทีม (นายเกียรติศักดิ์ สุจริตจันทร์) ได้ศึกษาโดยใช้วิธี Benchmarking โครงสร้างการดำเนินการทูตสาธารณะของเกาหลีใต้ เพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยว่าทั้งสองประเทศมีจุดร่วมและข้อแตกต่างกันอย่างไร แต่ละประเทศมีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกันอย่างไร และจะสามารถปรับใช้จุดเด่นของเกาหลีใต้ให้เข้ากับสถานการณ์ของประเทศไทยได้อย่างไร
จากการเปรียบเทียบด้วยวิธี Benchmarking เกาหลีใต้มีความก้าวหน้าด้านการทูตสาธารณะและ soft power ในประชาคมโลก จะเห็นได้จากกระแส K-wave และการที่ K-pop และ K-series เป็นที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Parasite ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์ ๔ รางวัล และซีรีย์ Squid Game ที่สร้างกระแสไปทั่วโลก
นอกจากนี้ จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2023 โดยบริษัท Brand Finance ได้จัดให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้าน Soft power อันดับ ๑๕ ของโลก ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับ ๔๑ จากทั้งหมด ๑๒๑ ประเทศทั่วโลก ดังนั้น แม้เกาหลีใต้จะมีอันดับที่สูงกว่าไทย แต่ไทยเองก็ยังมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ หากไทยมีกลไกที่เป็นระบบและนโยบายที่จะช่วยผลักดันการเผยแพร่ Soft Power
ไทยเองก็ยังมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้
ผู้เขียนและกลุ่มผู้เรียน
เมื่อพิจารณาถึงกลไกการทูตสาธารณะที่ใช้ขับเคลื่อน Soft Power ของเกาหลีใต้ จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้มีความจริงจังและก้าวหน้ามากกว่าไทย
โดยในปี ๒๕๕๙ เกาหลีใต้ได้ประกาศใช้ Public Diplomacy Act 2016 หรือพระราชบัญญัติการทูตสาธารณะ โดยกฎหมายดังกล่าวได้วางกรอบหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินการทูตสาธารณะ รวมถึงวางกรอบอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ ในการจัดทำแผนแม่บท (master plan) ระยะ ๕ ปี การประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และการจัดตั้งคณะกรรมการการทูตสาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนการจัดทำและการดำเนินตามแผนแม่บทการทูตสาธารณะต่อไป
รวมถึงการสำรวจข้อมูลสถานะการดำเนินการทูตสาธารณะเพื่อใช้ประเมินผลการดำเนินการที่ผ่านมาและการดำเนินการขั้นถัดไป ตลอดจนกำหนดให้ Korea Foundation เป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการทูตสาธารณะอีกด้วย
Korea Foundation เป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการทูตสาธารณะ
ผู้เขียน และเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล
เมื่อย้อนกลับมาพิจารณากลไกการดำเนินการทูตสาธารณะและ Soft Power ของไทย ปัจจุบัน ไทยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ ๑๑ สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ ออกแบบ และแฟชั่น ให้ถึงตลาดโลก
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์ของไทยยังคงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่กลไกการทูตสาธารณะของเกาหลีใต้ เน้นย้ำการเสริมสร้างสถานะและเกียรติภูมิของประเทศเกาหลีใต้ เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลีใต้ และส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับประชาคมโลก
ขับเคลื่อนการทูตสาธารณะด้วย Soft Power
ในฐานะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ การถอดบทเรียนจากกลไกการทูตสาธารณะของเกาหลีใต้ช่วยให้เห็นว่าแม้กลไกการใช้ประโยชน์จาก Soft Power ของไทยจะเน้นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ แต่กระทรวงการต่างประเทศก็สามารถดำเนินบทบาทที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในประชาคมโลก โดยใช้เครื่องมือจากอุตสาหกรรม Soft Power ที่ได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ทันสมัยของไทย ให้ประชาคมโลกยอมรับและสนับสนุนไทยในเวทีระดับโลก
ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ภายใต้กระทรวงฯ เพื่อช่วยเผยแพร่และดำเนินการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ได้เช่นกัน
ผู้เขียนขณะรับประทานอาหารเกาหลี หนึ่งในอาหารยอดนิยมของโลก
การได้ศึกษาเรียนรู้กลไกขับเคลื่อนการทูตนับเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจในระหว่างการเข้าอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี นอกเหนือจากเรื่องวิชาการที่ได้เรียนรู้แล้ว จูนยังมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศการเป็นนักศึกษาชาวต่างชาติในมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงโซลอีกด้วย หากทุกท่านสนใจประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบนักศึกษาชาวต่างชาติที่เกาหลีใต้เป็นเวลา ๒ เดือน ขอให้ติดตามตอนต่อไปนะคะ
โฆษณา