22 มี.ค. เวลา 14:24 • ประวัติศาสตร์

ตอนที่ 1 เริ่มต้นการเดินทาง

เมื่อวิทยาการต่างๆเริ่มที่จะตอบคำถามและอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนในยุคก่อน บวกกับการต้องการเจอสิ่งใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มความฝัน จึงได้มีการเริ่มออกสำรวจพื้นที่และตั้งคำถาม สุดขอบโลกเป็นยังไง มีอะไรบ้าง พร้อมกับมีการเริ่มใช้เข็มทิศและมีอาชีพนักทำแผนที่ เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงนำมาสู่ การสำรวจโลก
จุดเริ่มต้นของการสำรวจโลกเกิดคือในช่วงท้ายของยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ สมัยเรเนซองส์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทางของการตื่นรู้ทางปัญญาและการเดินหน้าสำรวจโลก ยุคของเรเนซองส์หลายฝ่ายยอมรับกัน ว่าจุดเริ่มต้น ก็คือการล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิลจากการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมัน ภายใต้สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ในปี ค.ศ.1453
พระบรมสาทิสลักษณ์ของเมห์เหม็ดที่ 2 โดยเจนตีเล เบลลีนี วาดใน ค.ศ. 1480
ซึ่งในเวลานั้นสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งโรมหรือ คัยเซรีรูม และก็ 1 ปีก่อนหน้าการแตกสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็คือ ปีเกิดของเลโอนาร์โด ดา วินชี ค.ศ.1452 ในช่วงก่อนที่จะเสียกรุง ตำราต่างๆที่บรรจุภูมิปัญญาของกรีกโรมันนั้นถูกลำเลียงออกจากยุโรปไปยังไบเซนไทน์ก็คือ โรมันตะวันออกแต่หลังจากการแตกสลายของคอนสแตนติโนเปิล
การเข้าไปครอบครองโรมันตะวันออก หรือกรุงคอนสแตนติโนเปิลของออตโตมันนั้น ทำให้ตำราต่างๆ และภูมิปัญญาเหล่านี้ ได้ไหลกลับเข้าไปสู่ยุโรปตะวันตกมากยิ่งขึ้น ฟลอเรนซ์ (ปัจจุบันเป็นเมืองในอิตาลี) กลายเป็นศูนย์กลางภูมิปัญญาของโลก พื้นที่คาบสมุทรอิตาลีกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเหล่าปัญญาชน ศิลปิน และนักประดิษฐ์เกิดขึ้นจำนวนมากมาย
จักรวรรดิไบแซนไทน์ในสีส้ม ประมาณ ค.ศ. 1180 ปลายยุคคอมเนเนียน
แต่ต้องบอกว่าความเจริญเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะศิลปะวิทยาการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปในเรื่องของนักสำรวจและวิทยาการในการสำรวจด้วย ในขณะที่พื้นที่อื่นๆในยุโรปเองนั้น อย่างเช่น เยอรมันในช่วงเวลานั้นคือศตวรรษที่ 15 เป็นเพียงแค่รัฐเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่เกาะบริแทนเนียหรือว่าอังกฤษ เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลานั้น
ยังถือว่าประสบกับปัญหาการรบพุ่งช่วงชิงกันเองภายใน จึงยังไม่ได้มีเวลาในการเดินหน้าออกไปสำรวจโลกเหมือนกับชาติมหาอำนาจอื่นๆในเวลานั้น จนกระทั่งในศตวรรษที่ 15 การสำรวจโลกไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับประเทศทางยุโรปเท่านั้น ทางฝั่งเอเชียเองก็มีการสำรวจโลก อย่างในกรณีของจักรวรรดิจีน สมัยต้าหมิง ก็เริ่มเดินหน้าเช่นเดียวกัน
พระบรมฉายาลักษณ์ ของจักรพรรดิถังไท่จง (สามารถอ่านเรื่องของถังไท่จงได้ในลิ้ง) https://www.blockdit.com/posts/63de29259cf45fc52d99dc37
ในศตวรรษนั้นเป็นยุคที่พระเจ้าหมิงไท่จง หรือว่า หมิงเฉิงจู่ ที่เรารู้จักกันในนามของพระเจ้าหย่งเล่อ หรือว่า หย่งเล่อตี้ ซึ่งเป็นพระจักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์หมิงได้มีการส่งกองเรือภายใต้การบัญชาการของขันทีเจิ้งเหอไปสำรวจโลก อยู่ในช่วงปี ค.ศ.1402 ถึง ค.ศ.1424 โดยมีการล่องเรือจากจีน มุ่งหน้าสู่มหาสมุทรอินเดีย คือไปทางทิศตะวันตก แวะขึ้นฝั่งบางช่วงบางตอนที่เอเชียอาคเนย์ ซึ่งก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และล่องเรือต่อไปที่เอเชียตะวันตกจนกระทั่งถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาเลยทีเดียว
แต่หลังจากการสวรรคต ของพระเจ้าหย่งเล่อตี้แล้ว จักรพรรดิองค์ต่อมา ก็คือจักรพรรดิหมิงเหยินจง หรือจูเกาจื้อ พระองค์ไม่สนพระทัยหรือโปรดปรานในเรื่องของการสำรวจโลก หรือการเดินเรือ จึงไม่ได้ให้การสนับสนุนต่อยอดการสำรวจโลกของเจิ้งเหออีกต่อไป ขอนำกลับจากเอเชียมาสู่ยุโรปกันต่อครับ
เรือสมบัติ (เป่าซวน) และเส้นทางการเดินเรือของเจิ้งเหอ (สามารถอ่านเรื่องของขันทีเจิ้งเหอได้ในลิ้ง) https://www.blockdit.com/posts/64967893686ed9b09736624a
ในศตวรรษเดียวกันนั้น เป็นยุคหลังจากสงครามครูเสดผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้นชาวยุโรปจะรู้จักกับสินค้าที่มาจากพื้นที่ห่างไกล ซึ่งแต่เดิมโลกของพวกเขาจะสุดขอบตรงแค่พื้นที่ด้านตะวันออกสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น แต่หลังจากเสร็จสิ้นสงครามครูเสด เริ่มมีผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ แม้จะเป็นชาติอาหรับ คนจากเอเชียกลาง ก็จะนำเอาสินค้าแปลกๆมาขาย รวมถึงบรรดาเครื่องเทศ น้ำตาล กานพลู พริกไทย
และชาวยุโรปเองในช่วงเวลานั้น ก็เริ่มคิดเริ่มฝันถึงการเดินทาง ไปสู่ดินแดนทางทิศตะวันออกเพื่อไปนำเอาของแปลกๆพวกนี้ อาทิเช่น เครื่องเทศที่มีคุณค่าเหล่านี้ มาขายในโลกตะวันตกซึ่งหมายถึงยุโรปนั่นเอง และหนึ่งในบรรดานักเดินทางซึ่งเป็นที่รู้จักได้เกิดขึ้นในยุคก่อนหน้านี้แล้ว นั่นก็คือมาร์โก โปโล ซึ่งเป็นนักเดินทางจากสาธารณรัฐเวนิส
ภาพเหมือนของมาร์โก โปโล
และได้เดินทางไปยังแผ่นดินจีนในยุคของราชวงศ์หยวนปกครองก็คือ“พวกมองโกล” ด้วยการเดินทางทางราบ เดินทางเท้า ขี่ม้า ขี่อูฐ หลังจากนั้นหนังสือของเขาคือหนังสือที่มีชื่อว่า “บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ( Le Il Milione ) ” กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับนักสำรวจนักเดินทางอีกจำนวนมากมาย
เส้นทางการเดินทางของมาร์โค โปโล และ 1 ในหน้าของหนังสือบันทึกการเดินทางของ
เขาค้นหาวิธีในการเดินทางไปยังดินแดนใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้า
ด้วยหลักภูมิศาสตร์ และความเป็นมหาอำนาจทางทะเลของยุโรปในเวลานั้น มี 2 ชาติที่ยิ่งใหญ่ก็คือ สเปนกับโปรตุเกส ได้กลายเป็นชาติผู้นำในการสำรวจทางเรือ ซึ่งในแง่ภูมิศาสตร์แล้ว สเปน
ด้านทิศตะวันออกพวกเขาติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่ด้านทิศตะวันตกพวกเขาติดกับช่องแคบยิบรอลตาร์ นั่นหมายความว่า พวกเขาสามารถที่จะเดินเรือเข้าถึงมหาสมุทรทางทิศตะวันตกของยุโรปซึ่งก็คือ“มหาสมุทรแอตแลนติก”ได้อย่างง่ายดาย
ในขณะที่โปรตุเกส พวกเขานั้นมีชายฝั่งทางด้านทิศตะวันตกที่หันหน้าเข้าหา มหาสมุทรแอตแลนติกโดยตรงและเป็นเส้นทางเดินเรือหลักของพวกเขา ในศตวรรษที่ 15 นี้เองขณะที่ภาคพื้นยุโรปนั้น กำลังเข้าสู่ภาวะการสิ้นสุดของยุคกลาง และเริ่มต้นยุคเรเนซองส์ เจ้าชายอิงฟังตึเอ็งรีกึ (หรือเจ้าชายเฮนรี) ราชนาวิก แห่งโปรตุเกส โอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้าฌูเอาที่ 1 แห่งโปรตุเกสผู้ก่อตั้งราชวงศ์อาวิช เป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของการสำรวจโลก ด้วยเส้นทางทางทะเล
แผนที่ของสเปนและโปรตุเกส
ต้องบอกแบบนี้ก่อนว่า มาร์โคโปโลเดินทางไปยังโลกตะวันออกด้วยการใช้วิธีเดินเท้าขี่ม้า แล้วก็ขี่อูฐ พูดง่ายๆคือ “เดินทางบก” แต่ว่าโปรตุเกสในยุคนั้น ของเจ้าชายอิงฟังตึเอ็งรีกึ พระองค์มีความสนใจเรื่องของการสำรวจโลกด้วยเส้นทางทางทะเล และมีมากกว่าราชนิกูลองค์ใดๆ ในยุโรป ถึงขนาดที่พระองค์คือ เจ้าชายอิงฟังตึเอ็งรีกึ ได้ทรงก่อตั้ง“สถาบันสำรวจโลกใหม่”
ด้วยการเอาปัญญาชนใน 2 แขนงหลักๆเลย ได้แก่ แขนงดาราศาสตร์ และแขนงที่ว่าด้วยการทำแผนที่ หรือศาสตร์การทำแผนที่จากกลุ่มคน หลายๆชาติในยุโรป ที่มีประสบการณ์ โดยไม่จำกัด ว่าจะต้องเป็นชาวโปรตุกีส เป็นสแตนนิส เป็นอิตาเลียน หรือว่าจะเป็นคนจากจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่พูดเยอรมัน หรือว่าชาติอื่นใดก็ได้ที่มีความสามารถให้มารวมตัวกัน เพื่อที่จะช่วยกันสนับสนุนกองเรือสำรวจที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นมา
ทั้งนี้ จากการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้ง “สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา การสำรวจหรือการผนวกเอานักดาราศาสตร์ กับนักทำแผนที่ มารวมตัวกันเพื่อที่จะได้เก็บ รวบรวม เรื่องราวรายละเอียดให้มากที่สุด ก่อนที่จะมีการส่งกองเรือเหล่านั้นไปสำรวจโลกใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้พระองค์ทรงได้รับฉายาว่า..”อิงฟังตึเอ็งรีกึ เจ้าชายนักสำรวจ“
อิงฟังตึเอ็งรีกึ เจ้าชายนักสำรวจ
ด้วยความที่ทั้ง 2 ชาตินี้ ก็คือสเปนกับโปรตุเกส ต่างฝ่ายต่างถือตัวว่า มีความรู้ในเรื่องการเดินเรือ จัดเป็นมหาอำนาจทางทะเลทั้งคู่ จึงทำให้ราชสำนักของทั้ง 2 ชาติ ต่างก็เริ่มต้นการแข่งขัน ในการส่งกองเรือสำรวจ ออกไปหาดินแดนใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลย ต้องการเดินเรือไปยังทิศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย เพื่อที่จะนำเอาสินค้าที่มีค่า มีราคาเหล่านี้ นำกลับไปขายยังโลกตะวันตกซึ่งก็คือในยุโรป และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ได้บรรลุเป้าหมายการแข่งขันเพื่อหาดินแดนใหม่
นักสำรวจชาวอิตาเลียนหลายคน ซึ่งไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่การคุย การตื่นรู้ว่า พวกเขาเป็นศูนย์กลางของโลก ผู้คนเริ่มตื่นตัวกับกระแสที่สเปนและโปรตุเกสนั้น เริ่มต้นเดินหน้าที่จะสำรวจโลก ทำให้นักสำรวจชาติอิตาเลียนหลายคน เลยได้โอกาสถวายตัวเข้าไปรับใช้กับราชสำนักสเปน และโปรตุเกสกันมากมาย ดังที่เราน่าจะคุ้นๆชื่อกันอยู่หลายคน เช่น คริสโตเฟอร์โรโคลัมโบ ก็จะเป็นชื่อออริจินอล ของคริสโตเฟอร์โคลัมบัส หรือ แม้กระทั่ง อเมริโก เวสปุชชี ที่เราเคยได้ยินชื่อกันตอนสมัยเรียนหนังสือ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ เป็นชาวอิตาเลียน
เข้าไปเสนอขอเงินสนับสนุนจากราชสำนักของทั้ง 2 มหาอำนาจ ซึ่งทางฝั่งของโปรตุเกสด้วยความที่อยู่ติดกันกับมหาสมุทรแอตแลนติก พวกเขาจึงส่งกองเรือลงทางใต้เพื่อที่จะหาทางไปยังทิศตะวันออก เป้าหมายหลักๆในการเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียนั้น คือไปถึงอินเดียให้จงได้ สำหรับกองเรือนักสำรวจที่ได้รับการสนับสนุน มีสปอนเซอร์ใหญ่ คือกษัตริย์องค์ต่อมาของโปรตุเกส ทรงพระนามว่า “พระเจ้าฌูเอาที่ 2 “ ภายใต้การนำของหัวหน้ากองเรือสำรวจที่มีชื่อว่า บาร์ตูลูเมว ดีอัช (Bartolomeu Dias)
บาร์ตูลูเมว ดีอัช (Bartolomeu Dias)
และเมื่อเขานำกองเรือเดินทางล่องลงใต้นั้น ด้วยวิธีการเดินเรือแบบลัดเลาะชายฝั่งของทวีปแอฟริกาไล่ลงทางใต้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลงไปถึงพื้นที่ที่อยู่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งพื้นที่ใต้สุดแห่งนี้ เขาได้ขนานนามโดยให้ชื่อว่า "คาโบ ดา บัว เอสเปรันกา" แปลว่า ”แหลมแห่งความหวังอันประเสริฐ“ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ” Cape of Good Hope “ ซึ่งก็เป็นจุดที่อยู่ใต้สุดเลยของทวีปแอฟริกา และเป็นจุดที่มหาสมุทรทั้ง 2 คือ มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย นั้นบรรจบเข้าหากัน
การเดินทางและการค้นพบ แหลมกู๊ดโฮป ของบาร์ตูลูเมว นั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1488 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน 4 ปี ที่คริสโตเฟอร์โคลัมบัสจะเดินทางไปยังทิศตะวันตก(ปี ค.ศ.1492) และค้นพบบาฮามาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา ดังนั้นเมื่อทาง บาร์ตูลูเมว พบกับแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งถือว่าเป็นรอยต่อของ 2 มหาสมุทร ทำให้นักเดินเรือชาวโปรตุเกสได้มีการเตรียมพร้อมในการต่อยอดมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย
วัชกู ดา กามา (โปรตุเกส Vasco da Gama)
และต่อมาพวกเขาก็ทำได้สำเร็จภายใต้การนำของหัวหน้ากองเรือที่มีชื่อว่า วัชกู ดา กามา (โปรตุเกส Vasco da Gama)
เคยสังเกตุมั๊ย ทุกครั้งเวลาที่เราคุยกันถึงเรื่องการสำรวจ เรามักจะนึกถึงบุคคลคนนี้ “คริสโตเฟอร์โคลัมบัส” ดังนั้นเราจะเริ่มออกเดินทางไปด้วยกัน “คริสโตเฟอร์โคลัมบัส” เป็นชาวเมืองเจนัว ในคาบสมุทรอิตาลี ตัวเขาเองมีความใฝ่ฝันเหมือนกับนักสำรวจทั่วๆไป เขาต้องการที่จะเดินทางไปยังอินเดียเช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยที่เขาได้นำเอาโปรเจกต์การเดินเรือไปยังอินเดียนี้ ไปเสนอขายกับราชสำนักโปรตุเกส
ก็คือไปพบไปเข้าเฝ้าพระเจ้าฌูเอา ในกรอบเวลาช่วงนั้น โดยมีการเสนอแผนการเดินเรือที่แปลกแหวกแนวไปกว่าคนอื่นๆ ซึ่งตัวเขานั้นต้องการจะเดินเรือมุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตก แทนที่จะเดินเรือผ่านไปทางทิศตะวันออกเหมือนกับคนอื่นๆ โดยที่เค้าบอกไปแบบนี้ก็เพราะว่า “โลกมันกลมไง ” ดังนั้นถ้าเขาเดินเรือผ่านทางทิศตะวันตกไปเรื่อยๆ ในที่สุด เขาก็จะพบกับอินเดียเองนั่นแหละ !!!!!
แต่ว่าจะเป็นอินเดียทางฝั่งทิศตะวันตกนะ ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่จะเดินเรือไปแล้ว พบกับอินเดียทางฝั่งตะวันออก แต่ต้องขออธิบายแบบนี้ก่อนว่า.. ความเชื่อที่ว่าโลกกลม ในยุคเรอเนซองส์ เขาเริ่มต้นทราบแล้วหรือยังว่า โลกนั้นกลม เพราะโลกยุคนั้นเป็นยุคก่อนหน้าของ นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส โยฮันเนิส เค็พเพลอร์ กาลิเลโอ กาลิเลอี เรื่องของโลกกลมโลกแบน มีหลักฐานปรากฏชัดว่ามนุษยชาติเอง รู้อยู่แล้วว่าโลกอยู่ในสัณฐานกลม
เมกาสเทเนส (Megasthenes)
ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ชาวกรีก ที่มีชื่อว่า เมกาสเทเนส (Megasthenes) โดยที่เมกาสเทเนสระบุว่า โลกนั้นมีสัณฐานกลม โดยที่ ณ เวลานั้นอาจจะยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน แต่ว่าคนยุโรปในยุคนั้นมีความเชื่อมานานแล้วว่า “โลกไม่ได้แบน” และโคลัมบัสเอง ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เชื่อแบบนั้นว่า “โลกนั้นไม่ได้แบน”
ดังนั้นการเดินเรือไปยังอินเดียผ่านทางทิศตะวันตก ก็คงจะเป็นแนวทางอีกแนวทางหนึ่ง ในการที่จะเดินทางไปสำรวจโลกเพียงแต่ว่า โคลัมบัส ณ เวลานั้นยังไม่รู้ว่า ขนาดของโลกนั้น กว้างใหญ่ขนาดไหน เส้นผ่าศูนย์กลางของโลก หรือว่าเส้นรอบวงของโลกนั้นใหญ่ขนาดไหน เมื่ออธิบายเรื่องโลกกลมไปแล้ว คงจะต้องคุยถึงผู้ทำแผนที่ชาวเยอรมัน สักคนหนึ่งซึ่งมีคุณูปการต่อเรื่องของคำว่า “ โลกกลม” เยอะมากพอสมควรเลยทีเดียว
นั่นก็คือนักทำแผนที่ ชาวเมืองเนือร์นแบร์ค เมืองที่อยู่ตอนใต้ของเยอรมัน ที่มีชื่อว่า “มาร์ติน เบเฮม(Martin Behaim)” ซึ่งชายคนนี้ ได้เริ่มต้นทำลูกโลกจำลองขึ้นเป็นครั้งแรก เขาทำลูกโลกจำลองเสร็จในปี ค.ศ.1492 ก็เป็นปีเดียวกันกับที่โคลัมบัสได้เดินทางไปถึงดินแดนที่ค้นพบใหม่นั่นก็คือ “ อเมริกา ” สำหรับลูกโลกจำลองของมาร์ติน เบเฮม ถือว่า“ ฉีกแหวกแนวมาก ” เพราะแผนที่ในสมัยนั้นจะทำกันเป็นแผ่นแบนๆ
ลูกโลกนูเรมเบิร์กและรูปปั้นของ Martin Behaim
แต่ว่าเบเฮมได้ให้ข้อคิดแบบนี้ว่า.. “ในเมื่อโลกมันกลม เราก็ควรจะทำแผนที่บนสัณฐานที่ทรงกลมด้วย” ลูกโลกจำลองลูกแรกที่เขาทำนั้นมีชื่อว่า “เออร์ดัปเฟล” เป็นภาษาเยอรมัน (Earth Apple) มีความหมายว่า “ลูกโลกลูกแรกที่มนุษยชาติประดิษฐ์ขึ้น“ ด้วยการทำให้แผนที่ซึ่งเคยเป็นแผ่นแบนนั้นทำให้เป็นทรงกลม แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไป นั่นก็คือแผนที่ของเขายังไม่ได้มีการบรรจุทวีปใหม่ที่มีชื่อว่า ” อเมริกา “ลงไปด้วย
กลับมาที่ข้อเสนอโคลัมบัสกันบ้าง เมื่อโคลัมบัสได้นำข้อเสนอของเขาในการจะไปสู่อินเดีย ด้วยเส้นทางผ่านไปยังด้านทิศตะวันตก ซึ่งไม่เหมือนใคร ให้กับพระเจ้าฌูเอาที่ 2 และพระองค์ได้นำเอาแผนการนี้ไปพูดคุย ปรึกษากับบรรดาผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือของโปรตุเกส ซึ่งแน่ล่ะ มีแต่คนคัดค้าน
ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า..โคลัมบัสคงจะคำนวณผิดพลาดแน่ๆ เพราะโลกใบนี้ไม่ได้เล็กอย่างที่โคลัมบัสคิด นอกจากนั้น จากความสำเร็จของบาร์ตูลูเมว ในปี ค.ศ.1488 ทำให้ราชสำนักโปรตุเกส ปฏิเสธการสนับสนุนแผนของโคลัมบัสเพราะคิดว่าพวกเขาอยากทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดให้กับการเดินทางไปยังด้านทิศตะวันออก มากกว่าการที่จะต้องแบ่งปันทรัพยากรไปใช้ในการสำรวจพร้อมกันทั้ง 2 ทิศทางในเวลาเดียวกัน
ภาพวาดการหารือการเดินเรือของโคลัมบัสกับสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน
ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้โคลัมบัสจึงต้องหันหน้าไปเสนอโปรเจกต์ของเขากับราชสำนักสเปนแทน
และในเวลานั้น ราชสำนักสเปนอยู่ภายใต้ราชวงศ์กัสติยา-เลอออน ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 เป็นพระประมุขพร้อมกับพระสวามีก็คือ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน และการเสนอโปรเจกต์นี้ ผลปรากฎว่า พระราชวงศ์สเปนยอมเดิมพันกับโคลัมบัส โดยได้ให้งบประมาณในการที่เขาจะเดินเรือไปสำรวจทางทิศตะวันตก
การเดินทางไปยังทิศตะวันตกเพื่อไปหาอินเดียของเขา ประกอบไปด้วยเรือ 3 ลำเป็นเรือลำใหญ่ที่มีชื่อว่า “ซานตามาเรีย” (Santa Maria) และเรือลำเล็กอีก 2 ลำ มีชื่อว่า“ ปินต้า”(Pinta) และ“นีน่า”(Nina) พวกเขาออกเดินทางในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1492 พวกเขาใช้เวลา 60 วัน ในการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและได้พบกับแผ่นดินที่พวกเขาเชื่อกันว่า..นี่แหละ คือเป้าหมายที่พวกเราตามหาและนั่นคือ“ด้านทิศตะวันตกของอินเดีย”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว จุดที่พวกเขาพบยังไม่ใช่ผืนแผ่นดินด้านทิศตะวันตกของอินเดีย แต่เป็นเกาะที่อยู่ไม่ไกลจากทวีปอเมริกา ซึ่งในเวลานี้ คือ “เกาะบาฮามาส” และนั่นก็เป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินกันมาว่า..คริสโตเฟอร์โคลัมบัส และน้องชายของเขาที่มีชื่อว่า“บาร์โทโลมิว โคลัมบัส” รวมถึงกองเรือสำรวจของสเปนนั้นได้เดินทางไปพบทวีปอเมริกาแล้ว โดยที่พวกเขาในเวลานั้นยังไม่รู้ว่า..นี่คือแผ่นดินใหม่ แต่พวกเขากลับเชื่อกันว่า..นั่นคือด้านทิศตะวันตกของอินเดีย
ภาพวาด “ซานตามาเรีย” (Santa Maria) และเรือลำเล็กอีก 2 ลำ มีชื่อว่า“ ปินต้า”(Pinta) และ“นีน่า”(Nina)
พูดง่ายๆเลยคือ..พวกเขาเชื่อว่าโลกนั้นมีเส้นรอบวงที่ไม่ได้กว้างใหญ่มากนัก ดังนั้นการเดินทางไปสู่อินเดีย จึงสามารถทำได้ด้วยการเดินทางมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะได้พบกับแผ่นดินอีกด้านนึงของอินเดียที่อยู่ด้านทิศตะวันตกนั่นเอง เราต้องยอมรับกันว่า ในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่า..โลกใบนี้ กว้างใหญ่ขนาดไหน?? และก็ยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่า..นอกจากเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาแล้ว โลกใบนี้ยังมีทวีปใหญ่อีกหนึ่งทวีป
ถ้าสังเกตว่าลูกโลกของเบเฮม ตามที่เราได้บอกไปแล้ว ที่มีชื่อว่า “เออร์ดัปเฟล” ได้ทำขึ้นในปี ค.ศ.1492 และเป็นลูกโลกของจริงใบแรก ซึ่งประกอบไปด้วยทวีปหลักแค่ 3 ทวีปเท่านั้น นั่นก็คือทวีปยุโรป เอเชียและแอฟริกา โดยที่มีน้ำล้อมรอบและน้ำนั่นก็คือมหาสมุทร แอตแลนติก ส่วนตอนใต้ก็คือมหาสมุทรอินเดีย เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่า..สิ่งที่โคลัมบัสได้พบนั้น มันคืออะไร?? หลังจากการค้นพบแผ่นดินบาฮามาส ที่พวกเขาเชื่อกันว่ามันคือ“อินเดียด้านทิศตะวันตก”
โคลัมบัสได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปยังพื้นที่ที่พวกเขาเชื่อกันว่า..นั่นคือ“อินเดีย”ถึง 3 ครั้ง รวมเป็นการสำรวจของโคลัมบัสทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน และนั่นคือการที่สเปนเริ่มต้นแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิของพวกเขาในดินแดนใหม่ในเวลาต่อมาด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า..ผู้ค้นพบแผ่นดินใหม่หรือทวีปอเมริกานี้
ภาพเหมือนของโคลัมบัสโดยเซบัสเตียโน เดล ปีออมโบ ใน ค.ศ. 1519 (สามารถอ่านเรื่องของคริสโตเฟอร์โคลัมบัสได้ในลิ้ง) https://www.blockdit.com/posts/64a844d9dca0551c942f3861
เรารู้กันมาตลอดว่าคือ “คริสโตเฟอร์โคลัมบัส” แต่ว่าชื่อดินแดนใหม่แห่งนี้ ทำไม? จึงไม่ใช้ชื่อโคลัมบัส หรือโคลัมโบ และทำไม? จึงไม่มีการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับบุคคลผู้ค้นพบทวีปเกิดใหม่นี้ แต่กลับไปตั้งชื่อตามนักสำรวจรุ่นน้อง ที่มีชื่อว่า “อเมริโก เวสปุชชี ” สำหรับชายคนนี้
” อเมริโก เวสปุชชี “ เขาได้เจออะไร? และทำไม? ทวีปอเมริกา จึงต้องตั้งชื่อตามเขาด้วย แทนที่จะตั้งชื่อตามโคลัมบัส ผู้ค้นพบ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกันของราชสำนักโปรตุเกส และราชสำนักสเปนจะเดินหน้าไปอย่างไร?? แล้วถ้าเกิดสำรวจพบสิ่งใหม่ และเกิดมีความทับซ้อนกัน จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นได้อย่างไร??
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 1 เริ่มต้นการเดินทาง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา