2 เม.ย. เวลา 08:45 • ปรัชญา

Tantell 2 🍀อย่ารออย่างนั้น แล้วค่อย… (ว่าด้วยเรื่อง “ความประมาท”)

นับว่าเป็นโรคเพอร์เฟคชันนิสต์อีกแบบก็ได้
ความจริงเรื่องที่สองที่เราจะเล่าไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เพราะเรื่องที่เราอยากเล่านั้นเราพิมพ์ไว้จะจบแล้วแต่ไม่ได้เซฟ พองานหายเลยรู้สึกว่า เราต้องมาพูดเรื่องนี้กันก่อนแล้วล่ะ
เราเป็นคนที่ ถ้า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”
ก็คือ ถ้าไม่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือไม่ได้รับความเสียหายทางใดก็ทางหนึ่ง เราก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันจำเป็นต้องเปลี่ยนหรือจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเลย
แต่ถ้าเราได้รับเอฟเฟคจากการกระทำของเราแล้ว เราจะตื่นรู้ในทันที และตระหนักได้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ผลลัพธ์ในอนาคตดีขึ้น
แต่…
ถึงแม้เราะจะเป็นพวก “เห็นโลงศพแล้วหลั่งน้ำตา” ก็ตาม เราจะหลั่งน้ำตาได้แค่แป๊บเดียวเท่านั้น สักพักก็จะกลับไปทำพฤติกรรมเดิมใหม่
ก็คือ ถ้าเราทำอะไรแล้วทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือได้ผลที่ไม่ดี เราจะรู้ว่าต้องไม่ทำแบบนั้นอีก เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเองแบบนี้อีก แต่พอเวลาผ่านไป พอเหตุร้ายที่เคยเกิดขึ้นมันเริ่มเลือนหายไปจากสมอง เพราะมันไม่ได้เกิดซ้ำๆ จนทำให้เราจำได้
พอเราจำไม่ได้ปุ๊บ
ทีนี้เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าที่เราทำอยู่ ทำไปเพื่ออะไรเนี่ย? ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นมาสักหน่อย ทำทำไมให้เหนื่อยเปล่าๆ
หรือไม่ก็
ที่ทำอยู่มันเป็นเรื่องฝืนใจ บีบบังคับใจของตัวเองมากเกินไป ตึงเกินไป พอไม่เกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นก็เลยคิดว่า งั้นหย่อนสักหน่อยแล้วกัน
แล้วก็…
ตู้ม!!!
เกิดเหตุทำให้ตัวเองเดือดร้อนอีกครั้ง
ดังนั้น ถึงแม้เราจะเป็นคนที่ “เห็นโลงศพแล้วหลั่งน้ำตา” กลับตัวกลับใจแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้เพราะเคยเจออะไรที่ไม่ดี แต่ทำดีได้แค่ไม่นานเราก็กลับไปทำแบบเดิมอีก เราเลยจำเป็นต้องบันทึกเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เราเดือดร้อนเอาไว้ เพื่อบอกตัวเองในอนาคต
ว่าทำไมเราถึงทำแบบนี้
ทำไมต้องทำ
ถ้าไม่ทำจะเกิดผลอะไร
เขียนไว้ทุกอย่าง เพื่อให้ตัวเองในอนาคตตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ เพราะไม่มีอะไรจะรับประกันได้ว่าตัวเราในอนาคตจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้ครบ
เพราะสมองของคนเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ถึงแม้ความทรงจำของเราจะยังอยู่ แต่สมองดันเก็บไว้ดีจนเราหาเจอไม่ได้ง่ายๆ เพราะข้อมูลในสมองมีเยอะมาก ทำให้การจะดึงข้อมูลอะไรบางอย่างออกมาเป็นเรื่องยากไปด้วย
บางเรื่องเราลืมไปแล้ว แต่ที่จริงเราไม่ได้ลืม เราแค่นึกไม่ออกเพราะค้นหาข้อมูลในสมองไม่เจอ ถ้ามีจังหวะเหมาะอาจจะทำให้นึกออก แต่ก็ต้องใช้เวลา
เพราะเหตุนั้นเราจึงขอบันทึกไว้ในกระดาษ ดีกว่าบันทึกไว้ในสมอง
เวลาเราบันทึก เราจะบันทึกหัวข้อตามนี้
  • สิ่งที่ทำ
  • ทำไมจึงทำเช่นนั้น
  • สิ่งที่เกิดขึ้น
  • สิ่งที่ควรทำ
เช่น
  • สิ่งที่ทำ : พิมพ์งานเอาไว้ในแพลทฟอร์ม แต่ไม่ได้บันทึกเพราะยังพิมพ์ไม่เสร็จ
  • ทำไมจึงทำเช่นนั้น : เพราะถ้าพิมพ์ได้นิดเดียวแล้วเซฟมันรู้สึกยุ่งยากหลายขั้นตอน และรู้สึกไม่ดีถ้ามีงานน้อยๆ แล้วบันทึก เพราะเหมือนกับยังไม่มีอะไร ก็คืออยากให้มันเพอร์เฟคก่อนค่อยบันทึก ประกอบกับเคยพิมพ์ทิ้งไว้แล้วเข้าหน้าจออื่นๆ ไปด้วย แต่พอกลับมาจอเดิม ข้อมูลก็ยังอยู่ และถึงจะเคยละมือจากอุปกรณ์ไปทำอย่างอื่นเป็นเวลานานๆ พอกลับมาเปิดอุปกรณ์ ข้อมูลก็ยังอยู่ จึงคิดว่าครั้งนี้จะเหมือนเดิม แต่ก็เกิดเหตุจนได้
  • สิ่งที่เกิดขึ้น : ข้อมูล ไม่มี…ไม่มีเลยเจ้าค่ะ ข้อมูลหาย!!! หายหมดเลย!! ไม่เหลือร่องรอย!
  • สิ่งที่ควรทำ : อย่ารอเพอร์เฟค อย่ารอจนทำเสร็จแล้วค่อยบันทึก อย่าคิดว่าเมื่อก่อนรอเสร็จแล้วค่อยบันทึกก็ไม่เห็นมีไร ไม่เห็นว่าจะเกิดเหตุอะไรตรงไหน เพราะเมื่อไหร่ที่เราประมาท เมื่อนั้นแหละ หายนะจะบังเกิด จงจำไว้ว่า “ถึงตอนนี้ไม่เกิดเหตุอะไร แต่ต่อไปก็ไม่แน่“ เพราะ ”โลกนี้ไม่มีสิ่งแน่นอน“ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ นั่นก็คือ ”ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน“ อย่าคิดว่ายุ่งยาก อย่าคิดว่างานไม่เพอร์เฟค จงบันทึกซะ เพราะถ้างานหาย ถึงตอนนั้นจะบอกว่ายุ่งยากกว่าเดิมก็ไม่เกินจริง!!
ที่ต้องบันทึกละเอียดแบบนี้ก็เป็นเพราะว่า เหตุการณ์มันพึ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ยังแจ่มชัดอยู่ในสมอง เรายังจำได้อย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วต้องทำยังไงมันถึงจะไม่เกิดขึ้นอีก
เวลาบันทึกต้องเขียนให้ละเอียด เขียนให้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรืออารมณ์ความรู้สึกตอนนั้น อย่าเขียนกระชับ อย่าเขียนสั้นๆ เพราะมันจะไม่เกิดประประโยชน์ใดๆ เพราะมันไม่มีอารมณ์ร่วม พอไม่มีอารมณ์ร่วม เวลาตัวเองย้อนกลับมาอ่านก็จะไม่ตระหนัก ไม่เห็นความสำคัญ จะคิดว่า ห๊ะ? อะไรนะ เรื่องแค่นี้? เรื่องแค่นี้ก็คู่ควรให้เขียนเตือนตัวเองแล้วเหรอ ไม่เห็นจะเป็นไรเลย แล้วก็วนลูปกลับมาเกิดเหตุการณ์เดิมๆ
ดังนั้นหาสมุดสักเล่ม
แล้วบันทึกจุดเปลี่ยนลงไป
บันทึกแบบเล่นใหญ่รัชดาลัยไปเลย เอาให้ตัวเองในอนาคตอึ้ง เอาให้ตัวเองในอนาคตต้องน้ำตานองเห็นดีเห็นงามไปด้วย
เรื่องบางเรื่อง ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็รีบย้ำความรู้สึกที่เกิดตอนนั้นเถอะ จะช่วยให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น
อย่าลืมนะว่าคุณอาจจะเป็นพวก “เห็นโลงศพ แล้วหลั่งน้ำตา …แต่หลั่งน้ำตาแค่แป๊บเดียว“ แบบเราก็ได้
บางคนอาจคิดว่าเหตุการณ์ที่เราเอามายกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ทำให้โน้มน้าวใจได้ไม่มากเท่าที่ควร แต่คุณอย่าลืม ว่าชีวิตของคนเราจะเอาเหตุการณ์หนักๆ อะไรมาบ่อย?
บางเหตุการณ์ถึงไม่หนัก…ถึงจะไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้เรา แต่มันก็ถือว่าเกิดความเสียหายขึ้นแล้วนะ และบางความเสียหายถ้ามันเรื้อรัง ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ มันก็กลายเป็นความเสียหายหนักได้เช่นกัน…จริงไหม?
แล้วคำว่า “หนัก” จะเอาอะไรมาตัดสิน
จงอย่าละเลยปัญหาเล็กๆ อย่าได้มองข้ามมันเป็นอันขาด เพราะเมล็ดพันธ์ของปัญหามันเติบโตขึ้นได้เสมอ
และอยากจะเตือนว่า บางการกระทำของเราที่ทำไปแล้วมันเกิดปัญหา แต่สุดท้ายโซคดีปัญหานั้นหายไปหรือถูกช่วยไว้กลางทาง ถ้าเจอแบบนั้นล่ะก็ รีบบันทึกเลยนะ เพราะที่จริงแล้วสิ่งที่เราทำมันทำให้เกิดปัญหา แต่แค่วันนั้นโชคดีเฉยๆ ลองคิดสิ ว่าถ้าทำอีก วันหน้ายังจะโชคดีแบบนี้ได้อีกไหม และถึงจะโชคดีจริง แต่มันจะโชคดีได้ทุกครั้งไหม?
อย่าเข้าข้างตัวเอง
อย่าประมาท!
โฆษณา