26 มี.ค. เวลา 10:00 • การตลาด

5 เทคนิคการเล่าเรื่องธุรกิจ ทำอย่างไรให้ชวนติดตาม

ในโลกธุรกิจปัจจุบัน การเล่าเรื่อง (Story Telling) เป็นเครื่องมือสำคัญในวงการธุรกิจ ไม่ว่าจะด้านการตลาดทั้งออนไลน์/ออฟไลน์ การขาย การบริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ ที่ไม่ว่าเราจะเห็นโฆษณา แคมเปญการตลาด หรือแม้แต่คลิปต่างๆ ตาม Social Media ที่ประสบความสำเร็จ เราจะเห็นว่า เป็นการเล่าเรื่องแทบทั้งสิ้น
คำถามสำคัญที่อาจผุดขึ้นในใจ ของผู้ประกอบการในยุคนี้คือ “เราจะเล่าเรื่องเก่งขึ้นได้อย่างไร?” ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่า การเล่าเรื่องเป็น “ทักษะ” ไม่ใช่ “พรสวรรค์” ต่อให้เราพูดไม่เก่ง ก็สามารถฝึกฝนให้ชำนาญขึ้นได้ ขอแค่มีวินัยและวางแผนในการฝีกฝน พร้อมทั้งรู้เทคนิคที่ได้ผลในการเล่าเรื่อง เพื่อให้คนฟังเกิดความสนใจในสิ่งที่เราอยากนำเสนอ
ในบทความนี้มี 5 เทคนิคที่จะแนะนำให้ฝึกฝน เพื่อทำให้เราสามารถเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งขึ้น และเล่าได้น่าสนใจ ดังนี้
1. เล่าช้าๆ
ฝึกเล่าเรื่องด้วยจังหวะที่พอดี ไม่เร็วเกินไป (รวมถึง ช้าเนิบ ก็อาจจะดูน่าเบื่อ) นักพูดบางคนมักจะ
พูดเร็ว เพราะกลัวพูดไม่ทัน ต้องระวัง โดยการวางลำดับการพูด ซักซ้อมก่อนให้ดี และหลายครั้ง การเล่าเรื่องที่เร็วเกินไป ถ้าคนฟัง ฟังไม่ทัน เราก็ต้องเสียเวลาเล่าใหม่อยู่ดี
2. เล่ารายละเอียดให้ชัดเจน
การเล่าให้คนฟังเห็นภาพชัดเจน จะทำให้คนฟังรู้สึกจดจำ และสร้างความประทับใจได้ง่ายขึ้น โดยควรมีคำพูด
อธิบายถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่
รูป เช่น ท้วม ผิวขาว ผิวคล้ำ
รสเช่น เปรี้ยวจี๊ด เผ็ดซ่า หวานเจี๊ยบ
กลิ่น เช่น หอม เหม็น คาว
เสียง เช่น ดัง เบา แหลม ทุ้ม
สัมผัสเช่น แข็ง นิ่ม เรียบ ลื่น
ลองนึกถึง ถ้าเราเขียนคำบรรยายโฆษณาอาหารของธุรกิจเรา ถ้าเราเขียนแค่ “ต้มยำกุ้งตัวโตรสแซ่บ” ก็ยังไม่น่าสนใจและมีความแตกต่างชัดเจนเมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ แต่ถ้าเราเขียนคำอธิบายแบบนี้ คนอ่านจะรู้สึกน้ำลายสอและอยากกดสั่งซื้อมากกว่าหรือไม่!? “ต้มยำกุ้งชามนี้ รสชาติเข้มข้นครบรส หวานมันจากมันกุ้ง เปรี้ยวสะใจจากน้ำมะนาวสดจากสวนที่มีกลิ่นหอมเตะจมูก กลมกล่อมด้วยน้ำปลาหมักสูตรพิเศษเฉพาะครัวเรา....”
3. ไม่ต้องเล่าดราม่า
จริงอยู่ว่า ดราม่า เป็นประเด็นที่ทำให้เราอาจโด่งดัง เป็นกระแสให้คนสนใจ แต่ส่วนมากกระแสมา ก็มาแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่อยู่ยืนนาน ที่สำคัญถ้าเล่าไม่เนียน เกินจริง (ซึ่งส่วนมากดราม่า มักจะเป็นเรื่องเกินจริง) มักจะทำให้คนจับได้ว่า ไม่จริงใจ ทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ ส่งผลร้ายในภายหลัง
ถ้าสังเกตคนที่เล่าเรื่องเก่ง ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ อย่างที่เราเห็นตามสื่อต่างๆ แค่เราเล่าเรื่อง “จริง” ที่เป็นของเราในสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเอง ด้วยความเชื่อมั่น จริงใจ และมีน้ำเสียงที่น่าฟัง จังหวะที่พอดี (ตามเทคนิคข้อต่อไป) แค่นี้คนที่ได้ยินเรื่องราวของเรา เขาก็พร้อมซื้อเรื่องเล่าของเราแล้ว
4. เว้นจังหวะการเล่าเรื่อง
ต่อให้เรื่องที่เราอยากจะเล่าให้ผู้ฟัง มีความยาวต่อเนื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องเล่ายาวไปจนจบ มีช่วงหยุดพัก เพราะสมาธิของคนเราสั้นลง ถ้าฟังยาวๆ อาจใจหลุดลอย ฟังไม่จบ
ถ้าคุณเคยดูซีรีส์หรือละคร พอเนื้อเรื่องถึงจุดไคลแมกซ์ เช่น พระเอกกำลังจะโดนยิง นางเอกกำลังจะตัดสินใจเลือกบางอย่างมักจะตัดเข้าโฆษณา ทราบหรือไม่ว่า นี่เป็นเทคนิคที่ทำให้เกิดการรอ และเวลาที่เราต้องรอ เรามักรู้สึกกระวนกระวายอยากรู้อยากดูต่อ ถ้าไม่มีการหยุดโฆษณา คนดูก็ไม่ได้ลุ้น ดังนั้น การหยุดพัก อาศัยความเงียบเป็นการสร้างความเร้าใจและเข้าใจ ก่อนจะปล่อยจุดไคลแมกซ์ ทำให้เรื่องเล่าน่าติดตามมากขึ้น
5. เล่าเรื่องหักมุมไว้ตอนจบ
ถ้าเราเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา จนคนฟังเดาได้ มักจะไม่สนุก! แต่ถ้ามีการหักมุมเล็กน้อย เพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับ
เรื่องเล่า จะทำให้คนฟังสนใจมากขึ้น เพราะเขาไม่สามารถคาดเดาตอนจบได้ ทำให้รู้สึกลุ้น ตื่นเต้นอยากติดตาม ถ้าอยากฝึกเล่าเรื่องแบบหักมุม ให้ลองดูภาพยนตร์และอ่านนวนิยายเยอะๆ โดยถอดบทเรียนจากการสังเกตโครงร่างการเขียนตั้งแต่สไตล์การเล่าเรื่อง มีแก่นเรื่องหรือไม่ มีจุดหักมุมตรงไหนบ้าง? เราอ่านหรือดูแล้วรู้สึกชื่นชอบมั้ย?
พลังของเรื่องเล่า สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราได้เสมอ ขอแค่เราตั้งใจฝีกฝน ขัดเกลาพลังแห่งเรื่องเล่าผ่านเทคนิคในบทความนี้ แล้วเราจะเป็นนักเล่าเรื่องมืออาชีพ สามารถเล่าเรื่องได้ทุกที่ทุกเวลา
เครดิต: เรียบเรียงส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เล่าเรื่องแบบนี้ถึงจะมีเงินล้าน” โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา,สำนักพิมพ์ ต้นคิด
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา