9 มี.ค. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

ทำธุรกิจอย่างไรไม่ให้ Burn Out

BURNOUT SYNDROME หรือ ภาวะหมดไฟ เป็นสภาวะที่บุคคลมีความเหนื่อยล้า หมดแรงใจ ท้อ สิ้นหวัง ไม่อยากทำงาน สาเหตุมักมาจากการสะสมความเครียดและความกดดันที่บุคคลนั้นเจอในการทำงานอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้าย ทนไม่ไหวและเกิดอาการหมดไฟในท้ายที่สุด
สภาวะหมดไฟนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายคน อาจจะเคยประสบกับสภาวะแบบนี้ไม่มากก็น้อย อาจเนื่องด้วยความเครียดจากเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ลูกค้าไม่ค่อยมี โดนกดดันจากคนในครอบครัว คนรอบข้าง หรือปัญหาทั้งจากเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องที่ทำงาน เช่นจากลูกน้อง คู่ค้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ผู้ประกอบการอย่างเราอาจจะควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ดังนั้นเราควรศึกษาว่า เรื่องเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจอย่างไรบ้าง เพราะสภาวะหมดไฟอาจมีผลกระทบมากกว่าที่เราคาดคิด
ลองมาตรวจสอบกันดีกว่าว่า สัญญาณเตือนของสภาวะหมดไฟมีอะไรบ้าง?
🔴เครียด หงุดหงิด โมโหง่าย
🔴ไม่ตื่นเต้น ท้อแท้ เหนื่อยล้า สิ้นหวัง
🔴ไม่มีเป้าหมาย ไม่อยากทำงาน
🔴มองโลกในแง่ร้าย มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน
🔴วิตกกังวล กลัวผลลัพธ์ของการทำงานและการทำธุรกิจที่จะออกมาไม่ดี
🔴อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิในการทำงาน
🔴ขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าเผชิญปัญหา
ถ้าเรามีอาการทางใจ ตรงกับสัญญาณเตือนเหล่านี้ ตั้งแต่ 3 ข้อ ก็ควรที่จะกลับมาดูแลจิตใจของเราโดยด่วน ก่อนที่จะมีปัญหาทางสุขภาพกายตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยตามอวัยวะต่างๆ โรคติดเชื้อ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เราไม่สามารถทำงานได้ดีอีกต่อไป ประสิทธิภาพในการคิด วางแผน ตัดสินใจลดลงจนทำให้ผลงานอาจมีปัญหา เกิดอาการหมดแรงไม่อยากทำงานดังสัญญาณเตือนข้างต้น
แล้วเราจะมีวิธีเยียวยาสภาวะหมดไฟ ได้อย่างไร?
✅1) กลับมาอยู่กับใจตัวเอง
อาจจะพักผ่อนแบบอยู่เงียบๆ คนเดียว กลับมาทบทวนถึงเป้าหมายของธุรกิจ แผนงาน ไม่จับมือถือหรือเล่น Social Media เพื่อให้มีสมาธิกับตัวเราเอง และเป็นการฟื้นฟูพลังจากภายในจิตใจเรา
✅2) ออกไปทำกิจกรรมใหม่ๆ
เช่น ออกไปวิ่งในสถานที่ใหม่ๆ เดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป ลองทำงานอดิเรกที่แตกต่างจากที่เคยชิน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ จะทำให้เราได้เจอบรรยากาศแตกต่างจากความคุ้นเคยเดิม ที่ทำให้เราเกิดความเครียด ที่สำคัญ กิจกรรมใหม่ๆ อาจทำให้เราได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียบรรเจิดก็เป็นได้
✅3) นอนหลับให้เพียงพอ
ไม่ใช่แค่นอนให้พอ 6-8 ชั่วโมง แต่ยังรวมถึงจัดเวลาพักผ่อนที่ไม่ต้องทำงาน หรือเล่น Social Media ใดๆ เพื่อให้ทั้งร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน ได้ชาร์จพลังอย่างเต็มอิ่ม
✅4) ฝึกจิตให้มีความยืดหยุ่น
ข้อนี้ ทำโดยการฝึกฝนจิตใจให้มีมุมมองและทัศนคติในการรับมือต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้อง อาจใช้การนั่งสมาธิ ฝึกเจริญสติ การให้ความรักความเมตตาต่อตัวเอง ฯลฯ เพื่อช่วยให้จิตใจพร้อมเผชิญกับความไม่ได้ดั่งใจ ได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่หมดพลังใจไปได้โดยง่าย
✅5) ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ควรไปหาผู้เชี่ยวชาญ อย่างเช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตบำบัด ที่มีประสบการณ์ และน่าเชื่อถือ อย่าคิดว่าอาการเหล่านี้จะหายไปเองได้ง่าย เพราะบางทีมันอาจจะติดอยู่กับใจเรา จนใจเคยชินและไม่รู้ตัว ส่งผลให้อาการอาจแย่ลง และมีผลเสียไม่ใช่แค่ต่อตัวเอง แต่ยังส่งผลต่อคนรอบข้างได้
สภาวะหมดไฟ อาจเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคนี้ เราจึงควรศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เพื่อหาวิธีการรับมือและป้องกันไม่ใช่แค่เพื่อดูแลสภาพจิตใจของเราเอง ให้พร้อมกับการทำธุรกิจ แต่ยังสามารถใช้ในการดูแลสุขภาพจิตใจให้กับพนักงานและทีมงานของเราที่เขาอาจเสี่ยงกับสภาวะหมดไฟได้เช่นกัน
เมื่อเรามีสุขภาพจิตที่ดี เราย่อมมีพลังขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มเปี่ยม
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา