27 มี.ค. เวลา 05:00 • สุขภาพ

นั่งนาน-ทำงานหนัก เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูก ไม่ต้องรอสูงวัยก็เสี่ยงก็เป็นได้!

โรคหมอนรองกระดูก ปัญหาของวัยทำงานอย่างคาดไม่ถึง แพทย์แนะ วิธีดูแลหมอรองกระดูกลดความเสี่ยงพิการทรงตัวยาก!
หมอนรองกระดูก คือ เนื้อเยื่อชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนตัวผ่อนแรงที่รองรับระหว่างกระดูกสันหลังสองชิ้น ในทุกๆ ครั้งที่มีการเคลื่อนไหว หมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่รับน้ำหนักและรับแรงกระแทกระหว่างกระดูก ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้ ซึ่งสาเหตุอันที่จริงเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น นั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมนานๆ เล่นกีฬา ยกของหนัก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อการเดินหรือการทรงตัวได้
ปวดหลัง
สาเหตุโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • กลุ่มวัยรุ่น ปกติแล้วหมอนรองกระดูกในวัยนี้จะยังแข็งแรงอยู่ ยกเว้นในกรณีที่ไปยกของน้ำหนักมากหรือเกิดอุบัติเหตุ จึงมีโอกาสที่หมอนรองกระดูกจะแตกและปลิ้นออกมาได้
  • กลุ่มคนที่อายุเยอะ ปกติหมอนรองกระดูกของคนเราจะเริ่มเสื่อมตอนอายุ 30 ปีขึ้นไป และเสื่อมลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่เสื่อมแล้วมีการไปกดทับเส้นประสาทจะทำให้เกิดอาการปวด ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา
ปัจจัยกระตุ้นโรคหมอนรองกระดูก
  • การนั่งทำงานนานๆ ด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศที่มักจะนั่งทำงานท่าเดิมนานๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
  • สูบบุหรี่ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้เร็วขึ้น
หากคนไข้ที่มาด้วยอาการปวด อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ มีอาการชา และมีการควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ กรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของคนไข้
การฟื้นตัวของคนไข้นั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของอาการ เมื่อมีอาการที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง คนไข้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อดูอาการทันที การปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะทำให้เส้นประสาทตายและฟื้นตัวได้ช้า หรืออาจจะไม่ดีขึ้นอีกเลย ซึ่งถ้าคนไข้มีอาการอ่อนแรงมานานเป็นปีแล้วการผ่าตัดอาจจะไม่สามารถช่วยให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้ แต่หากเพิ่งอ่อนแรงมา 2-3 วัน และมาพบแพทย์เลยทันทีคนไข้กลุ่มนี้จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
วิธีดูแลหมอนรองกระดูกแข็งแรง
  • การว่ายน้ำ คือ กีฬาที่เหมาะเหมาะสมมากที่สุด ไม่เพียงสามารถเพิ่มกล้ามเนื้อที่บริเวณหลังได้ แต่ยังช่วยลดแรงกระแทกจากการออกกำลังกาย เพราะเวลาขยับร่างกายจะมีน้ำมาช่วยพยุงตลอด ทำให้ไม่ได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงมากจากการออกกำลังกาย
สำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นให้เลือกการเล่นเวทเฉพาะส่วน โดยให้เทรนเนอร์ช่วยแนะนำวิธีการเล่นได้อย่างถูกต้อง หรืออาจจะเป็นการเล่นโยคะ พิลาทิส ที่นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นแล้วยังทำให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงมากขึ้นด้วย
สำหรับพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน แนะนำให้หาเวลาว่างยืดเส้นยืดสายหลายๆ ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการคลายกล้ามเนื้อก็สามารถช่วยป้องกันได้อีกทางเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา