25 มี.ค. เวลา 12:39 • ประวัติศาสตร์

• อังกฤษคิดยังไงกับการปฏิวัติฝรั่งเศส?

ตลอดทศวรรษ 1790 การปฏิวัติฝรั่งเศสได้พลิกโฉมและสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อทั้งยุโรปรวมถึงประวัติศาสตร์ของโลก แน่นอนว่าสำหรับคู่รักคู่แค้นของฝรั่งเศสอย่างอังกฤษเอง ก็มีความคิดเห็นหรือปฏิกิริยากับเหตุการณ์ในครั้งนั้นเช่นกัน
ในช่วงแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส นักคิดหลายคนในอังกฤษมีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติ หนังสือพิมพ์ The London Chronicle ลงข่าวการทลายคุกบาสตีย์โดยมีเนื้อหาประมาณว่า ‘ในทุกหนแห่งของราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่นี้ เปลวไฟแห่งเสรีภาพได้ลุกโชนขึ้น’
อย่างไรก็ตาม The London Chronicle ลงท้ายว่า ‘ก่อนที่พวกเขา (ชาวฝรั่งเศส) จะประสบความสำเร็จ ฝรั่งเศสจะเจิ่งนองไปด้วยเลือด’
นักคิดอังกฤษตอนนั้นมองว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสคล้ายกับการปฏิวัติของอเมริกา เพราะเป็นการลุกฮือของประชาชน เพื่อตอบสนองต่อการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมจากการปกครองแบบเผด็จการ
พวกเขามองว่า การปฏิวัติเป็นธรรมชาติของประวัติศาสตร์ นักปฏิวัติฝรั่งเศสกำลังสร้างเส้นทางสำหรับสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แบบเดียวกับการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ของอังกฤษ
แต่สำหรับเหล่าชนชั้นนำของอังกฤษที่มีแนวคิดต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส พวกเขามองว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่เหมือนกับการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ พวกเขาตั้งคำถามมากมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส
ในปี 1790 เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) รัฐบุรุษชาวไอริชและนักการเมืองจากพรรควิก ตีพิมพ์ผลงาน ‘Reflections on the Revolution in France’ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส
1
ในช่วงแรกเบิร์กสนับสนุนการปฏิวัติ แต่พอเวลาผ่านไปเขากลับไม่เห็นด้วย แม้ว่าเบิร์กจะเชื่อว่า ประชาชนมีสิทธิ์ชอบธรรมทุกประการที่จะโค่นล้มรัฐบาลที่กดขี่ แต่เขามองว่า ฝรั่งเศสควรจะค่อย ๆ ปฏิรูปสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ไม่ใช่ปฏิวัติแบบที่เกิดขึ้น
1
สิ่งที่น่าสนใจคือ เบิร์กเคยทำนายว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสจะทำให้ฝรั่งเศสเต็มไปด้วยกบฏและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สุดท้ายแม่ทัพที่ได้รับความนิยมจากประชาชน จะกลายเป็นเจ้านายของสาธารณรัฐฝรั่งเศส หลายคนเชื่อว่า คนที่เอ็ดมันด์พูดถึงก็คือนโปเลียน โบนาปาร์ต นั่นเอง
งานเขียนของเบิร์กถูกตอบโต้โดยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโทมัส เพน (Thomas Paine) ที่ตีพิมพ์ผลงาน ‘Rights of Man’ ในปี 1791
1
เพนมีแนวคิดว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถยึดสิทธินี้ได้ ดังนั้นมาตรการทางการเมืองหรือกฎหมายจึงไม่สามารถมอบสิทธิมนุษยชนให้ได้
เพนยังเชื่อว่า รัฐบาลเป็นสิ่งที่ประชาชนสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิของตน ไม่ใช่องค์กรที่อยู่เหนือกว่าประชาชน และรัฐบาลที่ไม่ทำหน้าที่ของตน ประชาชนย่อมมีสิทธิ์โค่นล้มและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
2
อย่างไรก็ตาม Rights of Man ของเพนถูกวิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะกับชนชั้นนำของอังกฤษ ที่มองว่าเป็นแนวคิดที่สุ่มเสี่ยง ผลสุดท้ายเพนจึงต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส
ท่าทีของอังกฤษกับการปฏิวัติฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในช่วงปี 1792-1793 ในช่วงที่ฝรั่งเศสเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ การประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หรือที่นักปฏิวัติฝรั่งเศสเรียกว่า ‘พลเมืองหลุยส์ กาเปต์’ (Citizen Louis Capet) รวมถึงยุคสมัยน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) ที่มีการประหารชีวิตผู้คนด้วยกิโยตินจำนวนมาก อังกฤษมองว่า นี่ไม่ใช่การปฏิวัติฝรั่งเศสแบบที่เข้าใจในตอนแรก แต่เป็นการปฏิวัติที่รุนแรงและอันตราย
ทางการอังกฤษมีการเซ็นเซอร์สื่อ จับตาดูและจับกุมกลุ่มคนที่เชื่อว่าอาจจะก่อเหตุความวุ่นวาย เกิดเป็นกระแสสังคมที่เรียกว่า ‘ความกลัวของพิตต์’ (Pitt’s Terror) ที่ตั้งชื่อตามวิลเลียม พิตต์ (William Pitt) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษตอนนั้น
นอกจากนี้อังกฤษยังออกพระราชบัญญัติต่างด้าว (Aliens Act of 1793) ควบคุมจำนวนผู้ลี้ภัยจากฝรั่งเศส เพื่อคัดกรองบุคคลที่อาจเป็นสายลับหรือก่อความวุ่นวายในอังกฤษ
แม้ว่าในช่วงท้าย ท่าทีของอังกฤษที่มีต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสจะเป็นแง่ลบเป็นส่วนใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลของการปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ประเด็นทางการเมืองหลายเรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน ได้รับการพูดถึงในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล รวมถึงบทบาทของชนชั้นนำในสังคมสมัยใหม่ กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเลิกทาส การปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้งของอังกฤษในเวลาต่อมา
อ้างอิง
• History Hit. What Did Britain Think of The French Revolution?. https://www.historyhit.com/what-did-britain-think-of-the-french-revolution/
• The Collector. Reacting to the French Revolution: Edmund Burke and the British Pamphlet War. https://www.thecollector.com/edmund-burke-french-revolution/
#HistofunDeluxe
โฆษณา