Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
•
ติดตาม
13 มี.ค. 2024 เวลา 05:00 • สิ่งแวดล้อม
เนื่องในวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” ช้าง
ถือเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์ รวมถึงความเชื่อ ที่ผูกพันอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน
“ช้างป่า” จึงถือเป็นประชากรที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมในผืนป่า กระจายพันธุ์พืช คืนแร่ธาตุสู่ดินจากมูลช้าง ตลอดจนเอื้อประโยชน์ให้กับสัตว์กินพืชที่มีขนาดเล็กกว่า จากการสร้างทางเดินในผืนป่า และจากพฤติกรรมการกินอาหาร ที่มักเกี่ยวพันยอดใบไม้ ได้ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการส่งต่ออาหารให้กับสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าอีกด้วย
สังคมของช้างป่าเป็น Matriarchal Society หรือเรียกว่า สังคมที่ตัวเมียเป็นใหญ่ ซึ่งช้างป่าในกลุ่มจะมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกันอย่างใกล้ชิด มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการดูแลลูกช้าง ช้างแม่รับหรือช้างพี่เลี้ยงในโขลงบางตัว จึงมักมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกช้างทุก ๆ ตัวในโขลงไปด้วย
“แม่ช้างป่า จะให้ลูกได้กินนมอย่างเต็มที่เพียงพอ และจะไม่ยอมให้ลูกหย่านมง่าย ๆ”
แม่ช้างใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 19 ถึง 22 เดือน ให้ลูกครั้งละ 1 ตัว เมื่อลูกช้างเกิดได้ประมาณ 10 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก็สามารถลุกขึ้นยืน และกินนมแม่โดยการใช้ปากได้แล้ว ส่วนงวงก็จะยกชูขึ้น
แม่ช้างมีเต้านมสองเต้าคล้ายกับมนุษย์ อยู่บริเวณหน้าอกใกล้ขาหน้า ในตอนคลอดลูกช้าง จะมีแม่รับมาคอยช่วยดูแล และช่วยเลี้ยงลูกช้างป่า โดยเฉพาะแม่ช้างป่าท้องแรก ที่ไม่มีประสบการณ์นั้น ด้วยความใกล้ชิดสัมผัส คลอเคลีย ในบางครั้งเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนให้แม่รับ มีการสร้างน้ำนมขึ้นมาด้วย จึงทำให้ลูกช้างป่ามีโอกาสได้กินนมจากแม่มากกว่าหนึ่งตัว ลูกช้างป่าแรกเกิดจึงต้องการน้ำนมจากแม่ ไม่ต่างจากมนุษย์
น้ำนมที่ดีที่สุด ที่ลูกช้างป่าควรได้รับในช่วงแรกเกิด คือน้ำนมแรกของแม่ช้าง เรียกว่า นมน้ำเหลือง (Colostrum) เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติ ที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการต้านทานโรค ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพของลูกช้างป่าในระยะยาวอย่างยิ่ง ดังนั้นลูกช้างแรกเกิดจึงควรได้รับน้ำนมจากแม่ทันที และหลังจากนั้น น้ำนมที่ลูกช้างได้รับ จะมีลักษณะสีขาว (Milk) คือ น้ำนมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเพื่อการเจริญเติบโตในอนาคต
ลูกช้างโดยทั่วไปจะกินนมแม่เป็นอาหารหลักในช่วงขวบปีแรก จนกระทั่งหย่านมประมาณ 3 ถึง 4 ปี สำหรับการหย่านมในลูกช้างป่าจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม เช่น
🐘 ปัจจัยด้านความสามารถของตัวลูกช้างป่าเอง ในการใช้งวงพันเกี่ยวยอดหญ้า หรือใบไม้ในธรรมชาติ เมื่อลูกช้างป่าใช้งวงเป็นได้เร็ว โอกาสที่จะกินพืชอาหารหลักก็เร็วขึ้น และมีโอกาสในการหย่านมเร็ว
🐘 ปัจจัยด้านความสมบูรณ์แข็งแรงของแม่ช้างป่าในการผลิตน้ำนม
🐘 ปัจจัยด้านขนาดสัดส่วนความสูงของลูกช้างป่าในการเข้าเต้าแม่
🐘 ปัจจัยด้านเพศ จากข้อมูลพบว่า ลูกช้างเพศผู้หย่านมเร็วกว่าลูกช้างเพศเมีย เนื่องจากลักษณะทางด้านสรีระที่มีงายาวยื่นออกมาทิ่มเต้านมแม่ เมื่อแม่เจ็บก็จะรีบสอนให้ลูกช้างป่ากินดินโป่ง เพื่อให้หย่านมเร็ว
🐘 ปัจจัยด้านการกินดินโป่งจากพฤติกรรมการสอนของแม่ช้างป่า ถ้าลูกช้างป่าสามารถกินดินโป่งได้เร็ว
ก็มีโอกาสในการหย่านมเร็ว
การถือกำเนิดลูกช้างป่าหนึ่งตัว จึงเท่ากับการเพิ่มประชากรให้กับผืนป่า สัตว์ป่าจะดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็เมื่อมีป่า มีแหล่งน้ำ มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ตลอดจนมีพื้นที่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต
ร่วมใจกันอนุรักษ์ช้างไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง และหวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้างไทย ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน
ข้อมูล : นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯ
ที่มา : หนังสือคู่มือความรู้เรื่องช้าง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
ภาพ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
#น้ำนมแม่ช้าง #ลูกช้างป่า #แม่ช้างป่า #แม่รับ #ช้างป่า #13มีนาคม #วันช้างไทย #กรมอุทยาน #Thaielephant
สื่อทางเลือก
สัตว์ป่า
ธรรมชาติ
บันทึก
7
5
7
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย