7 มี.ค. เวลา 08:49 • ประวัติศาสตร์

พระเจ้าแทโจ อี ซองกเย ยอดขุนพลสู่พญามังกรแห่งเกาหลี

บรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรชนชาติเกาหลีที่มีชื่อว่า โชซอน ที่มีอายุยืนยงกว่า 518 ปี เด็กชายตัวเล็ก ๆ จากตระกูลอีแห่งช็อนจู กลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญแห่งอาณาจักรโครยอ เบื้องหลังปัจฉิมพญามังกรแห่งอาณาจักรเก่า และทยานสู่จุดสูงสุดแห่งแผ่นดินในฐานะพญามังกร
ในยุคที่โครยอถูกปกครองโดยชนเผ่ามองโกล หรือราชวงศ์หยวน อี จาชุน บิดาของอี ซองกเย และมารดาคือ อึยบี ต่อมาคือ พระนางอึยฮเย สกุลชเวแห่งยอฮึง ได้ให้กำเนิดอี ซองกเย ในปี 1335 ท่ามกลางพื้นที่ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของโครยออย่างแคซอง ที่แห่งนั้นคือเขตบัญชาการซังซ็องของราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ปัจจุบันคือเขตจังหวัดฮัมกย็องใต้ ประเทศเกาหลีเหนือ
ช่วงต้นของชีวิตอี ซองกเย ถือเป็นทหารโนเนมคนหนึ่ง เขาท่องไปตามดินแดนต่าง ๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่าง ๆ เช่น มองโกล จูรเชน ชาวฮั่น และเกาหลี เขาถือเป็นสุดยอดนักธนูคนหนึ่ง และสามารถใช้ความสามารถในการยิงธนูเพื่อล่าสัตว์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การที่อี ซองกเยเติบโตขึ้นท่ามกลางภาวะเสื่อมอำนาจของอาณาจักรโครยอต่อพื้นที่แม่น้ำอัมนก และแม่น้ำทูมัน เขาจึงถือเป็นพยานผู้เห็นความเสื่อมของอาณาจักรโครยอต่อชายแดนทางตอนเหนือของคาบสมุทร ในปี 1361 อีซองกเย ได้มีบทบาทในการยึดเมืองแคซ็องคืนจากกบฎโพกผ้าแดง ในสมัยพระเจ้าคงมินแห่งโครยอ และในขณะเดียวกันก็เกิดการลุกฮือของกบฎโพกผ้าในแผ่นดินจีนเพื่อโค่นอำนาจของชาวมองโกลเหนือแผ่นดินจีนที่นำโดย จู หยวน จาง ที่สามารถสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิหงอู่ และสถาปนาราชวงศ์หมิงสำเร็จในปี 1368 ซึ่งเป็นปีที่อี ซอง กเยอายุ 33 ปี จากบทบาทในยุทธภูมิต่าง ๆ ของอี ซองกเย ไม่ว่าจะเป็นการยึดป้อมอูรันซานซ็อง การปราบโจรสลัดญี่ปุ่นในยุทธการที่เขาจีรีซาน ยุทธการที่ฮวังซาน และที่ฮัมฮึง หรือการปราบพวกจูรเชน ฯลฯ ทำให้อี ซองกเย เป็นหนึ่งในสุดยอดขุนพลแห่งโครยอตอนปลายได้โดยปราศจากข้อกังขาใด ๆ
A photograph of a glass plate of Portrait of King Gongmin, which had been in the Hwajangsa(華藏寺) temple in Daewon-ri, Jinseo-myeon, Jangdan-gun, Gyeonggi-do, now in possession of the National Museum of Korea (1916)
การขึ้นมาของราชวงศ์หมิง ทำให้ราชสำนักโครยอวุ่นวาย ขุนนางแบ่งออกเป็นสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์หยวนมองโกล และฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์หมิงของชาวฮั่น จนในปี 1374 พระเจ้าคงมินถูกขุนนางฝ่ายมองโกลสังหาร และทำให้พระเจ้าอู สืบราชย์ต่อจากพระเจ้าคงมิน อย่างไรก็ดีในความขัดแย้ง อี ซองกเย ได้ร่วมมือกับชเวย็อง ในการยึดอำนาจจากขุนนางฝ่ายมองโกล ต่อมาไม่นานนักจักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิงมีกระแสรับสั่งให้กองทัพหมิงมาตั้งมั่งในซังซ็อง ทำให้พระเจ้าอูและชเวย็องเห็นควรว่าจะต้องรบกับราชวงศ์หมิง จึงส่งกองทัพโครยอขึ้นไป อย่างไรก็ตามอี ซองกเยไม่ได้เห็นด้วยเพราะเห็นว่าราชวงศ์หมิงแข็งแกร่งมาก กองทัพโครยอไม่อาจจะต่อกรได้ จึงหันทัพกลับสู่นครหลวงแคซ็อง และก่อการรัฐประหารถอดพระเจ้าอู สังหารชเวย็อง แล้วตั้งองค์ชายวังชางเป็นพระเจ้าชาง แต่ต่อมาพระเจ้าชางก็ถูกถอดแล้วสำเร็จโทษพร้อมกันกับพระเจ้าอู ในฐานความผิดที่ว่าไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ที่แท้จริง และอี ซ็องกเย ก็ได้แต่งตั้งวัง โย หรือองค์ชายช็องชังเป็นพระเจ้าคงยางให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของตนแทน จะเห็นได้ว่าในเวลานี้ (1389) นายพลอี ซ็องกเยขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจในแผ่นดินโครยอด้วยการเป็นเบื้องหลังของพระเจ้าคงยาง พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรโครยอ
จอง มงจู
การถอดพระเจ้าคงยางลงจากบัลลังก์มังกร เกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าคงยาง กับอี ซ็องกเยถึงจุดแตกหัก เริ่มจากการที่พระเจ้าคงยางสนับสนุนจอง มงจู ผู้ที่พยายามจะปฏิรูปฟื้นฟูอาณาจักรโครยอที่กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ ต้องการต่อต้านการตั้งราชวงศ์ใหม่ จึงถือเป็นฝั่งตรงข้ามของอี ซ็องกเย ที่เป็นฝ่ายปฏิวัติรุนแรง สังเกตได้จากการก่อรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมาของเขา จนกระทั่งอี บังว็อน(ต่อมาคือพระเจ้าแทจง กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งโชซอน) บุตรชายของอี ซ็องกเยได้ขอความช่วยเหลือจากอี จีรัน ผู้เป็นลุง เพื่อสังหารจอง มงจู ซึ่งสุดท้ายจู มงจูก็ถูกสังหาร และเมื่อมงจูสิ้นบุญ กลุ่มต่อต้านนายพลอี ต่างก็ลี้ภัยออกจากแคซ็อง ในปีเดียวกันนายพลอี ซ็องกเย ได้บังคับให้พระเจ้าคงยางสละราชบัลลังก์และได้เนรเทศพระเจ้าคงยางไปยังเมืองวอนจู ประกาศล้มเลิกราชวงศ์โครยอ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยอาศัยหลักอาณัติสวรรค์ในการสร้างความชอบธรรมในการขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการใช้หลักนี้ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์เกาหลี
อ้างอิง : Tony Robinson, Minsun Ji. A Flying Dragon King Taejo, Founder of Korea’s Choson Dynasty.(2023).
โฆษณา