11 มี.ค. เวลา 11:30 • สุขภาพ

The Whale ความเศร้า ความรู้สึกผิด และ Binge Eating Disorder

ช่วงที่ผ่านมาใครที่เป็นแฟน streaming ค่าย N คงได้เห็นภาพยนตร์เรื่อง The Whale ผ่านตากันมาบ้าง ในวันนี้ Psycholism มีประเด็นทางจิตวิทยาที่อยากหยิบยกมาชวนคุยกัน
[มีการพูดถึงเนื้อหาในภาพยนตร์]
The Whale เล่าถึง Charlie อาจารย์วิชาวรรณกรรมที่กำลังเผชิญอยู่กับภาวะซึมเศร้าและอยู่ในวงจรของโรคกินไม่หยุด หรือ Binge Eating Disorder (BED) หนังพาเราไปสำรวจชีวิตของ Charlie ในช่วงที่ร่างกายของเขาถึงจุดวิกฤต เล่าถึงปัญหาชีวิตและความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนรักที่ทำให้เขาต้องต่อสู้กับโรคนี้ พร้อมกับนำเสนอความเจ็บป่วย ผ่านพฤติกรรมและมุมมองที่ Charlie มีต่อตนเองและความสัมพันธ์ของเขากับคนรอบข้าง
โรคกินไม่หยุดคืออะไร? โรคกินไม่หยุดเป็นอาการของคนที่มีความผิดปกติทางการกิน มีพฤติกรรมการกินที่มากผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนทำให้ร่างกายอ้วนกว่าคนทั่วไปและมีปัญหาในการใช้ชีวิตด้วยตนเอง
สัญญาณของ Binge Eating Disorder (มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 เดือน)
• ทานอาหารปริมาณมาก ภายในระยะเวลาสั้น ๆ
• ถึงไม่หิวแต่ก็ยังกิน
• กินอิ่มเกินไปจนอึดอัด
• ไม่สามารถควบคุมการกินของตนเองได้
• รู้สึกผิดและละอายใจกับวิธีการกินของตนเอง
ผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมกินไม่หยุดส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น เกิดอาการสำลักจากการกินอาหารอย่างมูมมาม เสี่ยงต่อการติดคอ เนื่องจากกินอาหารในปริมาณมากและ Charlie เองก็มีพฤติกรรมชอบกิน Junk food ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนและนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคทางกายอื่น ๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และมะเร็ง จากการศึกษาในอเมริกาพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากความผิดปกติทางการกิน 1 คนในทุก ๆ 1 ชั่วโมง
การที่ Charlie เริ่มมีอาการของโรคกินไม่หยุด ยิ่งซ้ำเติมให้เขาวนเวียนอยู่ในวังวนของความรู้สึกผิด เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ เขาเลือกใช้การกินเป็นวิธีเยียวยา แต่ยิ่งกินจนผิดปกติ เขาก็ยิ่งรู้สึกผิดต่อตัวเองและคนรอบข้าง สังเกตได้จาก Charlie ที่มักขอโทษอยู่เสมอ พูดจาดูถูกตัวเอง และเมื่อรู้สึกแย่เขาก็กลับไปพึ่งพาการกินอีกครั้ง กลายเป็นวังวนที่ยากจะหลุดพ้น
ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยโรค Binge Eating มักเก็บตัว ไม่อยากออกไปไหน ขาดการติดต่อสื่อสารกับคนใกล้ชิด เพราะรู้สึกละอายต่อพฤติกรรมการกินและรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้ยากต่อการได้รับความช่วยเหลือ
ในช่วงที่ร่างกายของ Charlie อยู่ในขั้นวิกฤตและพร้อมจะเสียชีวิตได้ตลอด เป็นช่วงที่เขาได้กลับมาเจอลูกสาวและภรรยาเก่า ถึงจะไม่ราบรื่นและเต็มไปด้วยถ้อยคำทำร้ายจิตใจ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Charlie ได้พูดคุยถึงปัญหาที่ถูกละเลยอย่างตรงไปตรงมา เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การพูดคุยเปิดใจกัน การขอโทษ เกิดขึ้นตอนที่ความเจ็บป่วยของ Charlie อยู่ในระยะที่เกินเยียวยา ไม่มีเวลามากพอที่จะรักษารอยร้าวในความสัมพันธ์ของเขากับลูกสาว ไม่แน่ว่าหากการพูดคุยกันเกิดขึ้นเร็วกว่านี้จุดจบของ Charlie อาจต่างออกไป
สำหรับแนวทางการรักษาโรคกินไม่หยุดประกอบไปด้วย 3 แนวทางหลัก คือ ทานยา ทำจิตบำบัด และปรับพฤติกรรม โดยทั่วไปการรักษาโรคนี้มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในบ้านและเพื่อนสนิท แต่จุดเริ่มต้นคือเจ้าตัวต้องมีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการปรับพฤติกรรม การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการกินไม่หยุดจะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นปัญหาไปพร้อมกับการค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม
อาการ binge eating อาจเป็นผลมาจากความเศร้าหรือความเครียดที่เรารับมือไม่ได้ ซึ่งในบางรายอาจต้องทานยาจิตเวชร่วมกับเข้ารับคำปรึกษาจากนักโภชนาการเพื่อเรียนรู้วิธีการทานอาหารที่เหมาะสม ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจนเกินไป เรียกได้ว่าเป็นการบำบัดรักษาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะและอาศัยเวลาเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง
สุดท้ายนี้เราอยากย้ำเตือนทุกคนว่า ไม่ว่ากำลังเผชิญกับความรู้สึกใด ๆ คุณไม่จำเป็นต้องผ่านมันไปเพียงลำพัง เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขและได้รับความช่วยเหลือ
ส่วนใครได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วมีข้อคิดเห็น คำถาม หรือมีหนังที่น่าสนใจที่อยากให้พวกเราหยิบมาพูดคุยในมุมมองทางจิตวิทยาก็สามารถคอมเมนต์ไว้ได้เลย
#psycholism
#thewhale
#netflix
#mentalhealth
#bingeeating
โฆษณา